FM103 MHz เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางอากาศ ดึงเยาวชนร่วมสร้างครอบครัวชาวลำปางเข้มแข็ง

ข่าวทั่วไป Friday November 28, 2008 10:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--สสส. สถาบันครอบครัวในสังคมไทยปัจจุบันกำลังประสบปัญหารุมเร้าจากปัจจัยต่างๆ อย่างหนัก ผลสำรวจดัชนีชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขในครอบครัวไทยพบว่า ครอบครัวมีแนวโน้มของความสุขและความอบอุ่นลดลง และผลการวิจัยของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี พ.ศ.2550 พบว่าคนไทยมีอัตราการหย่าร้างสูงถึง 1 แสนคู่ต่อปี ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อสถาบันครอบครัวอย่างรุนแรงในทุกๆพื้นที่ของประเทศ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์และสภาพปัญหาในปัจจุบันของจังหวัดลำปางในปี พ.ศ.2549-50 พบว่ามีอัตราหย่าร้างสูงเป็นอันดับ 2 ของภาค จำนวนเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่สูงเป็นอันดับ 5 ของภาคหรือร้อยละ 23 เด็กมีพฤติกรรมดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนัน และมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสูงเป็นอันดับ 2 ของภาค “โครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดลำปาง” ซึ่งเป็นแนวคิดของ “สถาบันรักลูก” โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2547 เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้นำไปสู่ความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชนในจังหวัดลำปาง อันเป็นการแก้ปัญหาสังคมที่ต้นเหตุ นายพันธ์ศักดิ์ คำแก้ว ประธานคณะทำงานศูนย์การเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดลำปางเผยว่า ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับเยาวชนและสถาบันครอบครัวในจังหวัดถือว่าเป็นปัญหาที่หนักซึ่งเกิดจากสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าหากเราปล่อยทิ้งไว้ก็จะเกิดการการล่มสลายของสถาบันครอบครัว ดังนั้นถ้าคนลำปางยังอยู่เฉยไม่ทำอะไรเลยก็สถานการณ์ก็จะแย่ลงไปเรื่อยๆ “เราเชื่อมั่นว่าทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ ทางโครงการฯ จึงเข้ามาทำหน้าที่จัดกระบวนการให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นโดยให้คนในชุมชนได้เข้ามามีบทบาท มีส่วนร่วมก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และสรุปเป็นองค์ความรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งแก้ไขปัญหาของตนเองใน 4 เนื้อหาหลักคือ หลักคุณธรรม ความสัมพันธ์ในครอบครัว การดูแลเด็กในแต่ละวัย และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการที่จะสร้างครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง” นายพันธ์ศักดิ์กล่าว การทำงานของศูนย์การเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดลำปาง ได้เน้นหนักไปที่ “การเปิดเวทีเรียนรู้สู่ชุมชน” “การทำวิจัยชุมชน” และ “การสร้างสื่อ” ซึ่งหนึ่งในสื่อที่ทางโครงการฯ ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องคือ “การจัดรายการวิทยุครอบครัวเข้มแข็ง” ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุเพื่อการศึกษาและพัฒนาอาชีพ R-Radio FM103 MHz ทุกวันอังคารถึงวันศุกร์เวลา13.00-14.30 น. โดยเวทีนี้ได้ก่อให้เกิด “เยาวชนนักจัดรายการวิทยุ” ซึ่งเป็นเยาวชนในท้องถิ่นที่มีจิตอาสามาร่วมกันทำงานเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวในจังหวัดลำปาง นายบุญส่ง ทิวงศ์สา รองประธานฝ่ายติดตามงานพื้นที่ กล่าวว่ารายการวิทยุเป็นสื่อที่ทางโครงการได้เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินงาน โดยวันอังคารเนื้อหาจะเป็นเรื่องครอบครัวเข้มแข็งในวิถีชุมชน วันพุธจะเป็นการเลี้ยงลูกและพัฒนาการเด็กทุกช่วงวัย วันพฤหัสบดีเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัว และวันศุกร์จะพูดคุยในเรื่องครอบครัวเข้มแข็งในมิติวัฒนธรรม ซึ่งเนื้อที่พูดคุยทั้งหมดจะมุ่งเน้นไปที่ 4 เนื้อหาหลักของโครงการ “รูปแบบของการจัดรายการจะมีดีเจทำหน้าที่เป็นคนกลางสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางอากาศเพื่อให้ชาวลำปางได้มาพบปะพูดคุยเกิดการเรียนรู้และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมในประเด็นหรือเนื้อหาที่แตกต่างกันในแต่ละวัน ซึ่งเราจะสอดแรกหลักคิดในการทำงานของเราทั้งหมดเข้าไปในเรื่องเหล่านี้” นายบุญส่งกล่าว “ดีเจหนุ่มดิว” หรือ นายอนุพงษ์ ตาจินะ อายุ 19 ปี นักจัดรายการวิทยุมืออาชีพ จากคลื่น FM 92.75 MHz ลูกทุ่งนครลำปาง บอกว่าการที่ได้มาทำงานที่ตนเองรักในวันนี้เพราะมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมของโครงการซึ่งมีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ค้นหาตัวเองให้เจอว่าเรามีความถนัดในด้านใด ซึ่งพื้นฐานการเป็นนักจัดรายการวิทยุของเขาได้มาจากการเข้าไปร่วมจัดรายการครอบครัวเข้มแข็งมาตั้งแต่เรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากหนุ่มขี้อายจึงกลายเป็นนักจัดรายการวิทยุที่มีคนรู้จักกันทั้งเมือง “ในรายการจะมีการกำหนดประเด็นในแต่ละครั้งก่อน เมื่อมีผู้ฟังโทรเข้ามาเราก็จะไม่ทำตัวเป็นผู้รู้ เพราะคุณผู้ฟังแต่ละท่านต่างหากที่จะเป็นผู้รู้ โดยเราจะฟังเรื่องที่เขาเล่าแล้วเอาประสบการณ์ของเราแลกเปลี่ยนกับเขาไป ซึ่งก็จะมีคนอื่นๆ โทรมาคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจำนวนมากในแต่ละวัน นอกจากนี้เมื่อมีโอกาสไปเป็นพิธีกรเวทีไหน หรือในรายการวิทยุที่จัดประจำก็จะนำเอาความรู้เรื่องครอบครัวไปพูดคุยในรายการเหล่านี้ด้วย” ดีเจหนุ่มดิวกล่าว “ดีเจแอน” หรือ นางสาวหทัยชนก วาวงศ์ อายุ 25 ปี เยาวชนนักจัดรายการวิทยุอีกคนหนึ่งที่โรคธาลัสสิเมียไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานเพื่อสังคมบอกว่าแรงบันดาลใจในการเข้ามาทำงานที่โครงการนี้เกิดจากครั้งหนึ่งได้ฟังรายการ แล้วประทับใจในความรู้ที่ชาวบ้านแต่ละคนโทรเข้ามาพูดคุยกันในรายการอย่างอบอุ่น จึงเข้ามาร่วมทำงานฐานะนักวิจัยชุมชน “มีป้าคนหนึ่งไปเลี้ยงวัวที่กลางทุ่งแล้วก็โทรเข้ามาพูดคุยกัน รายการนี้จึงเป็นเหมือนห้องเรียนธรรมชาติ เป็นห้องเรียนรู้ทางอากาศ ไม่มีการแบ่งชนชั้นทุกคนมีสิทธิ์ที่จะฟังและโทรเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นได้” ดีเจแอนกล่าว เมื่อเยาวชนคือกำลังที่สำคัญของชาติในอนาคต คณะทำงานของศูนย์การเรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดลำปาง จึงได้เข้าไปฝึกให้เยาวชนในพื้นที่ๆ ได้เข้าไปดำเนินงานให้เป็นวิทยากรกระบวนการ สร้างเยาวชนให้เป็นนักจัดรายการวิทยุ ซึ่งองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้มาจากงานวิจัยก็จะถูกส่งต่อลงไปในพื้น ในอนาคตก็อาจจะเกิดการขยายผลจากกิจกรรมที่ทำอยู่ไปเป็นการจัดเสียงตามสายเพื่อครอบครัวเข้มแข็งในชุมชนต่างๆ ของจังหวัดลำปาง “สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางอากาศของเราคือความตระหนักเห็นความสำคัญ และเห็นความอ่อนแอของครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ชุมชนจะอยู่นิ่งอีกต่อไปไม่ได้ ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าเราสร้างครอบครัวให้เข้มแข็งได้ ชุมชนก็จะเข้มแข็ง สังคมก็จะเข้มแข็ง ประเทศชาติก็จะเข้มแข็ง เพราะครอบครัวเป็นสถาบันที่เล็กที่สุด แต่มีความสำคัญมากที่สุด” ประธานคณะทำงานศูนย์ฯครอบครัวเข้มแข็ง จ.ลำปางกล่าว นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะครอบครัว สสส. เปิดเผยว่า แผนงานสุขภาวะครอบครัวในปีหน้าจะมุ่งไปสู่เด็กและเยาวชนมากขึ้น เพราะในปัจจุบันครอบครัวกำลังเป็นบ่อเกิดของทุกข์ต่างๆ ซึ่งพฤติกรรมที่เป็นปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันล้วนเกิดจากการเลี้ยงดู การสั่งสมพฤติกรรมจากครอบครัว ซึ่งเด็กที่จะเติบโตเป็นคนดี นั้นครอบครัวต้องมีความแข็งแรง และมีหลักธรรมในการดูแลเด็ก “เราต้องกระตุ้นให้สังคมมีส่วนช่วยครอบครัวในสังคมไทย กระตุ้นให้คนในสังคมช่วยกันออกมาสร้างกระบวนการเรียนรู้ ในการส่งเสริมครอบครัวด้วยตัวของเอง โดยต้องช่วยกันทำทั้งองค์กรต่างๆ องค์การบริหารส่วนตำบล สถานที่ทำงาน สถานศึกษา หรือแม้แต่วัด ก็ต้องทำหน้าที่ในการสร้างการเรียนรู้ให้คนในสังคมและครอบครัว” นายวันชัยกล่าวสรุป. ผู้ส่ง : Punnda เบอร์โทรศัพท์ : 0813580687

แท็ก ครอบครัว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ