คนร้อยเอ็ด "คืนพืชอาหารสู่ป่าธรรมชาติ" ตะลึงเห็ดกว่า 50 ชนิดในป่าดงหนองเอียด

ข่าวทั่วไป Thursday November 27, 2008 11:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล "ป่าคือชีวิต" คำที่เราได้ยินจนชินหู แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าถึงความหมายและคุณค่าที่แท้จริงแต่สำหรับชาวบ้านรอบๆ "ป่าดงหนองเอียด" แล้วคำว่า "ป่าคือชีวิต" มันกินความหมายลึกซึ้งเข้าไปในจิตวิญญาณและวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนที่นี่ นานกี่ปีแล้วคงจะนับไม่ได้ที่ป่าอยู่คู่กับคน และคนอยู่คู่กับป่า แต่นับเวลาได้ 4 ปีแล้วที่ชาวต.ดงแดง อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด รวมตัวกันเป็น "กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าดงหนองเอียด" เพื่อร่วมกันดูแลรักษาซุปเปอร์มาเก็ตขนาดมหึมานี้ไว้ให้อยู่อย่างยั่งยืนที่สุด นางมัลลิกา การประไพ หรือ "ครูหนูน้อย" สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าดงหนองเอียด กล่าวว่า ป่าดงหนองเอียดเป็นป่าเบญจพรรณเคยประสบปัญหาเสื่อมโทรม ชาวบ้านบุกรุกทำไร่ทำนา เผาถ่านปลูกยูคาลิปตัส รวมถึงปัญหาชาวบ้านขาดความเข้าใจในการดูแลรักษาพืชหรือต้นไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ในแต่ละวันจะมีชาวบ้านเข้าป่าเพื่อตัดไม้ทำฝืนวันละ20-30 คันรถเข็น แต่หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ฯ กำหนดกฎระเบียบของคนในชุมชนและสร้างความรู้ ความเข้าใจร่วมกันถึงปัญหาส่งผลให้เกิดจิตสำนึกร่วมและมีการคืนพื้นที่ที่บุกรุกให้กลับมาเป็นของชุมชนอีกครั้ง สำหรับกิจกรรมที่กลุ่มอนุรักษ์ฯทำต่อเนื่องมาโดยตลอดคือการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะเป็นกล้าและปลูกคืนสู่ป่า รวมถึงสำรวจพันธุ์พืชอาหารในป่าชุมชน เก็บข้อมูลการเข้ามาใช้ประโยชน์ในป่าของชาวดงหนองเอียดและจากชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงพบว่า มีพืชอาหารอยู่จำนวนมาก สร้างอาชีพ สร้างรายได้ หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านมาโดยตลอด "ครูหนูน้อย" เล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าดงหนองเอียดให้ฟังว่า ป่าแห่งนี้เป็นแหล่งอาหารให้กับชาวบ้านในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงได้ทุกฤดูกาลไม่ว่าจะฤดูฝน ร้อนหรือแล้งชาวบ้านสามารถเข้ามาหาอาหารได้จากป่าแห่งนี้ได้ทุกวัน อาทิ ลำใยป่า มะค่าแต้ กระบก ต้นแดง มะเหลี่ยม ลูกหยี มะหาด ต้นหว้าสีชมพู ชะมวง มังคุดป่า ลองกอง มะม่วงหัวแมงวัน สมอพิเภก นมน้อย มะกอก นอกจากพืชอาหารดังกล่าวแล้วยังมีพืชอาหารที่อาจเรียกได้ว่าเป็นพระเอกของป่าดงหนองเอียดอีกจำนวนมากนั่นคือ "เห็ด" หลากหลายชนิดนับไม่ถ้วน แต่เท่าที่สำรวจมาได้ อาทิ เห็ดนกแขก เห็ดขี้เถ้าดำ เห็ดขี้เถ้าขาว เห็ดดิน (เกิดอยู่ใต้ต้นเต็ง) ต้นรัง เห็ดบวบขาว เห็ดบวบไก่น้อย เห็ดบวบสายน้ำ เห็ดบวบเลือด เห็ดบวบแดง เห็ดบวบจิก เห็ดแดงขาว เห็ดแดงขาแพง เห็ดแดงหนา เห็ดผึ้ง เห็ดผึ้งข้าวก่ำ เห็ดผึ้งขมิ้น เห็ดผึ้งขาลาย เห็ดผึ้งหวานซึ่งมีราคาดีมาก เห็ดผึ้งขาต่ำ เห็ดผึ้งตับควาย เห็ดผึ้งทาม เห็ดผึ้งนกยูง เห็ดผึ้งกระดาษห่อ เห็ดผึ้งลิ้นหมา เห็ดผึ้งด่างแก เห็ดผึ้งหย่อ เห็ดผึ้งอึ่ง เห็ดผึ้งแย้ง (มีรสขมส่วนมากเกิดใต้ต้นยูคาลิปตัส) เห็ดรังผึ้ง เห็ดนกเขา เห็ดเต้าปูน เห็ดเผาะ เห็ดระโยกเหลือง (เกิดใต้ต้นยางนา) เห็ดระโยงเขา เห็ดขี้ไก่เดือด เห็ดโจกโหลก (รูปร่างคล้ายครก) เห็ดถ่านน้อย เห็ดถ่านใหญ่ เห็ดหูหนู เห็ดตู้ปู้ เห็ดกระด้าง (เกิดจากเห็ดขอนที่แก่จัด) เห็ดเกลือ เห็ดยาง เห็ดตาโล่ (ชาวบ้านนิยมนำมาปรุงเป็นลาบโดยไม่ต้องทำให้สุก) เห็ดลิ้นโค่น(คล้ายเห็ดหลินจือมีทั้งพันธุ์ที่กินได้และกินไม่ได้) เห็ดข้าวสาร เห็ดตีนตุ๊กแก เห็ดมันปู และเห็ดก้ามปู เป็นต้น พืชจากป่าที่หาได้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะนำไปขายที่ตลอดนัดบ้านดงแดง ตลาดนัดที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอจตุรพักตรพิมาน มีความโดดเด่นเรื่องสินค้าจากป่า ส่วนรายได้จากการเก็บพืชอาหารจากป่านั้น "นายอำ" เปิดเผยว่า ในฤดูฝนที่ผ่านมาชาวบ้านใน 5 หมู่บ้านที่เก็บเห็ดขายมีประมาณ 50 คน แต่ละคนจะมีรายได้ถึงคนละ 250 บาทต่อวัน และสำหรับต้นฤดูหนาวนี้ อาหารป่าที่เป็นพระเอกได้แก่ ผักติ้ว และดอกกระเจียวขาว สนนราคากำละ 5-10 บาททำรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อวันต่อคน นี่ยังไม่นับรวมชาวบ้านที่เก็บอาหารป่าเพื่อบริโภคในครัวเรือน เรียกได้ว่าหาอยู่หากินกันโดยไม่ต้องซื้อหา แค่ช่วยกันรักษาป่าเท่านั้น นายอำ นรชาญ ประธานคณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าดงหนองเอียด กล่าวว่าแม้จะมีเห็ดและพืชอาหารจำนวนมาก แต่ระยะหลังพบว่ายังมีพืชอาหารท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่งที่หายไปจากป่า จึงจัดทำโครงการ "คืนพืช อาหารสู่ป่าธรรมชาติของชุมชน" เมื่อเดือนตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา โดยได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจลและมูลนิธิกองทุนไทย ซึ่งคณะกรรมมีความประสงค์เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างต่อเนื่องในการฟื้นฟูป่าชุมชน ให้เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ คืนมาแล้วยังต้องมีการบำรุงรักษาและเพิ่มปริมาณของอาหารในป่าได้อีก เพื่อเป็นการจูงใจให้กับชุมชนใกล้เคียงจะได้เห็นความสำคัญและเริ่มมีการฟื้นฟูสภาพป่าชุมชนเช่นเดียวกันป่าดงหนองเอียดทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มอาหารและผลประโยชน์ให้กับชุมชนพร้อมทั้งช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย "ครูหนูน้อย" กล่าวว่า ในอดีตชาวบ้านไม่เข้าใจเรื่องการอนุรักษ์ และการพึ่งพาป่าอย่างยั่งยืน บางคนอยากได้ต้นไหนกิ่งไหนก็โค่นกันลงมาทั้งกิ่ง แต่ขณะนี้ชาวบ้านเริ่มตระหนักและเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์มากขึ้น โครงการพืชอาหารจึงเกิดขึ้นและคิดว่าต้องเกิดความยั่งยืนแน่นอน ส่วนพืชอาหารที่จะคืนสู่ป่าดงหนองเอียดนั้นมีอยู่ประมาณ 20 ชนิด ได้แก่ มะรุม แคป่า มะขามป้อม มะก่ำต้น ติ้ว มะขามเปรี้ยว ต้นไผ่ มะขามเทศ เสาวรส สะเดา ขี้เหล็ก มะเกลือ มะตูม ลิ้นฟ้า มะหาด ลิ้นจี่ป่า มะไฟ ตะโกนา และลูกจันทร์ เป็นต้น ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมโทร. 02-2701350

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ