กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--สสส.
ปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อทุกมิติของสังคม ก่อให้เกิดความสูญเสียหลายประการ โดยเฉพาะในหน่วยเล็กๆ ของสังคมอย่างสถาบันครอบครัว ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาด้านสุขภาพ ความรุนแรง และความแตกแยกในครอบครัว
จึงนับเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนของสังคมไทย ในการผลักดันกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ ลด ละ เลิก การดื่มแอลกอฮอล์ โดยเน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่สังคมว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นต้นเหตุแห่งปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน
ชุมชนบ้านหนองคูน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ในอดีตเป็นชุมชนที่ถูกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รุกรานเข้าสู่ทุกครัวเรือน กลืนกินวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีงามให้เป็นค่านิยมที่ผิดเพี้ยนในเรื่องของการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาใช้ในประเพณีงานบุญ “โครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง” ซึ่งเป็นแนวคิดของ “สถาบันรักลูก” โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ช่วยกันรณรงค์ให้ชาวบ้านในชุมชนลด ละ เลิกการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและเรียกความอบอุ่นของครอบครัวให้กลับคืนมา
นายอนุวัฒน์ จันทร์เขต ผู้ประสานงานโครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง จ.สุรินทร์ เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านหนองคูน้อย เคยเป็นชุมชนที่มีปัญหาเรื่องการดื่มสุรามาก ดื่มเกือบทุกครัวเรือน จนเมื่อปี 2521 สรรพสามิตอำเภอท่าตูมประกาศว่าเป็นหมู่บ้านที่มีสถิติการขายและปริมาณการดื่มสุรามากที่สุดในอำเภอท่าตูม
“ต่อมาชาวบ้านได้ประจักษ์ว่า สาเหตุสำคัญอันแรกที่ทำให้ครอบครัวและชุมชนเกิดปัญหาคือการดื่มสุรา ทางคณะทำงานจึงได้จัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่ชุมชนเกี่ยวกับหลักสูตร หลักคิด คุณธรรม เรื่องลด ละ เลิก สุรา ทำความดีถวายในหลวง และร่วมกันสร้างกฎระเบียบของหมู่บ้านที่เกี่ยวกับการงดดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งหลังจากที่ชาวบ้านได้ตระหนักและเข้าใจถึงปัญหา ก็เกิดความร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง จนในปัจจุบัน บ้านหนองคูน้อย สามารถประกาศเป็นครัวเรือนปลอดเหล้าได้อย่างถาวร” นายอนุวัฒน์กล่าว
นายเสมอ เอ็นดู แกนนำชุมชนกล่าวว่าเริ่มรณรงค์ให้คนในชุมชนลด ละ เลิกดื่มสุรา ตั้งแต่ปี 2549 โดยมีการเรียกประชุมหมู่บ้านและทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการชี้ให้ชาวบ้านเห็นถึงผลที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งสุขภาพอ่อนแอ เสียทรัพย์ เมื่อดื่มมากๆ ควบคุมสติไม่ได้ ทำให้ลูกหลานเลียนแบบ เกิดปัญหาการหย่าร้าง ทะเลาะวิวาท ผลกระทบที่เกิดในชุมชนก็ก่อให้ขาดความสามัคคี ทะเลาะวิวาทในชุมชน และเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ทางชุมชนก็จะขอความร่วมมือจากสมาชิกในชุมชนเช่นในงานศพก็ขอไม่ให้มีการเลี้ยงเหล้า และยังขอความร่วมมือจากร้านค้าไม่ให้ขายเหล้าให้แก่ผู้จัดงานบุญอีกด้วย
“เราสะท้อนให้ชาวบ้านเห็นปัญหาที่เกิดจากการดื่มเหล้า ซึ่งชาวบ้านก็รับรู้และเข้าใจ จึงได้มีการร่วมกันออกมติชุมชนได้แก่ งานศพปลอดเหล้า รวมถึงการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับครอบครัวที่สามารถเลิกเหล้าได้ โดยมอบป้ายครัวเรือนปลอดเหล้าไว้ติดตั้งบริเวณหน้าบ้านเพื่อเป็นเกียรติประวัติให้แก่ครอบครัว” นายเสมอกล่าว
การทำให้สมาชิกในหมู่บ้านหนองคูน้อย สามารถ ลด ละ เลิกการดื่มเหล้าได้จนเป็นหมู่บ้านต้นแบบนั้น เกิดขึ้นจากทางคณะกรรมการหมู่บ้านจัดแกนนำหรือผู้ที่เป็นแบบอย่างในการลด ละ เลิก เหล้าได้อย่างจริงจังได้เข้าไปเคาะประตูบ้านพูดคุย ชักจูง คอยสอบถามปัญหากับสมาชิกคนอื่นๆ ในหมู่บ้านที่ยังดื่มเหล้าอยู่ และคอยชี้แนะให้เห็นถึงผลดีและผลเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้น
และอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านหนองคูน้อยเลิกเหล้าได้นั้นเพราะการที่สมาชิกในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกันมีความเคารพซึ่งกันและกัน นอกจากนี้วัฒนธรรมท้องถิ่นที่ลูกบ้านส่วนใหญ่มีความเชื่อถือและเคารพในตัวผู้นำชุมชนก็มีส่วนที่ทำให้ทุกคนร่วมใจลด ละ เลิกดื่มเหล้า รวมถึงการประกาศเป็น "ครัวเรือนปลอดเหล้า" นั้นก็เกิดขึ้นจากประชามติของสมาชิกในหมู่บ้าน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเสมือนแรงผลักดันให้สมาชิกทุกคนต้องทำให้ครอบครัวและชุมชนของตนเองปลอดเหล้าให้ได้
ทางด้าน นางสุธรรมา เอ็นดู ชาวบ้านรายหนึ่งซึ่งในอดีต สมาชิกของบ้านเกือบทุกคนดื่มเหล้าอย่างหนักเป็นประจำ แต่ปัจจุบันบ้านของนางสุธรรมเป็นครัวเรือนปลอดเหล้าครอบครัวมีความอบอุ่นซึ่งเกิดจากความพยายามกระตุ้นให้คนในบ้านเห็นโทษของการดื่มสุรา
“เราพยายามให้กำลังใจคนในบ้านว่าต้องเลิกเหล้าให้ได้ เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างให้กับลูกหลาน เป็นหน้าเป็นตาให้ชุมชน เพราะบ้านหนองคูน้อยแม้จะเป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีเพียง 98 ครัวเรือน แต่ก็เป็นทางผ่านที่ชุมชนอื่นมักจะแวะมาเยี่ยมเป็นประจำ หากเราสามารถทำตัวเป็นแบบอย่างได้ก็ถือเป็นความภูมิใจของทุกคน ซึ่งในวันนี้มี 88 ครอบครัวแล้วที่สามารถเลิกเหล้าได้อย่างจริงจังและสามารถติดป้ายประกาศไว้หน้าบ้านว่าเป็นครัวเรือนปลอดเหล้าได้อย่างภาคภูมิใจ” นางสุธรรมเล่าด้วยความปลื้มใจ
นายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สสส. กล่าวว่าสังคมไทยมักจะคุ้นเคยกับภาพงานเลี้ยงสังสรรค์และงานบุญที่ต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นความเชื่อแบบผิดๆ ที่เป็นผลกระทบจากการตลาดและการโฆษณาของผู้ขายน้ำเมา ดังนั้นเมื่อชุมชนมีความตระหนักถึงผลกระทบจากการดื่ม และมีความตั้งมั่นว่าจะลด ละ เลิกให้ได้ ก็จะเกิดผลดีตามมามากมายทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจระดับมหภาคและในระดับครัวเรือน ที่สำคัญประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมาก็จะดำเนินไปอย่างถูกต้องตามครรลอง โดยไม่ต้องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเป็นส่วนประกอบ
วันนี้บ้านหนองคูน้อยเปลี่ยนจากชุมชนที่หลงผิดไปกับแอลกอฮอล์มาเป็นหมู่บ้านต้นแบบไม่ดื่มเหล้าให้กับชุมชนอื่นๆ ซึ่งแนวทางในการพัฒนาไปสู่การเป็นชุมชนปลอดสุราได้สำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น คือการสร้างความเข้าใจให้ตรงกันของสมาชิกชุมชน ชาวบ้านทุกคนก็จะพร้อมใจกันทำโดยไม่ได้บังคับ แต่เป็นเพราะทุกคนในชุมชนสุขใจที่ได้ทำนั่นเอง.
ผู้ส่ง : Punnda
เบอร์โทรศัพท์ : 0813580687