กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--สถาบันวิจัยนครหลวงไทย
สถาบันวิจัยนครหลวงไทย จับมือNIDA Business School จัดทำบทวิจัย ผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจโลกต่อการจ้างงานในประเทศไทย เชื่อวิกฤติการเงินสหรัฐ-ยุโรป ถึงจุดต่ำสุดในปีหน้า ก่อนจะฟื้นตัวในปี 2553 ประเด็น สำคัญคือ การแก้ไขปัญหาการว่างงาน และการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องรอจนกว่าประธานาธิบดีคนใหม่รับตำแหน่ง ด้านนิด้าประเมิน เศรษฐกิจไทยจะยังคงมีการเติบโต แต่อัตราการเติบโตจะอยู่ที่ 2% จากเดิมคาดโต 3.6-4% และอัตราคนตกงานจะไม่ถึง 1 ล้านคนอย่างที่กังวล
นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัย นครหลวงไทย (Siam City Research Institution : SCRI) เปิดเผยในงานเสวนาภายใต้หัวข้อ Crisis Watch Series 2 : November 2008 “ผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจโลกต่อการจ้างงานในประเทศไทย” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง ตลาดหลักทรัพย์ mai ,โครงการสร้าง “CFO มืออาชีพ” NIDA Business School และ สถาบันวิจัย
นครหลวงไทย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 3 ของปี 2552 หลังจากนั้นจะเริ่มฟื้นตัว โดยสาเหตุของการที่สหรัฐฯ ฟื้นตัวล่าช้ามาจากความไม่ชัดเจนของกระบวนการแก้ไขปัญหาวิกฤติการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งควรจะได้ข้อสรุปและดำเนินการตามแผนกู้วิกฤติการเงินซึ่งมีวงเงิน 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ได้ทำการเปลี่ยนแผนจากเดิมที่จะมีการจัดตั้งหน่วยงานมาซื้อสินทรัพย์ด้อยค่าออกจากสถาบันการเงิน เพื่อลดปัญหาการขาดทุนและการเพิ่มทุนของสถาบันการเงิน โดยเปลี่ยนเป็นการเข้าไปลงทุนในสถาบันการเงินแทน
ผลจากการเปลี่ยนแผนทำให้ตลาดฯประเมินมูลค่าสินทรัพย์ของสถาบันการเงินกันใหม่และส่งผลให้ราคาหุ้นของ Citi ปรับลง 83 % และในที่สุดสหรัฐฯ ต้องเข้าไปค้ำประกัน Citi ด้วยวงเงิน 306,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเพิ่มทุน Citi 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และที่สำคัญคือ การที่สหรัฐฯ อยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายคณะรัฐบาลทำให้ความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาภาคเศรษฐกิจจริงอาทิ การช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ การแก้ไขปัญหาการว่างงาน และการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องรอจนกว่าประธานาธิบดีคนใหม่ นายโอบามาเข้ามารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค. 2552
ทั้งนี้ ในขณะที่ภาพรวมของการประชุมร่วมกันของผู้นำโลกกลุ่ม G-20 และนโยบายของแต่ละประเทศในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนั้น มีจุดร่วมกันที่เน้นการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยและนโยบายการคลังแบบขยายตัวด้วยการตั้งงบประมาณรัฐแบบขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้น โดย มีความเห็นว่าประเทศที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหามากที่สุดคือ จีน และประเทศในแถบเอเชียที่ได้เริ่มใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้
“ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่จากการชะลอลงของภาคการส่งออก โดยทิศทางของภาคส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสที่ 4/2551 และ ปี 2552 ยังคงมีความเสี่ยงสูงที่จะมีการชะลอตัวลงมากกว่าคาดการณ์ โดยการขยายตัวของภาคการส่งออกของไทยในปี 2551 โดยเฉลี่ยทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 15.0-20.0% และ 2-6% ในปี 2552 ทั้งนี้ในเบื้องต้นประเมินว่า ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและมาเลเซีย ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมากในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา”นายสุกิจ กล่าว
ทางด้าน รศ.ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDA Business School และ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยนครหลวงไทย กล่าวว่า แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจของไทยในปี 2552 จะได้รับผลกระทบจากภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในส่วนผลการดำเนินงาน การลงทุน และอัตราการจ้างงานจะลดลง ซึ่งส่งผลต่อภาคการผลิตสินค้าของไทย ที่มีตลาดส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป ประเทศในแถบอาเซียน อย่างไรก็ตาม หากประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ คาดว่าอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง ขณะที่สินค้าในกลุ่มเกษตรและภาคบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่นร้านค้าปลีก ยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจ การลงทุน และความต้องการของลูกค้าให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ราคาแพง ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำตลาดมาเป็นการทำกิจกรรมการตลาด การประชาสัมพันธ์ และการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายกับลูกค้าให้มากขึ้น ซึ่งจะมีประสิทธิภาพและส่งผลให้ลูกค้าเกิดการตัดสินใจซื้อสินค้ามากกว่าการโฆษณาผ่านสื่อ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า
“ภาวะเศรษฐกิจของไทยในปี 2552 จะมีความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ แต่ทาง NIDA Business School และสถาบันวิจัยนครหลวงไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงมีการเติบโต ประมาณ 3.6-4% อัตราคนตกงานไม่ถึง 1 ล้านคน อย่างที่หลายฝ่ายกังวล เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540- 2541 ที่เศรษฐกิจไทยติดลบ แต่ช่วงดังกล่าวยังมีอัตราว่างงานอยู่แค่ 4% จากผู้ใช้แรงงานทั้งประเทศที่มี 37 ล้านคน แต่หากปีหน้า สถานการณ์เลวร้ายลง คาดว่าจะมีคนตกงานอย่างมากที่สุดไม่เกิน 1.5 ล้านคน” รศ.ดร.เอกชัยกล่าว
คณบดี NIDA Business School ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มพนักงานบริษัทฯ มีความตื่นตระหนกต่อการรับข่าวสารเกี่ยวกับการปลดพนักงาน ทำให้หลายคนมีความกังวล แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสม ก็สามารถรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ เช่น ลดค่าใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย และหันมาออมเงินมากขึ้น แต่ก็ไม่ควรลดการใช้จ่ายในสินค้าในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากภาครัฐปล่อยให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในลักษณะเช่นนี้ต่อไป เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดได้ในอนาคต
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : กฤติยาพร พลตรี (บุ๋ม)
โทร 02-624-8965 มือถือ 089-6368-414 E-mail : Kritiyapornp@scis.co.th