กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--สสส.
ปัจจุบันเด็กไทยมีพฤติกรรมการบริโภคที่ติดนิสัยกินหวานตั้งแต่ยังเด็ก จากสถิติพบกว่าพ่อแม่สมัยใหม่ที่มีบุตรหลานอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ร้อยละ 65 นิยมป้อนอาหารเสริมสำเร็จรูปซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาล นอกจากนี้ยังนิยมใช้นมกล่องที่มีรสหวานในการเลี้ยงลูกเพราะกลัวว่าลูกจะเบื่อ
การรับประทานน้ำตาลมากเกินไปโดยเพาะในเด็กจะก่อให้เกิดผลเสียขึ้นกับสุขภาพทั้งในระยะสั้นคือโรคฝันผุและโรคอ้วน และโรคเบาหวานในเด็ก ส่วนในระยะยาวก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องของความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคอีกหลายอย่างตามมาเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เนื่องเพราะพฤติกรรมในการบริโภคจะถูกปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเยาว์ ถ้าในวัยเด็กมีรสนิยมอย่างไร ก็จะต่อเนื่องไปถึงนิสัยการกินในตอนโตเป็นผู้ใหญ่
โรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่ตระหนักถึงปัญหา และพิษภัยอันเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคของเด็กๆ ที่ติดรสหวาน ทางโรงเรียนจึงได้เข้าร่วม “โครงการเด็กเชียงใหม่อ่อนหวาน” ของ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจและลดการบริโภคน้ำตาลในเด็ก โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายพิทยา ศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืน จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าทางโรงเรียนพบว่าเด็กนักเรียนประสบปัญหาโรคเหงือกอักเสบ และฟันผุเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีน้ำหนักไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน อันเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น ขนมกรุบกรอบ และน้ำอัดลม
“ทางโรงเรียนตระหนักว่าการมีสุขภาพที่ดีจะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่ดี อีกทั้งการปลูกฝังความรู้เรื่องพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้องตั้งแต่วัยเยาว์ จะเป็นพื้นฐานและนิสัยที่ติดตัวเด็กไปจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มงานอนามัยของโรงเรียนจึงได้ร่วมกันคิดกิจกรรมที่สามารถตอบโจทย์ของโครงการเด็กเชียงใหม่อ่อนหวาน โดยได้แนวความคิดว่าควรส่งเสริมให้เด็กๆ ได้กินผักผลไม้พื้นบ้านของไทยมากๆ เพราะมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถหาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูก” นายพิทยากล่าว
ทางด้าน ครูดนุโชติ ชัยชะนะ หัวหน้ากลุ่มงานอนามัย โรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืนเปิดเผยว่า วิธีการที่จะทำให้เด็กรู้จักกินหวานอย่างพอเพียงและได้ประโยชน์ จะต้องทำให้ให้เด็กสนุกและคุ้นชินกับการกินผักและผลไม้ จึงได้คิดเมนูพิเศษขึ้นโดยใช้ชื่อว่า“สองสหายกลายร่าง” ซึ่งเป็นเมนูขนมไทยประยุกต์ที่ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเด็กๆ
“สองสหายกลายร่าง เป็นการนำผลไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นจำนวนสองชนิดได้แก่ ฟักทอง และแตงไทย นำมาผสานกับความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับวิธีการทำขนมฟักทอง และขนมแตงไทย ให้ออกมาเป็นเมนูสองสหายกลายร่าง ซึ่งมีสี กลิ่นและรสชาติที่ลงตัว เหมาะให้เด็กบริโภคเป็นขนมหรืออาหารว่าง เพราะมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์และมีรสหวานที่ได้จากส่วนผสมธรรมชาติจากผลไม้พื้นบ้านของไทย” ครูอนุโชติกล่าว
เด็กนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาที่ปี 4-5 จะได้ฝึกทำขนมสองสหายกลายร่างด้วยตนเอง แล้วนำไปให้น้องๆ ชั้นเรียนอื่นได้ทานเป็นของว่าง โดยวิธีการทำก็ง่ายไม่ยุ่งยาก เริ่มต้นด้วยการเตรียมส่วนประกอบสำคัญได้แก่ แตงไทย ฟักทอง แป้งมัน แป้งข้าวจ้าว กะทิเล็กน้อย เกลือ และน้ำตาลอีกนิดหน่อย นำส่วนผสมไปบดและคลุกเคล้า แล้วนำไปนึ่งอีกประมาณ 10 นาที โรยหน้าด้วยมะพร้าวขูดฝอย เพียงเท่านี้ เด็กๆ ก็ได้เรียนรู้วิธีการทำขนมที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และได้เรียนรู้ว่าคุณค่าทางโภชนาการของส่วนผสมแต่ละอย่างไปพร้อมๆ กัน
นอกจากการจัดเมนูอาหารที่ให้ความหวานอย่างพอเพียงแก่เด็กๆ แล้ว ทางโรงเรียนวัดเชียงยืนยังขอความร่วมมือจากร้านค้าภายในโรงเรียนให้ขายขนมที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กๆ โดย นางวัฒนา ชัยเจริญ หรือ “ป้าต๋อย” เจ้าขายร้านขายขนมในโรงเรียนฯ กล่าวว่าเมื่อได้รับการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการกินอาหารที่เป็นประโยชน์ และโทษของการกินหวาน จึงได้หันมาขายแต่ขนมที่มีประโยชน์ ลดน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่ายให้กับเด็กๆ แทน
“ป้าเป็นห่วงสุขภาพของเด็ก เพราะเราขายตรงนี้มานาน จึงได้ปรับเปลี่ยนของที่ขายโดยในน้ำผลไม้ก็ลดน้ำตาลลงครึ่งหนึ่ง เลือกขายแต่ขนมที่หวานน้อย ซึ่งผลที่ได้รับนอกจากเด็กจะมีสุขภาพดี ทางร้านยังสามารถลดต้นทุนการใช้น้ำตาลทรายลงได้กว่าหนึ่งเท่าตัว” ป้าต๋อยระบุ
การนำผักและผลไม้ในท้องถิ่นมาประยุกต์เป็นเมนูสุขภาพที่มีความหวานน้อยแก่เด็ก นอกจากจะเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ถูกต้องแล้ว ยังทำให้เด็กได้เห็นถึงประโยชน์จากการบริโภคอาหารประจำท้องถิ่นที่สามารถหาซื้อได้ง่ายและมีราคาย่อมเยานอกจากนี้ทางโรงเรียนวัดเชียงยืนยังได้ตอกย้ำพฤติกรรมการกินผักด้วยการจัด “ตลาดนัดผักปลอดสารพิษ” ทุกวันศุกร์ เพื่อให้ผู้ปกครองได้ซื้อหาผักปลอดสารนำไปประกอบอาหารให้เด็กทานในช่วงวันหยุด ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ปกครองเป็นอย่างดี
ทันตแพทย์หญิงจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. เปิดเผยว่า เด็กไทยในปัจจุบันบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 20 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเกินกว่าความจำเป็นที่ร่างกายต้องการถึง 3 เท่า ปัญหาอันดับแรกที่เกิดขึ้นก็คือโรคฟันผุ ซึ่งได้เกิดขึ้นกับเด็กอายุเพียง 3 ขวบเท่านั้น อันเป็นผลมาจากได้รับการดูแลด้านโภชนาการที่ไม่เหมาะสมและถูกต้องตั้งแต่แรกเกิด
“การสร้างนิสัยไม่กินหวานแก่เด็กตั้งแต่ก่อนวัยเรียน จึงเป็นการปลูกฝังพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้องได้อย่างสัมฤทธิ์ผล เพราะพฤติกรรมการกินหรือนิสัยในการบริโภคที่ถูกต้องจะถูกปลูกฝังตั้งแต่ในวันเด็กและจะติดตัวต่อเนื่องไปจนโตเป็นผู้ใหญ่” ทันตแพทย์หญิงจันทนาสรุป.
ผู้ส่ง : Punnda
เบอร์โทรศัพท์ : 0813580687