ปตท. ลงนามซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งภูฮ่อมป้อนโรงไฟฟ้าน้ำพอง เสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday July 20, 2005 11:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--ปตท.
นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งภูฮ่อม ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มผู้ขาย ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อเมราดา เฮส บริษัท อพิโก แอล แอล ซี บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าน้ำพอง ของ บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) โดย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เป็นผู้ลงนามกับ กลุ่มผู้ขาย ซึ่งประกอบด้วย นายมัลคอม แม็คคลีน ผู้จัดการใหญ่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท อเมราดา เฮส นายเควนทิน ริกบี ผู้จัดการใหญ่ บริษัท อพิโก แอล แอล ซี นายยงยศ หาญสุวณิช รองประธาน บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์โพรดักชั่น โคราชอิงค์ และ นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งก๊าซฯ ภูฮ่อม มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้า ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศในระยะยาว โดยปริมาณก๊าซฯ จากแหล่งภูฮ่อมนี้ จะเข้ามาเสริมปริมาณการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งน้ำพอง ที่กำลังทยอยลดลง และ จะเป็นเชื้อเพลิงหลักให้กับโรงไฟฟ้าน้ำพองของ กฟผ. ที่ จังหวัดขอนแก่นในอนาคต ซึ่งนอกจากจะช่วยทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังจะทำให้โรงไฟฟ้าน้ำพองสามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้าลดลง นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่จะพบปริมาณสำรองก๊าซฯ จากแหล่งภูฮ่อม และ บริเวณใกล้เคียงเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งจะทำให้ประเทศได้รับประโยชน์จากการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างคุ้มค่า และ สามารถประหยัดเงินตราจากการนำเข้าน้ำมันที่ปัจจุบันได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม รวมถึง การใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือ ก๊าซเอ็นจีวี ในภาคขนส่งด้วย
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยถึงสาระสำคัญในข้อตกลงซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ว่า ปริมาณสำรองก๊าซฯ ในเบื้องต้นมีประมาณ 550 พันล้านลูกบาศก์ฟุต สามารถผลิตคอนเดนเสทได้ประมาณ 500 บาร์เรลต่อวัน สำหรับการผลิตก๊าซฯ ผู้ขายก๊าซฯ อาจจะเริ่มส่งก๊าซฯ ภูฮ่อม ได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 ขึ้นอยู่กับกำหนดแล้วเสร็จของอุปกรณ์การผลิตและท่อส่งก๊าซฯ แต่จะไม่ช้ากว่าสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2549 ปริมาณซื้อขายก๊าซฯ เริ่มต้นประมาณ 80 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณก๊าซฯ ที่ ปตท. รับจากแหล่งน้ำพองแล้ว จะมีปริมาณก๊าซฯ รวมเพียงพอเพื่อเป็นเชื้อเพลิงป้อนให้โรงไฟฟ้าน้ำพองใช้ได้เต็มกำลังการผลิตที่อัตรา 135 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ ปริมาณก๊าซฯ ภูฮ่อม จะสามารถปรับเพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ จนถึงปริมาณสูงสุดที่ 108 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซฯ จากแหล่งน้ำพองที่ทยอยลดลง ทั้งนี้เพื่อให้มีปริมาณก๊าซฯ รวมเพียงพอต่อกำลังการผลิตสูงสุดของโรงไฟฟ้าน้ำพองตลอดเวลา สำหรับเงื่อนไขราคา มีโครงสร้างสูตรราคาเหมือนกับสัญญาฯ ทั่วไป และมีเงื่อนไขส่วนลดราคาก๊าซฯ ตามปริมาณซื้อก๊าซฯ สะสมด้วย ในอัตราส่วนลดร้อยละ 13 ถึงร้อยละ 20 ทั้งนี้ ราคาก๊าซฯ จะมีส่วนลดที่ร้อยละ 20 เมื่อมีปริมาณซื้อก๊าซฯ สะสมเกินกว่า 498 พันล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งราคาก๊าซฯ ภูฮ่อม อยู่ในระดับที่ทำให้โรงไฟฟ้าน้ำพองสามารถแข่งขันกับโรงไฟฟ้าอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ ในอนาคตหากผู้ขายก๊าซฯ สำรวจพบปริมาณสำรองก๊าซฯ เพิ่มมากขึ้น ปตท. จะได้รับส่วนลดราคาก๊าซฯ สำหรับปริมาณซื้อขายก๊าซฯ ส่วนเพิ่มอีกด้วย มูลค่าซื้อขายก๊าซฯ ตลอดอายุสัญญาคิดเป็นเงินประมาณ 31,100 ล้านบาท (สมมุติฐานราคาน้ำมันเตา 30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 40 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ)
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปตท. ในฐานะหน่วยงานที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ได้วางแผนในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อให้เพียงพอและทันกับความต้องการใช้ ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งนอกจาก ปตท. จะสามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศได้ตลอดเวลาแล้ว ปตท. ยังได้เร่งขยายขีดความสามารถระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งทางตะวันตกและทางตะวันออก ทำให้ประเทศสามารถจัดหาก๊าซฯ ได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศแล้ว ยังจะเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้พลังงานที่ผลิตได้ในประเทศ ในภาคการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม และ การขนส่ง เพื่อบรรเทาผลกระทบในภาวะวิกฤตราคาน้ำมัน และช่วยให้ประเทศสามารถประหยัดเงินตราจากการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศด้วย
โทรศัพท์ 0-2537-3217
ส่วนประชาสัมพันธ์ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ
โทรสาร 0-2537-3211
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ