กรุงเทพฯ--27 พ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันช่วงฤดูแล้ง โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯระดับจังหวัด ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ควบคุม การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชน และริมทาง อีกทั้งดำเนินมาตรการป้องกัน เตรียมความพร้อมในการระงับไฟป่า
ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอันตรายจากไฟป่าและเพิ่มความระมัดระวังในการประกอบกิจกรรมที่อาจทำให้เกิด ไฟป่า ห้ามจุดไฟใกล้บริเวณแนวป่า ส่วนเกษตรกร ให้ใช้การไถกลบแทนการเผาวัชพืช หากเกิดเหตุการณ์ไฟป่าให้ประสานกำลังดับไฟป่ากับหน่วยงานในพื้นที่
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของทุกปี สภาพอากาศของประเทศไทยจะแห้งแล้ง มีลมกระโชกแรง ประกอบกับอุณหภูมิผิวดินที่สูงขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าและยากแก่การควบคุม หากเกิดความกดอากาศสูงแผ่ปกคลุมพื้นที่ อาจทำให้เกิดภาวะ “Subsidence inversion” หรือการกักควันและไออากาศร้อน
ทำให้เกิดหมอกควันปกคลุมพื้นที่ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันไฟช่วงฤดูแล้ง กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย ได้ประสานให้จังหวัดดำเนินการ ดังนี้
ด้านการเตรียมความพร้อม จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัดและศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ ปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย
แผนการป้องกันและระงับไฟป่าให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยเน้นการบูรณาการมาตรการด้านการควบคุมและป้องกัน การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเตือน การฝึกซ้อมแผนและการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ ในการดับเพลิงให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วและเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ไฟป่าตลอด ๒๔ ชั่วโมง
ด้านมาตราการควบคุม ควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชน โดยจัดระบบการจัดเก็บ คัดแยกและจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกวิธี ควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะมูลฝอยในเขตชุมชน และบริเวณริมทางเด็ดขาด อีกทั้งดำเนินมาตรการควบคุม ป้องกัน แจ้งเตือนสถานการณ์ และเตรียมความพร้อม ในการระงับไฟป่า โดยจัดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจตรา ดูแลป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้และควบคุมไฟป่าในพื้นที่อย่างเข้มงวด
ด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอันตรายจากไฟป่า แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบของไฟป่าที่มีต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังการประกอบกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดไฟป่า และห้ามจุดไฟใกล้บริเวณแนวป่า โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะเกษตรกรให้กำจัดวัชพืชโดยวิธีไถกลบแทนการเผา
หากจำเป็นต้องเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ต้องจัดทำแนวกันไฟและควบคุมการเผาอย่างใกล้ชิด
ด้านการปฏิบัติการดับไฟ หากเกิดไฟป่าในพื้นที่ให้ประสานกำลังร่วมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยทหารในพื้นที่ ร่วมกันควบคุมและดับไฟ ทั้งนี้ หากพบเห็นเหตุการณ์ไฟป่าในพื้นที่ สามารถแจ้ง สายด่วนสาธารณภัย๑๗๘๔ เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดับไฟป่าต่อไป
ปภ.รายงานสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ๗ จังหวัด
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ๗ จังหวัด รวม ๕๐ อำเภอ ๒๘๕ ตำบล ๑,๕๒๘ หมู่บ้าน ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดนราธิวาสคลี่คลายแล้ว ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ๖ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี สงขลา และชุมพร
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งสำรวจความเสียหายและ ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่ช่วงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากใน ๗ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี สงขลา และชุมพร รวม ๕๐ อำเภอ ๒๘๕ ตำบล ๑,๕๒๘ หมู่บ้าน ผู้เสียชีวิต ๑๗
ราย สูญหาย ๑ ราย ราษฎรเดือดร้อน ๘๔,๕๐๒ ครัวเรือน ๒๗๗,๑๑๙ คน ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดนราธิวาสคลี่คลายแล้ว ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ๖ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี สงขลา และชุมพร โดยจังหวัด สุราษฎร์ธานี เกิดฝนตกหนัก ทำให้น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ๑๐ อำเภอ ๕๑ ตำบล ๓๑๓ หมู่บ้าน
บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง ๗ หลัง เสียหายบางส่วน ๑๑๙ หลัง สะพาน ๔๖ แห่ง ถนน ๑๔๓ สาย พื้นที่การเกษตร ๕๖,๑๒๔ ไร่ ราษฎรเดือดร้อน ๑๕,๗๕๖ ครัวเรือน ๔๑,๖๓๓ คน ได้แก่ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี คีรีรัฐนิคม ท่าฉาง วิภาวดี กาญจนดิษฐ์ พุนพิน ดอนสัก บ้านนาเดิม บ้านตาขุน และเกาะพงัน นครศรีธรรมราช เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่๑๘ อำเภอ
๑๒๓ ตำบล ๗๖๐ หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๔๖,๔๘๙ ครัวเรือน ๑๖๕,๘๘๘ คน ผู้เสียชีวิต ๑๘ ราย ได้แก่ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช พรหมคีรี เชียรใหญ่ หัวไทร ร่อนพิบูลย์ ขนอม นบพิตำ เฉลิมพระเกียรติ ชะอวด สิชล ท่าศาลา ลานสกา ปากพนัง พิปูน พระพรหม จุฬาภรณ์ ช้างกลาง และทุ่งใหญ่ พัทลุง เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้น้ำป่าไหลเข้าท่วมพื้นที่ ๑๑ อำเภอ ๕๗ ตำบล ๒๔๕ หมู่บ้าน
ผู้เสียชีวิต ๒ ราย ราษฎรเดือดร้อน๒,๓๗๒ ครัวเรือน ๘,๙๘๙ คน ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง กงหรา ศรีบรรพต ควนขนุน ป่าพะยอม ศรีนครินทร์ ปากพะยูน ป่าบอน บางแก้ว เขาชัยสน และตะโหมด ปัตตานี
เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอยะหริ่ง ๗ ตำบล ๒๖หมู่บ้าน สงขลา เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ๗ อำเภอ ๓๐ ตำบล ๑๓๕ หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน ๓๓ หลัง ถนน ๑๐๙ สาย พื้นที่การเกษตร ๕,๑๘๙ ไร่ ราษฎรเดือดร้อน ๑๓,๗๐๑ ครัวเรือน ๔๒,๑๓๐ คน ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา ควนเนียง ระโนด กระแสสินธิ์ สทิงพระ สิงหนคร และรัตภูมิ ชุมพร เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ๒ อำเภอ ๗ ตำบล ๓๙หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน ๗๓๕ ครัวเรือน ๒,๖๘๐ คน ได้แก่ อำเภอละแม และหลังสวน
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัด ประสานอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเจ้าหน้าที่ออกสำรวจความเสียหาย และระดมเครื่องจักรกล รถยนต์ เครื่องสูบน้ำ ๑๒ เครื่อง เรือท้องแบน ๓๗ ลำออกให้บริการขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของและอพยพประชาชนออกจากพื้นที่น้ำท่วม รวมทั้ง นำน้ำดื่ม ๓๒,๔๐๐ ขวด ถุงยังชีพ ๖,๕๐๐ ชุด พร้อมทั้งมอบเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน แก่ผู้ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๑๑ สุราษฎร์ธานี เขต ๑๒ สงขลา เขต ๑๗ จันทบุรี เขต ๑๘ ภูเก็ต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติ
โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันที ที่เกิดเหตุภัยพิบัติ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป