รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2551

ข่าวทั่วไป Thursday November 27, 2008 11:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายลวรณ แสงสนิท รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาโครงสร้างระบบภาษี (เศรษฐกร 9 ชช.) ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2551 ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่มีสัญญาณขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในด้านอุปสงค์จากต่างประเทศจากปริมาณการส่งออกที่ปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดีจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ 1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนตุลาคม 2551 ขยายตัวต่อเนื่องแต่เริ่มมีสัญญาณชะลอลง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนตุลาคมขยายตัวที่ร้อยละ 8.4 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 16.0 ต่อปี เนื่องจากมีปัจจัยความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวสืบเนื่องจากวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐฯ และยุโรป และปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เช่นเดียวกับเครื่องชี้การบริโภคจากปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2935.8 7 ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์เดือนตุลาคมขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 25.9 ต่อปี สะท้อน การใช้จ่ายที่ลดลงของประชาชนในส่วนภูมิภาคส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวลดลง ซึ่งส่งผลต่อรายได้เกษตรกร และกำลังซื้อของประชาชนในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนตุลาคมยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 20.4 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.1 ต่อปี เนื่องจากผู้ผลิตได้มีการจำหน่ายรถยนต์รุ่นใหม่ที่สามารถใช้กับน้ำมันพลังงานทางเลือก ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 68.6 จุดลดลงจาก เดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 69.5 จุด ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มการบริโภคในอนาคตที่อาจชะลอตัวลง 2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนตุลาคม 2551 ขยายตัวชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดย เครื่องชี้ด้านการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่สะท้อนจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนตุลาคม ขยายตัวที่ร้อยละ 13.2 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 19.2 ต่อปี สะท้อนถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศทั้งจากความไม่มั่นใจใน สถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้การลงทุนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคมหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ -28.3 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวของทั้งรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถปิคอัพขนาดเล็ก 3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนตุลาคม 2551 พบว่ารายได้รวมของ 3 กรมจัดเก็บภาษีเท่ากับ 105.0 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพาสามิตน้ำมัน และจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีสัญญาณชะลอตัว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากภาษีฐานรายได้พบว่าขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี สะท้อนผลประกอบการของภาคธุรกิจและรายได้ของประชาชนที่ชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ ขณะที่ภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ขยายตัวร้อยละ 9.2 ต่อปี สะท้อนถึงการบริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่องแม้ว่าจะชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สำหรับรายจ่ายรัฐบาลในเดือนตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 สามารถเบิกจ่ายได้ 85.293.7 พันล้านบาท หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นร้อยละ -42.439.7 ต่อปี เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 มีผลบังคับใช้ล่าช้า ทำให้รายจ่ายประจำสามารถเบิกจ่ายได้เพียง 84.2 6 พันล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ -30.4 1 ต่อปี และรายจ่ายลงทุนที่สามารถเบิกจ่ายได้ 563.00.6 พันล้านบาท หดตัวลงที่ร้อยละ-97.9 ต่อปี 4. การส่งออกในเดือนตุลาคม ของปี 2551 มีสัญญาณชะลอลง โดยมูลค่าการส่งออกรวมในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 15.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวในระดับต่ำเพียงร้อยละ 5.2 ต่อปี โดยพิจารณาจากปริมาณการส่งออกพบว่าหดตัวที่ร้อยละ -2.6 ต่อปี ซึ่งถือเป็นเดือนที่ 3 ที่ปริมาณการส่งออกขยายตัวในระดับต่ำ เป็นผลจากการชะลอตัวและหดตัวของการส่งออกสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่ชะลอตัวและถดถอย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากมิติประเทศคู่ค้าแล้วจะพบว่าการส่งออกไปยังตลาดภูมิภาคที่ส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าขั้นกลางจากไทย (Immediate Goods) ไปผลิตต่อ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน หดตัวลงอย่างชัดเจน สำหรับการนำเข้ามีมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 15.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 21.7 โดยเป็นปริมาณการนำเข้าขยายตัวชะลอลงเช่นกันที่ร้อยละ 13.9 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 24.1 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าที่ชะลอตัวลงในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบ บ่งชี้ว่าการผลิตในประเทศเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง ในขณะที่ในหมวดสินค้าทุน และหมวดอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงเช่นกัน สะท้อนถึงการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวที่ร้อยละ 18.4 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.8 ต่อปี อันเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงมากทำให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าทำให้ดุลการค้าในเดือนตุลาคม 2551 ขาดดุลจำนวน -0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 5. สำหรับเครื่องชี้ในด้านอุปทานในเดือนตุลาคม 2551 พบว่า ผลผลิตภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจากการท่องเที่ยวเริ่มชะลอตัวลง โดยเครื่องชี้ภาคการเกษตรที่วัดจากดัชนีการผลิตสินค้าเกษตรในเดือนตุลาคม หดตัวลงมากที่ร้อยละ -6.9 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี เป็นผลมาจากการชะลอตัวของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ที่แม้ว่าจะอยู่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวแต่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงเดือนกันยายน—ตุลาคม 2551 ในขณะที่ยางพาราผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกหนักไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตยาง ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือนตุลาคม ขยายตัวชะลอลงมากที่ร้อยละ 14.2 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 31.1 ต่อปี เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา เริ่มปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการของโลกชะลอตัวประกอบกับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับลดลงมาก ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมพบว่า ปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบในเดือนตุลาคมขยายตัวที่ร้อยละ 24.3 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 42.2 ต่อปี บ่งชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมเริ่มชะลอการผลิต เพื่อเตรียมรับผลกระทบจากยอดขายที่มีแนวโน้มจะปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว ในขณะที่ภาคบริการจากการท่องเที่ยวยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนตุลาคมมีจำนวนทั้งสิ้น 1.1 ล้านคน หดตัวร้อยละ -6.4 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -15.9 ต่อปี โดยเป็นผลจากความกังวลต่อเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเป็นหลัก 6. เสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเสถียรภาพภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อปี อันเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง และผลของ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนตุลาคมที่อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี นอกจากนี้ อัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2551 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ เดือนกันยายน 2551 อยู่ที่ร้อยละ 36.2 ซึ่งยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50.0 ค่อนข้างมาก สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2551 อยู่ในระดับสูงที่ 112.1103.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 4 เท่า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ