iTAP ใช้เทคโนโลยีอุดรอยรั่ว “กระเบื้องมุงหลังคาล้านนา” แนะเทคนิคเพิ่มคุณภาพ ลดการสูญเสีย โชว์เอกลักษณ์ท้องถิ่น

ข่าวทั่วไป Tuesday November 25, 2008 16:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ย.--iTAP โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ( iTAP) iTAP สวทช. เครือข่ายภาคเหนือ เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาฝีมือคนไทย โอม เซรามิค รูฟ คิดค้นและพัฒนาเทคนิคกระบวนการผลิต ลดปริมาณของเสียและลดต้นทุนการผลิต เพิ่มปริมาณและสร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถการทำงานอย่างเป็นระบบ สร้างเสริมทักษะและองค์ความรู้ให้กับบุคลากร มั่นใจเจาะทุกกลุ่มเป้าหมายเพื่อขยายฐานลูกค้า พร้อมเร่งกำลังการผลิตป้อนตลาดสินค้าตกแต่งภายใน ปัจจุบัน อุตสาหกรรมกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาที่มีชื่อเสียงของไทยโดยเฉพาะของชาวล้านนา มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และมีวิวัฒนาการในการผลิตสินค้าออกมาอย่างต่อเนื่องในเชิงคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความมั่นใจในผลิตภัณฑ์และทั้งในด้านการคัดสรรวัสดุหลักที่ใช้ในการผลิต รูปแบบของกระเบื้องที่มีความหลากหลายมากขึ้นและเหมาะสมกับการใช้งานในด้านต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ แล้วยังเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ชื่นชอบสิ่งปลูกสร้างที่มีความเป็นธรรมชาติได้อีกด้วย ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนั้นได้มาจาก กรรมการบริษัท โอมเซรามิค รูฟ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางด้านอุตสาหกรรมกระเบื้องมุงหลังคาดิน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีนั่นเอง นายอภิชาติ สุจริตรักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โอมเซรามิค รูฟ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2536 ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทย และได้ มีแนวคิดที่จะทำผลิตภัณฑ์จากกระเบื้องดินเผาที่ได้คุณภาพและมีความเป็นเอกลักษณ์ของชาวล้านนา จึงได้คิดและตัดสินใจทำธุรกิจด้านนี้ “ แรกเริ่ม มาจากที่เพื่อนชาวญี่ปุ่นได้เข้ามาเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่ในประเทศไทย และได้เห็นการทำผลิตภัณฑ์กระเบื้องดินเผาของเรา ซึ่งยังขาดด้านคุณภาพและมาตรฐานของชิ้นงาน ประกอบกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นทำงานบริษัทเกี่ยวกับการทำกระเบื้องอยู่ก่อนแล้ว จึงได้ชักชวนให้ทำธุรกิจร่วมกัน หลังจากนั้นได้รับการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีในการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาจากญี่ปุ่น และนำเครื่องจักรมาผลิตซึ่งก็ได้นำความรู้ที่ได้มาผลิตกระเบื้องมุงหลังคาและสามารถสร้างผลงานที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับผลิตภัณฑ์ของ โอม เซรามิค รูฟ ได้เลยทีเดียว ” ในด้านการตลาดช่วงแรกขณะนั้นถือว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเพราะสามารถผลิตกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทฯ ที่มีความโดดเด่นและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งยังไม่มีผู้ประกอบการรายอื่นสามารถลอกเลียนแบบได้ นั่นคือ กระเบื้องมุงหลังคาชนิดลอน ประเภท Earthenware สีแดงอิฐ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มี 3 แบบคือ แบบเรียบสไตล์ล้านาโบราณ แบบลอนสไตล์ญี่ปุ่น และแบบสเปน เพราะผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นลักษณะกึ่งทำมือ จึงมีปัญหาเช่น การแห้งตัวช้าและมีปริมาณเกิดความเสียหายแตกหักของกระเบื้องในกระบวนการผลิตขั้นสุดท้าย อีกทั้งขาดการควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตทำให้เกิดความเสียหายต่อผลิตภัณฑ์อย่างมาก ส่งผลกระทบต่อการจัดส่งผลิตภัณฑ์ได้ทันเวลา นายอภิชาติ กล่าวต่ออีกว่า เมื่อบริษัทฯ ประสบปัญหาในด้านขั้นตอนการผลิต โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ รวมทั้งตัวผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้มาตรฐานก็ไม่คงที่ จึงมีแนวคิดที่จะต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและมีความรวดเร็วขึ้นรวมถึงต้องการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้น บริษัทฯ จึงได้ขอเข้ารับการสนับสนุนในโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ( iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. )เครือข่ายภาคเหนือ โดยทางโครงการได้จัดส่ง ดร.ศักดิพล เทียนเสม เข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแก่บริษัทฯ ซึ่งตรงกับที่บริษัทฯ ต้องการคือ “ การพัฒนากระบวนการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาเพื่อลดปริมาณของเสียหาย ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพและวางมาตรฐานการทำงานในส่วนการสร้างกระบวนการผลิตได้อย่างมีระบบ และสามารถช่วยลดปริมาณการเสียหายของผลิตภัณฑ์ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ด้าน ดร. ศักดิพล เทียนเสม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นทางด้านเทคนิคของกระบวนการผลิต ซึ่งขาดความรู้ทางด้านวิชาการ และขาดการอบรมเทคนิคในขั้นตอนของกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน และปัญหาทางด้านพฤติกรรมของคนงาน ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว ต้องอาศัยหลักจิตวิทยาอย่างสูงในการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัว ซึ่งจากการที่เราเข้าไปทราบถึงปัญหาและทำการแนะนำในการแก้ไข ถือได้ว่าเราแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ตรงจุดที่สุด ” ซึ่งผลประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้บริษัทฯ มีการพัฒนาและรู้ถึงเทคนิคในการเตรียมดิน สามารถกำหนดมาตรฐานและควบคุมการเตรียมดินให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมทำให้ได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของลูกค้ามากขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาปรับปรุงห้องผึ่งแห้งรวมถึงการกำหนดค่าความชื้นที่เหมาะสมของผลิตภัณฑ์ก่อนนำเข้าเตาเผา สามารถลดระยะเวลาในการผึ่งแห้งให้สั้นลงจากเดิม 2 เดือน เหลือเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น ช่วยทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้ถึง 10% ทำให้บริษัทฯ สามารถผลิตผลิตภัณฑ์รองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากบริษัทฯ สามารถลดความเสียหายในขั้นตอนการเผาจากเดิมที่เสียหายถึง 30 % ลดเหลือเพียงแค่ 5% เท่านั้น ขณะที่ยังสามารถเพิ่มทักษะในการพัฒนาด้านการผลิตและความสามารถให้กับบุคลากรของบริษัทฯ เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ อย่างมากแต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน อุตสาหกรรมกระเบื้องมุงหลังคาดินเผาได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จากปัจจัยสำคัญคือราคาแก๊สหุงต้มที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูง ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคบ้างแต่ก็เชื่อมั่นว่า บริษัทฯ จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า เพราะสามารถเชื่อมั่นได้ว่า “บริษัทฯ ผลิตและวางจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่ดีมีคุณภาพเท่านั้น ” นายอภิชาติ กล่าวถึงอนาคตของบริษัทฯ ว่า บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายตลาดเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรีสอร์ททั่วไป โดยจะขยายกลุ่มลูกค้าให้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจด้านสินค้าตกแต่งภายใน มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่สถาปนิก บ้าน รีสอร์ท และธุรกิจบ้านจัดสรร ที่ชื่นชอบความเป็นธรรมชาติและความมีเอกลักษณ์ของทางเหนือ โดยจะมีการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น สำหรับในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ มีผลประกอบการประมาณ 5-6 ล้านบาท เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจไม่สู้ดีนัก อีกทั้งมีส่วนแบ่งทางการตลาดค่อนข้างสูง นอกจากนี้ยังประสบปัญหาทางด้านกำลังการผลิตแต่คาดว่าภายในปีนี้จะมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้บริษัทฯ ยังจะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านรูปลักษณ์ สีสัน และความสะดวกในการติดตั้ง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเพื่อให้เกิดความแตกต่างจากคู่แข่งขันโดยเน้นความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้ นายอภิชาติ กล่าวในที่สุด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) โทร.0-2270-1350-4 ต่อ 114,115

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ