กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์
ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ ร่วมกับภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัท ซิมเมอร์ เมดิคัล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัวศูนย์ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการทางด้านออร์โธปิดิกส์แห่งใหม่ “สถาบันเชียงใหม่-ซิมเมอร์” (Chiang Mai-Zimmer Institute) เอื้อโอกาสในการพัฒนาแพทย์ในสาขาวิชาออร์โธปิดิกส์ฯ ให้มีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย
ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ ร่วมกับภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัทซิมเมอร์ เมดิคัล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัวศูนย์ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการทางด้านออร์โธปิดิกส์แห่งใหม่ สถาบันเชียงใหม่-ซิมเมอร์ (Chiang Mai-Zimmer Institute) อีกทั้งยังจัดหลักสูตรปฐมฤกษ์เพื่อยกระดับมาตรฐานการผ่าตัดโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทางออร์โธปิดิกส์
ออร์โธปิดิกส์เป็นสาขาวิชาทางการแพทย์ที่มีวิวัฒนาการด้านการผ่าตัดที่รวดเร็วอย่างยิ่ง แนวโน้มสำคัญของการพัฒนาประการแรกคือ ความพยายามที่จะทำให้แผลผ่าตัดเล็กลง และเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อยลง จนสามารถส่งผลให้การฟื้นฟูสภาพรวดเร็วขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมาก ประการที่สองคือ ความพยายามที่จะผ่าตัดโครงสร้างขนาดเล็กมากๆ ที่มองด้วยตาเปล่าไม่ชัด เพื่อการตัดต่อ โยกย้ายหรือปลูกถ่ายอวัยวะ และประการที่สามคือ ความพยายามที่จะสร้างระบบช่วยประกันความแม่นยำในการผ่าตัดโรคกระดูก เพื่อลดความผิดพลาดในการผ่าตัดให้เหลือน้อยที่สุด
ปัจจุบันแพทย์ทางออร์โธปิดิกส์ได้มีการนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ มาใช้ช่วยผ่าตัดในแผลขนาดเล็ก อาทิเช่น การใช้กล้อง (Arthroscopic Surgery) และระบบคอมพิวเตอร์นำวิถีมากำกับการผ่าตัด (Computer Assisted Surgery) เพื่อช่วยให้การวางแผนและการตัดต่อกระดูกให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่าเทียม (Total Hip and Total Knee Replacement) โดยใช้วิธีที่ทำให้เนื้อเยื่อได้รับบาดเจ็บน้อย (Minimally Invasive Surgery) ซึ่งช่วยลดความบอบช้ำจากการผ่าตัดให้กับผู้ป่วย เนื่องจากหลีกเลี่ยงการตัดกล้ามเนื้อที่ไม่จำเป็น ลดการเสียเลือดจากการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวไว ลดระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและทำให้ผู้ป่วยกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการประกันคุณภาพในการรักษาพยาบาล และเป็นการให้ความสำคัญต่อสิทธิผู้ป่วย แพทย์ที่จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ ควรได้รับการฝึกอบรมทักษะดังกล่าวให้เกิดความชำนาญ ก่อนทำการผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ป่วย การฝึกอบรมทักษะดังกล่าวนั้นผู้รับการฝึกจะได้ทดลองผ่าตัดในหุ่นหรือในอาจารย์ใหญ่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ยังอาจจัดให้มีการสาธิตการผ่าตัดในตัวผู้ป่วยจริงโดยผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนการอภิปรายให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้แก่ผู้รับการฝึกทักษะในเรื่องการเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสม เทคนิคการผ่าตัด รวมถึงการติดตามผลการผ่าตัด ซึ่งคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะพัฒนามาตรฐานของระบบฝึกอบรมแพทย์ทุกสาขาตามแนวปฏิบัติดังกล่าว
“ในฐานะที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีวิสัยทัศน์ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับแนวหน้าที่มีมาตรฐานระดับสากล จึงเห็นเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ จะจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการทางด้านออร์โธปิดิกส์โดยคาดว่าจะช่วยเอื้อโอกาสในการพัฒนาแพทย์ในสาขาวิชาออร์โธปิดิกส์ฯ ให้มีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย”ศาตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์สุพจน์ วุฒิการณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
สถาบันเชียงใหม่-ซิมเมอร์ (Chiang Mai-Zimmer Institute) ตั้งอยู่ที่ภาควิชากายวิภาค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจาก ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัทซิมเมอร์ เมดิคัล (ประเทศไทย) จำกัด โดยจะจัดหลักสูตรดังกล่าวปีละ 4 ครั้ง โดยเน้นเรื่องการฝึกทักษะผ่าตัดพิเศษทางออร์โธปิดิกส์ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการรักษาผู้ป่วย เช่นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมวิธีเนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย (Minimally Invasive Surgery for THA and TKA) การใช้กล้องและคอมพิวเตอร์ช่วยนำร่องในการผ่าตัดกระดูก และฝึกทักษะการผ่าตัดรักษาความผิดปกติทางกระดูกสันหลัง ทั้งนี้ บริษัท ซิมเมอร์ เมดิคัล (ประเทศไทย) จำกัด ได้บริจาคเงินจำนวน 1,000, 000 บาท เพื่อมอบให้กับกองทุนหมอเจ้าฟ้า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของสถาบัน และส่งเสริมการศึกษาแก่คณาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“การฝึกอบรมหลักสูตรปฐมฤกษ์ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากวิทยากรรับเชิญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ยงศักดิ์ หวังรุ่งทรัพย์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ รพ. จุฬาลงกรณ์ นายแพทย์พรภวิษญ์ ศรีภิรมย์ แผนกออร์โธปิดิกส์ รพ. ราชวิถีรวมถึงคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหวังว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกท่านจะได้รับความรู้และประสบการณ์จากการเรียนการสอนในครั้งนี้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ก่อกู้ เชียงทอง หัวหน้าภาควิชาออร์โทปิดิกส์ กล่าว
หมายเหตุ เรื่องคำสะกดที่แตกต่าง
1. ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. แพทย์ออร์โธปิดิกส์
สอบถามรายละเอียดหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม กรุณาติดต่อได้ที่:
ฤทัยวรรณ ตันวงษ์วานที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์
บริษัท โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร 0-2260-5820 ต่อ 114, 08-6633-8171
โทรสาร 0-2260-5847-8 อีเมล์ tqprthai@tqpr.com
หรือ คุณสิริรัตน์ จันทวงษ์วาณิชย์
บริษัท ซิมเมอร์ เมดิคัล (ประเทศไทย) จำกัด
โทร 02-2266529/ 081-9040021 อีเมล์ sirirat.jantavongvanich@zimmer.com