กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
อาจรุนแรงจนเสียชีวิต แนะพ่อแม่สังเกตอาการลูกน้อยใกล้ชิด
กุมารแพทย์โรคติดเชื้อย้ำเตือนพ่อแม่ระวังโรคปอดบวมที่ระบาดหนักในช่วงหน้าหนาว โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบที่ยังไม่มีภูมิต้านทานที่สมบูรณ์ เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง สาเหตุหลักที่สำคัญของโรคปอดบวม โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด หวั่นอากาศเย็นและแห้งช่วยให้เชื้อฯ แพร่กระจายในอากาศได้ง่ายขึ้น
เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าหนาว มีหลายโรคที่แพร่กระจายได้ดี โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่ง “ปอดบวม” ก็เป็นอีกโรคที่ระบาดหนัก และเป็น 1 ใน 6 โรคที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศเตือนให้ประชาชนระวังในช่วงฤดูหนาวนี้ ซึ่งจากสถิติในปี 2551 พบว่าโรคปอดบวมเป็นสาเหตุของการตายของประชาชนถึง 280 ราย และมีผู้ป่วยโรคปอดบวมสูงถึง 43,109 ราย โดยโรคที่เกิดในฤดูหนาวจะเกิดกับเด็กเล็ก และผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเชื้อส่วนมากชอบอากาศเย็น และสามารถติดต่อกันได้ง่ายๆ ด้วยกันไอ และจาม ตลอดจนใช้ภาชนะร่วมกัน
ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ ประธานชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็ก แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าโรคปอดบวมเป็นโรคใกล้ตัวที่ทุกคนคุ้นหู โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว แต่หลายๆ คนอาจยังไม่ทราบว่าโรคปอดบวมอาจมีความความรุนแรงมากจนทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะหากเกิดกับเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะร่างกายยังไม่มีภูมิต้านทานที่มากพอ โดยสาเหตุของการเสียชีวิตอาจจะเกิดจากเชื้อไวรัส หรือเกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง (โรคไอพีดี) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ นิวโมคอคคัส หรือ สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี ที่สามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปอด ก่อให้เกิดปอดบวมรุนแรง หรือปอดอักเสบได้
เชื้อนิวโมคอคคัส สามารถพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอของคนทั่วไป ทั้งในเด็กเล็กและผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถแพร่กระจายสู่คนอื่นได้ง่ายคล้ายไข้หวัด จากการไอหรือจาม ทำให้ละอองเสมหะแพร่กระจายออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าหนาว ซึ่งอากาศเย็น และแห้งทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจายในอากาศได้ดีและเมื่อไรก็ตามที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายจะสามารถก่อให้เกิดโรคได้ โดยพบว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคปอดบวมคือเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่แข็งแรงเท่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็กสุขภาพดีก็ตาม และโอกาสเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นในเด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน (Day Care) เด็กที่อยู่ในชุมชนแออัด เด็กที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคปอด โรคเบาหวาน และโรคซิกเคิลเซลล์ และในกลุ่ม
เด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ที่ตัดม้ามออก หรือม้ามทำงานไม่ปกติ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น โดยอัตราการเป็นพาหะในเด็ก (มีเชื้อในโพรงจมูก แต่ไม่แสดงอาการใดๆ) เฉลี่ยแล้วสูงถึงร้อยละ 26 หรือคิดเป็นอัตรา 1 ใน 4 ของประชากร
“เนื่องจากโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นโรคที่มีระยะเวลาการดำเนินการของโรคสั้นมาก เพียง 2-3 วัน รวมทั้งอาการเริ่มแรกของโรคคล้ายการเป็นไข้หวัด ไอ หายใจเร็ว หอบ เขียว พ่อแม่ส่วนใหญ่จึงมักคิดว่าเป็นไข้ธรรมดา ซึ่งถ้าไม่พาไปพบแพทย์และรับการรักษาได้ทันเวลาอาจจะทำให้เด็กเสียชีวิตได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรเฝ้าสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการหายใจ ซึ่งหากพบว่าลูกน้อยหายใจลำบาก จนซี่โครงหรือคอบุ๋ม หายใจแล้วมีเสียงดัง หายใจหอบ ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที นอกจากการเฝ้าสังเกตของลูกน้อยแล้ว ควรป้องกันลูกน้อยให้พ้นจากโรคปอดบวมด้วยวิธีง่ายๆ โดยทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ ล้างมือบ่อยๆ ปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้งที่ไอจาม และที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทารก และเด็กเล็กด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้มีภูมิต้านทานจากแม่ส่งผ่านไปลูกทางน้ำนม และในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี ซึ่งเป็นอีกวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง พ่อแม่และผู้ปกครองอาจต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการฉีดให้ลูกหลาน” ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ กล่าวทิ้งท้าย
สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
บุษบา / พิธิมา
โทร. 0-2718-3800 ต่อ 135 / 138