สนช. สนับสนุนเอกชนสร้างต้นแบบระบบผลิตไฟฟ้าจากขยะพลาสติก พร้อมลงนามร่วมกับ 9 ราชมงคล หวังต่อยอดงานวิจัยสู่นวัตกรรม

ข่าวเทคโนโลยี Thursday August 3, 2006 10:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--เอพีพีอาร์ มีเดีย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวการสนับสนุนโครงการ “ต้นแบบนวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้าจากขยะพลาสติกและขยะอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีไพโรไลซิส-แก๊สซิฟิเคชัน” และพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเพื่อต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนาสู่นวัตกรรม
ดร. ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “จากปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นรวดเร็วในปัจจุบัน และประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันเหล่านี้จากต่างประเทศ จึงทำให้สูญเสียเงินนับหลายล้านบาท สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ริเริ่มโครงการนวัตกรรมด้านพลังงานขึ้น และให้การสนับสนุนโครงการต้นแบบด้านพลังงานทดแทนหลายโครงการ ซึ่งโครงการ “ต้นแบบนวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้าจากขยะพลาสติกและขยะอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีไพโรไลซิส-แก๊สซิฟิเคชัน” นี้ก็นับเป็นอีกความสำเร็จหนึ่งของ สนช. ที่ทำให้เกิดระบบใหม่ที่สามารถเปลี่ยนขยะพลาสติกและขยะอุตสาหกรรมให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดปัญหาการกำจัดขยะ และลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมให้เกิดพลังงานทดแทน และยังลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้อีกด้วย”
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า “โครงการดังกล่าวนี้ สนช. ให้การสนับสนุนในลักษณะโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” ระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน โดยมีมูลค่ารวมโครงการทั้งหมด 5,250,000 บาท เพื่อสร้างต้นแบบเครื่องไพโรไลซิส-แก๊สซิฟิเคชัน สำหรับเผาขยะพลาสติก และขยะอุตสาหกรรมที่ติดไฟได้ อัตราการป้อนขยะ 200 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ผลิตไฟฟ้าได้ 50 กิโลวัตต์ และสามารถตรวจสอบการเกิดแก๊สไดออกซินที่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้เป็นโครงการนำร่องจากกลุ่มโครงการนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง 36 วิทยาเขต ที่จะร่วมกับ สนช. ในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยมาพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุภวิทย์ ลวนะสกล ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า “ต้นแบบเครื่องไพโรไลซิส-แก๊สซิฟิเคชัน นี้เป็นนวัตกรรมกระบวนการผลิตระดับประเทศในการเปลี่ยนขยะพลาสติกและขยะอุตสาหกรรมที่ติดไฟได้ เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยอาศัยเทคโนโลยีที่เรียก “ไพโรไลซิส-แก๊สซิฟิเคชัน” ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยขยะถูกป้อนเข้าไปในส่วนของระบบไพโรไลซิส ซึ่งขยะในส่วนนี้ถูกเผาโดยปราศจากออกซิเจนในระบบปิดภายใต้อุณหภูมิ 4000C ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ แก๊สมีเทน ไอน้ำมันร้อน และถ่าน (Charcoal) จากนั้นถ่านจึงป้อนเข้าสู่ส่วนที่เป็นระบบแก๊สซิฟิเคชัน ซึ่งจะเกิดการเผาไหม้ภายใต้ปริมาณออกซิเจนที่จำกัด และอุณหภูมิมากกว่า 1,000ฐC ทำให้เกิดการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ขึ้น ได้ผลิตภัณฑ์หลักเป็นแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ และแก๊สมีเทน แก๊สจากสองกระบวนการนี้จะถูกส่งต่อโดยนำมารวมกันและแยกฝุ่นผงออก จากนั้นจึงใช้เป็นเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งต่อเพลาหมุนแกนของเครื่องปั่นไฟ ได้เป็นพลังงานไฟฟ้าขนาด 50 กิโลวัตต์ นอกจากนี้ยังมีความร้อนส่วนที่เหลืออีก 230 กิโลวัตต์ สำหรับใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมได้อีกด้วย”
โครงการ “ต้นแบบนวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้าจากขยะพลาสติกและขยะอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีไพโรไลซิส-แก๊สซิฟิเคชัน” เป็นโครงการนำร่องที่ สนช. ให้การสนับสนุนแก่ภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท พร้อมมาก จำกัด ที่นำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ไปต่อยอดทำเกิดเป็นรูปธรรมและมีศักยภาพแข่งขันทางพาณิชย์ เนื่องจากต้นแบบระบบผลิตไฟฟ้าที่พัฒนานี้ ใช้วัตถุดิบหลักเป็นขยะพลาสติก ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มกำจัดของเสีย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการจัดหาวัตถุดิบดังกล่าว ทำให้การสร้างต้นแบบเครื่องจักร การรวบรวมขยะพลาสติกเพื่อนำมาใช้ทดสอบสะดวกขึ้นมากยิ่งขึ้น จึงนับได้ว่าเป็นโครงการนำร่องที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมเป็นอย่างมาก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
คุณอาศยา ศิริเอาทารย์ โทร 0-2644-6000 ต่อ 123 อีเมล์: asaya@nia.or.th
บริษัท เอพีพีอาร์ มีเดีย จำกัด
พัชราวดี สุทธิภูล โทร 0-2655-6633 /0-1817-7094 อีเมล์: patcharavadee@apprmedia.com
บุษกร ศรีสงเคราะห์ โทร 0-2655-6633 /0-1911-0931 อีเมล์: busakorn@apprmedia.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ