กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--บีโอไอ
บีโอไอหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ หลังจากไม่สามารถนำเข้า-ส่งออกวัตถุดิบและสินค้าทางอากาศ เตรียมระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศุลกากร การท่าอากาศยาน การบินไทย และฟอร์เวิร์ดเดอร์ เอเยนต์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่สนามบินอื่น หรือด่านศุลกากรตามชายแดน พร้อมเจรจากองทัพส่งเครื่องบิน C-130 ช่วยขนส่งสินค้าในกรณีที่สถานการณ์ยังยืดเยื้อ
หลังจากที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องยุติการให้บริการมาตั้งแต่วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าทางอากาศ ทำให้ไม่สามารถนำเข้าและส่งออกสินค้าได้ เกิดความเสียหายมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อวัน และทำให้วัตถุดิบในการผลิตขาดแคลนจนทำให้การผลิตต้องหยุดชะงัก และอาจส่งผลกระทบต่อแรงงานของอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียประมาณ 200,000 คน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ จึงได้หาแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยได้ติดต่อสอบถามผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เพื่อประเมินความเสียหาย และความช่วยเหลือที่ต้องการ
และเมื่อวานนี้ (27 พ.ย. 2551) บีโอไอได้หารือถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกับสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 50 บริษัท มีมูลค่าการลงทุนของสมาชิกมากกว่า 30,000 ล้านบาท และมีมูลค่าการส่งออกปีละกว่า 700,000 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากเปลี่ยนช่องทางการขนส่งสินค้าไปยังท่าอากาศยานอู่ตะเภา และสนามบินปีนัง และกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์ โดยผ่านด่านศุลกากรอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งเมื่อมีการใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้บริษัทที่ต้องการนำสินค้าผ่านด่านต้องรอคิวนานมาก อีกทั้ง อุปกรณ์และเครื่องมือขนถ่ายสินค้าขึ้นเครื่องบินที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ก็มีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ
นางสาวสุดจิตร อินทรไทยวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยถึงข้อสรุปของที่ประชุม ซึ่งมีความเห็นตรงกัน ว่า ต้องประสานงานกับกรมศุลกากร เพื่อเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ให้บริการพิธีการศุลกากรที่ด่านศุลกากร อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งจะเป็นด่านที่ขนส่งสินค้าผ่านไปยังประเทศมาเลเซีย รวมทั้งที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จังหวัดระยอง ด้วย
นอกจากนี้ ต้องมีการประสานงานกับบริษัทผู้ดำเนินการขนถ่ายสินค้าขึ้นเครื่องบิน อาทิ บริษัท การบินไทย เพื่อช่วยเคลื่อนย้ายอุปกรณ์และเครื่องมือในการขนถ่ายสินค้าขึ้นเครื่องบิน ไปเพิ่มกำลังที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการในการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์
นางสาวสุดจิตรกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังเห็นควรตามข้อเสนอของผู้ประกอบการว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อและไม่สามารถหาผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่สนามบินอู่ตะเภา ก็จะขอความช่วยเหลือจากกองทัพ จัดหาเครื่องบิน C-130 มาช่วยในการขนส่งสินค้าของภาคเอกชน
สำหรับผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วง 2 วันที่ผ่านมา หลังจากที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องปิดชั่วคราว สมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ ได้รายงานว่า สร้างความเสียหายต่อทั้งบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย และบริษัทลูกค้าที่สั่งซื้อชิ้นส่วนจากประเทศไทย เนื่องจากไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตรงตามเวลา ลูกค้าหลายรายที่นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศไทยต้องชะลอการผลิต บริษัทผู้ผลิตในไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และค่าปรับจากการส่งมอบสินค้าล่าช้า ซึ่งบางรายถูกปรับเป็นเงินถึง 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อชั่วโมง
หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อไปอีก จะเกิดผลกระทบต่อแรงงานจำนวนกว่า 200,000 ราย ที่ต้องหยุดงาน เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตได้ และบริษัทที่นำเข้าสินค้าจากประเทศไทย อาจเปลี่ยนไปว่าจ้าง และสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศอื่นๆ ทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียโอกาสทางธุรกิจ 2 — 3 ปี รวมทั้งส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นต่อภาคการผลิตของประเทศไทยอีกด้วย