กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สวทช.ให้สัมภาษณ์ว่ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้าเยี่ยมชมเทคโนโลยีและการทำงานของ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Science Park) ซึ่งเป็นศูนย์รวมของการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่การเป็นแหล่งพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือแบบไตรภาคีระหว่างสถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรม พร้อมสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำเทคโนโลยีไปใช้เชิงพาณิชย์ โดยภายใน อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามา “เช่าพื้นที่” ในการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการด้านวิจัยและพัฒนาที่มีอยู่อย่างสะดวก รวดเร็วและครบวงจร
สำหรับการเยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยในครั้งนี้ สมาชิกจากสภาอุตสาหกรรมฯ ได้มีโอกาสเข้าชมเทคโนโลยีการทำงานของ สถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (SOLARTEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯที่มุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างเซลล์แสงอาทิตย์ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักร รวมถึงการประยุกต์ใช้งานร่วมแบบผสมผสาน สำหรับติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ อาทิ อาคาร บ้านพักอาศัย โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น เพื่อมุ่งเน้นให้ระบบเซลล์แสงอาทิตย์มีต้นทุนที่ต่ำลงกว่าปัจจุบันและเกิดการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น
การผลักดันคลัสเตอร์พลังงานเป็นส่วนหนึ่งที่ สวทช. ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นในการสร้างความเข้มแข็งในคลัสเตอร์หลักของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตของประเทศ ปัจจุบันมีงานวิจัยทางด้านพลังงานจำนวนมากที่ สวทช. ร่วมวิจัยกับพันธมิตรทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะ SOLARTEC ซึ่งมีการพัฒนาโซลาร์เซลล์อันเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างไม่สิ้นสุดและเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาดปราศจากมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
นายชาตรี ตั้งอมตะกุล นักวิจัยจาก SOLARTEC กล่าวว่า ปัจจุบัน SOLARTEC มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำ พร้อมทั้งประสบการณ์ของทีมวิจัยที่มีศักยภาพในการวิจัยและพัฒนา เพื่อเสริมสร้างและผลักดันภาคธุรกิจด้านเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ
SOLARTEC มีงานวิจัยที่หลากหลาย อาทิ เทคโนโลยีการผลิตโซลาร์เซลล์ด้วยระบบผลิตไฟฟ้าและน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Photovoltaic/Thermal Solar System: PV/T) โดยใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีโครงสร้างแบบอะมอร์ฟัสซิลิกอนซึ่งเหมาะสมกับภูมิอากาศเขตร้อนชื้น และมีคุณสมบัติเด่นคือ เมื่ออุณหภูมิแผงสูงขึ้นประสิทธิภาพการรับแสงจะไม่ลดลง ทำให้เป็นระบบที่ผลิตได้ทั้งไฟฟ้าและน้ำร้อนในเวลาเดียวกันโดยใช้อุปกรณ์ชุดเดียวกัน อีกทั้งสามารถประยุกต์ใช้งานกับระบบอื่นได้ เช่น ระบบหลังคาเซลล์แสงอาทิตย์ ระบบปรับอากาศพลังงานอาทิตย์ เป็นต้น รวมทั้งราคาของระบบดังกล่าวยังถูกกว่าระบบเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งแยกกับระบบทำน้ำร้อนแบบปกติมากกว่า 25% ทำให้ต้นทุนต่ำและคืนทุนเร็วขึ้น สำหรับงานวิจัยดังกล่าวยังได้ออกแบบและประยุกต์ให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน ทำให้มีการนำผลงานวิจัยนี้ไปใช้จริงในโรงพยาบาลและส่วนราชการอีกด้วย
ด้าน ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์วิจัยต่างๆ และ SOLARTEC ที่ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยครั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเข้าใจกระบวนการทำงานของเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งอาจสร้างโอกาสในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ อาทิ ระบบผลิตไฟฟ้าและน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์มองว่าเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจและอาจมีการผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันในอนาคต
สำหรับสภาพการตลาดของโซลาร์เซลล์ในปัจจุบัน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมฯ มองว่า ตลาดต่างประเทศมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าในประเทศ เนื่องจากกฎระเบียบและแรงจูงใจในการนำโซลาร์เซลล์มาใช้มีมากกว่า เช่น มาตรการลดภาษีสำหรับผู้ใช้โซลาร์เซลล์ ส่งผลให้การขยายตัวของตลาดโซลาร์เซลล์ทั่วโลกมีค่อนข้างสูง จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยหากจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีจากฝีมือนักวิจัยไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th
สอบถามข้อมูลข่าวและภาพเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณธณาพร (เอ็ม), คุณสุธิดา (ไก๋)
โทร. 0 2270 1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166
อีเมล: prtmc@yahoo.com , pr4tmc@ymail.com