กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ในขณะเดียวกันได้ประกาศอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนความสม่ำเสมอของรายได้จากค่าเช่าโรงงานสำเร็จรูป สถานะ
ผู้นำตลาด ประวัติความสำเร็จในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า ตลอดจนผลการดำเนินงานที่ดี อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกจำกัดบางส่วนจากความไม่แน่นอนในทางการเมืองในปัจจุบัน รวมทั้งการเข้าสู่ตลาดของคู่แข่งโดยเฉพาะผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม และความเสี่ยงจากโครงการก่อสร้างศูนย์การขนส่งและคลังสินค้าของบริษัทที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานของการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าเอาไว้ได้ คาดว่ารายได้จากค่าเช่าจะค่อยๆ เติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งจะช่วยรองรับความต้องการเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจศูนย์โลจิสติกให้เช่าของบริษัท ทั้งนี้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาการก่อสร้างศูนย์ดังกล่าว กระนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ที่ประมาณ 60%-65%
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น เป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในประเทศไทย
โดย ณ สิ้นปี 2548 บริษัทมีโรงงานให้เช่า 146 โรงกระจายอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 11 แห่ง บริษัทมีข้อได้เปรียบในการแข่งขันจากการมีประสบการณ์ 15 ปีในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า รวมทั้งการมีความสามารถในการก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปในราคาที่ได้เปรียบคู่แข่ง ความได้เปรียบในด้านต้นทุนจากการประหยัดจากขนาด และกลยุทธ์ในการบริหารจัดการการก่อสร้างโรงงานด้วยตนเอง
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า จากการศึกษาของ CB Richard Ellis (CBRE) เมื่อประเมินจากจำนวนโรงงานที่ปล่อยเช่า บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในสัดส่วน 47% ของตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2548 เมื่อรวมกับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) ซึ่งบริษัทเป็นผู้จัดตั้งและบริหารงานแล้ว ส่วนแบ่งทางการตลาดรวมของบริษัทจะอยู่ที่ 60% ซึ่งสูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่นมาก บริษัทได้ขยายธุรกิจสู่ศูนย์การขนส่งและคลังสินค้า (Logistics Park) โดยการก่อสร้างพื้นที่ให้เช่าสำหรับคลังสินค้า ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวรวมไปถึงการก่อสร้างศูนย์โลจิสติกขนาดใหญ่เพื่อรองรับการเปิดดำเนินการของสนามบินสุวรรณภูมิ
ในปี 2548 บริษัทมีผลการดำเนินงานน่าพอใจ โดยมีรายได้จากค่าเช่า 591 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากปี 2547 และบริษัทมีรายได้ 1,730 ล้านบาทจากการขายโรงงานให้แก่กองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทคอนเมื่อไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 รายได้สุทธิจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 291 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 954 ล้านบาทในปี 2548 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 53% ในปี 2547 เป็น 65% ในปี 2548 เนื่องจากบริษัทมีความต้องการเงินลงทุนทั้งในส่วนของการก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าและโครงการก่อสร้างศูนย์โลจิสติก อย่างไรก็ตาม บริษัทประสบความสำเร็จในการขายโรงงานเพิ่มอีก 44 โรงให้แก่กองทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทคอนในเดือนเมษายน 2549 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,982 ล้านบาท ซึ่งบริษัทจะนำเงินส่วนใหญ่ที่ได้จากการขายสินทรัพย์ดังกล่าวไปชำระหนี้เงินกู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลง ทริสเรทติ้งกล่าว