กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--สสส.
ในปัจจุบันน้ำตาลได้แฝงมาในอาหารแทบทุกชนิด ซึ่งการรับประทานน้ำตาลมากเกินไปโดยเพาะในเด็กก็จะก่อให้เกิดผลเสียขึ้นกับสุขภาพทั้งในระยะสั้นคือโรคฝันผุและโรคอ้วน และโรคเบาหวานในเด็ก ส่วนในระยะยาวก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องของความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคอีกหลายอย่างตามมาเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เนื่องเพราะพฤติกรรมในการบริโภคจะถูกปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเยาว์ ถ้าในวัยเด็กมีรสนิยมอย่างไร ก็จะต่อเนื่องไปถึงนิสัยการกินในตอนโตเป็นผู้ใหญ่
และจากการสำรวจข้อมูลสภาวะทันตสุขภาพของเด็กและเยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีเด็กนักเรียนเป็นโรคเหงือกอักเสบและโรคฟันผุสูง อีกทั้งงานอนามัยของโรงเรียนแต่ละแห่งพบว่าเด็กมีภาวะโภชนาการเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น กลุ่มงานทันตสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้จัดทำ “โครงการเด็กเชียงใหม่อ่อนหวาน” เพื่อรณรงค์ให้เกิดการลดการบริโภคน้ำตาลในเด็กอย่างจริงจัง โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทันตแพทย์หญิงจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. เปิดเผยว่า เด็กไทยในปัจจุบันบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 20 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเกินกว่าความจำเป็นที่ร่างกายต้องการถึง 3 เท่า ปัญหาอันดับแรกที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูงคือโรคฟันผุ ซึ่งได้เกิดขึ้นกับเด็กเล็กตั้งอายุเพียง 3 ขวบเท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากได้รับการดูแลด้านโภชนาการที่ไม่เหมาะสมและถูกต้องตั้งแต่แรกเกิด
“ปัจจุบันเด็กไทยติดนิสัยกินหวานตั้งแต่ยังเล็กๆ คุณแม่บางรายเลี้ยงด้วยนมกล่องรสหวาน เพราะกลัวลูกจะเบื่อ จากสถิติยังพบกว่าคุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่ที่มีบุตรหลานอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ร้อยละ 65 นิยมป้อนอาหารเสริมสำเร็จรูปซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาล ดังนั้นวิธีการสร้างนิสัยไม่กินหวานแก่เด็กตั้งแต่ก่อนวัยเรียน จึงเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้องได้อย่างสัมฤทธิ์ผล เพราะพฤติกรรมการกินหรือนิสัยในการบริโภคจะถูกปลูกฝังตั้งแต่ในวันเด็กและจะติดตัวต่อเนื่องไปจนโตเป็นผู้ใหญ่” ทันตแพทย์หญิงจันทนากล่าว
ทันตแพทย์หญิงอัมพร เดชพิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์โรคฟันผุที่เกิดกับเด็กวัย 3 ขวบในจังหวัดเชียงใหม่ว่ามีสถิติสูงถึงร้อยละ 55 ซึ่งการเปลี่ยนพฤติกรรมโดยจัดระเบียบการรับประทานของว่างให้เป็นเวลา และเปลี่ยนของว่างเป็นผลไม้ จะช่วยทำให้เด็กมีสุขภาพในช่องปากดีขึ้น
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลสันมหาพน โรงเรียนหนองหล่มวิทยาคาร อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ได้ตระหนักและห่วงใยในปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ จึงได้นำหลักการไม่กินหวานและวัตถุประสงค์ของโครงการมาบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการสร้างเสริมพัฒนาการวัยเยาว์ พร้อมทั้งชักนำให้ผู้ปกครองเกิดความตระหนักในสุขภาพของบุตรหลาน ผ่านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่ทางศูนย์จัดขึ้นอย่างกิจกรรมพ่อครัว-แม่ครัวตัวน้อย “Cooking Day”
คุณครูอังคณา ยิ่งเจริญ หรือ ครูเอ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนหนองหล่ม กล่าวว่า ทางศูนย์รับดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบครึ่ง โดยเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาเด็กที่มาเข้าเรียนจะพบกว่ามีปัญหาฟันผุถึงร้อยละ 80 ส่งผลกระทบต่อการเรียนและพัฒนาการ เพราะเด็กจะปวดฟันบ่อย ร้องไห้งอแง ทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง ในขณะเดียวกันผู้ปกครองก็มีค่านิยมที่ผิดๆ ใช้ขนมขบเคี้ยวเป็นตัวล่อเพื่อจูงใจเด็กให้มาเรียน เด็กๆ จึงมีขนมกรุบกรอบติดกระเป๋ามาทุกวัน
“แต่ก่อนเราให้เด็กกินขนมได้ตลอด ทางศูนย์ฯ ก็จัดของว่างเป็นพวกเบเกอรี่ ทำให้เด็กมีปัญหาสุขภาพในช่องปาก จึงเปลี่ยนอาหารว่างเป็นผลไม้ที่มีความหวานน้อยตามคำแนะนำของทันต์แพทย์จากโรงพยาบาลแม่แตง พร้อมทั้งปลูกฝังนิสัยการรับประทานผักและผลไม้ให้เด็กติดเป็นนิสัย ผ่านกิจกรรม Cooking Day ซึ่งจัดขึ้นทุกวันศุกร์ เด็กๆ จะสนุกสนานกับการได้ฝึกทำอาหารว่างด้วยตนเอง เช่น สลัดผลไม้ สลัดผัก อีกทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมด้วยการนำผักและผลไม้ที่มีอยู่ในบ้าน มาร่วมสาธิตเมนูต่างๆ ให้เด็กดู ทำให้ผู้ปกครองได้เรียนรู้วิธีการปรุงอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และนำกลับไปทำให้เด็กกินที่บ้านได้” คุณครูเอกล่าว
นอกจากนี้กิจกรรม Cooking Day ยังฝึกให้เด็กคุ้นเคยกับรสชาติของผักและผลไม้ ช่วยให้เด็กไม่กลัวการกินผัก ทั้งเป็นการฝึกประสาทสัมผัสของเด็กให้คล่องแคล่วจากการฝึกหยิบ จับ อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงเด็กจะเกิดความสามัคคี และกล้าแสดงออกอีกด้วย
ทันตแพทย์หญิงอรนุช ตัณฑจำรูญ ทันตแพทย์ประจำโรงพยาบาลแม่แตง กล่าวเสริมถึงผลที่เกิดขึ้นจากการรณรงค์และการสร้างนิสัยไม่กินหวานให้กับเด็กๆ ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงเรียนหนองหล่มว่า “จากการที่ศูนย์ฯ มีการดูแลสุขภาพปากและฟันของเด็กและปลูกฝังพฤติกรรมไม่กินหวานอย่างจริงจัง ทำให้สถิติฟันผุของเด็กในศูนย์ฯ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากเด็กจำนวน 29 คน จะพบเด็กฟันผุ 2-3 คนเท่านั้น”
การปลูกฝังและสร้างนิสัยไม่กินหวานให้แก่เด็กเล็ก นอกจากจะเป็นการรักษาสุขภาพของเด็กให้แข็งแรง ปลูกฝังพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้องให้ติดตัวไปจนโต ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในการรักษาโรคฟัน และเป็นการประหยัดงบประมาณของภาครัฐในการอุดหนุนด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ในการดูแลรักษา และยังถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กไทยทุกคน เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี ไม่ประสบปัญหาและโรคภัยจากความหวานอีกต่อไป.
ผู้ส่ง : punnda
เบอร์โทรศัพท์ : 0813580687