กรุงเทพฯ--26 พ.ย.--ก.พลังงาน
ก.พลังงาน ปลื้ม ผลงานเยาวชนเด็กไทย “ต้นกล้าพลังงาน” เพื่อลดภาวะโลกร้อน พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ทำกิจกรรมร่วมกัน สู่การบูรณาการความรู้ด้านพลังงานนำไปปฏิบัติจริง
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภายหลังที่กระทรวงพลังงานได้เฟ้นหาเยาวชนในสังกัดระดับมัธยมตอนต้นและปลาย เข้าร่วมประกวด โครงงาน ภายใต้ชื่อว่า “ พลังงานเพื่อลดภาวะโลกร้อน (Big Ideas on Energy to Reduce Global Warming)” ซึ่งจะเป็นการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ เครื่องมือ อุปกรณ์การใช้พลังงาน หรือผลิตพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยลดภาวะโลกร้อน สามารถนำไปใช้ได้จริง เน้นการใช้วัสดุท้องถิ่นเป็นส่วนประกอบ โดยเริ่มเปิดรับสมัครโครงงานเยาวชนมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีการแยกจัดการประกวดในระดับภาคจำนวน 4 ภาค โดยในวันนี้ (21พ.ย.) กระทรวงพลังงานได้คัดเลือกเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกในระดับภาค และระดับประเทศพร้อมประกาศผลรางวัลระดับภาคต่างๆ
ทั้งนี้ ผลงานรางวัลชนะเลิศ ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ได้แก่
โครงงาน Engine From Check Dam ของโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จากจังหวัด เชียงใหม่ รองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่โครงงาน เอธานอลและถ่านจากผลตาลโตนดแบบพอเพียงสู่ชุมชน จากโรงเรียน สทิงพระวิทยา จังหวัดสงขลา รองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ โครงงานเตาอบกู้วิกฤติ ของโรงเรียน วัดทรงธรรม จังหวัด สมุทรปราการ รางวัลรองชนะเลิศอันดับสาม ได้แก่โครงงาน อิฐขยะลดโลกร้อนโรงเรียน กันทรลักษณ์วิทยา จังหวัดศรีสะเกษ
ผลงานรางวัล ชนะเลิศในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ โครงงานแผ่นรองหวดยุคใหม่ประหยัดพลังงานร่วมต้านภาวะโลกร้อน โรงเรียนห้วยเกิ้งพิทยาคาร จังหวัดอุดรธานี รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ โครงงาน The Super Incinerator for Reducing Global Warming (เตาสารพัดประโยชน์เพื่อลดโลกร้อน) โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัด เชียงใหม่ รองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่โครงงานรถเก็บขยะอนุรักษ์พลังงาน โรงเรียน จอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รางวัลรองชนะเลิศอันดับสาม ได้แก่ โครงงานอุปกรณ์เก็บแก๊สชีวภาพจากแหล่งน้ำจากโรงเรียนปัญญาวรคุณ กรุงเทพมหานคร
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล กล่าวเพิ่มว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมความรู้ด้านพลังงานแก่เยาวชนต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานได้นำต้นกล้าพลังงานและครูพลังงานเข้าร่วมกิจกรรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันจนสามารถนำข้อมูลด้านพลังงานไปใช้ได้จริงและเอื้อประโยชน์ต่อสังคมต่อไป