กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--สสส.
“ในยามเจ็บป่วย ประชาชนที่อาศัยอยู่ในระดับตำบลอยากพบเห็นพยาบาลคอยให้บริการและคำปรึกษาแก่ผู้ป่วยอยู่ในสถานีอนามัย”
เสียงสะท้อนจากชาวบ้านที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลการให้บริการด้านสุขภาพ แสดงให้เห็นว่าการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานของคนไทยในสังคมปัจจุบันนั้นยังขาดความเท่าเทียมกันระหว่างชุมชนเมืองและชนบท
เพื่อให้ประชาชนทุกระดับได้รับการบริการด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียมกันจากพยาบาลวิชาชีพที่สามารถเข้าถึง และเข้าใจผู้ป่วยมากที่สุด คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้จัด “โครงการสร้างพยาบาลของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อให้โอกาสให้กับเยาวชนในท้องถิ่นได้รับการศึกษาและพัฒนาตนเองให้เป็นพยาบาลวิชาชีพที่มีความรู้ความสามารถ กลับไปให้บริการในท้องถิ่นของตนเอง
นางเบญจมาภรณ์ จันทรพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพและบริการสุขภาพ สสส. เปิดเผยถึงโครงการผลิตพยาบาลของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชนว่า เป็นกระบวนการสร้างความยั่งยืนด้านสุขภาพให้แก่ชุมชนระดับปฐมภูมิ โดยใช้กลไก 3 ประสาน ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้สนับสนุนค่าเล่าเรียนส่วนหนึ่ง สถาบันการศึกษาเป็นผู้จัดการเรื่องหลักสูตรและมาตรฐานการเรียนการสอน สุดท้ายคือสถานรักษาพยาบาลในชุมชนที่จะรับเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่
“การให้เยาวชนในท้องถิ่น มีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้วิชาการพยาบาล เป็นการสร้างบุคลากรด้านวิชาชีพพยาบาล ให้กลับไปดูแลสุขภาพของคนในชุมชนได้อย่างรอบด้าน และเป็นองค์รวมมากยิ่งขึ้น เพราะแทนที่จะรักษาอยู่แต่ในโรงพยาบาล เขาจะสามารถออกไปดูแลตามบ้าน โดยอาศัยพื้นฐานความรักความห่วงใยและความเข้าใจวิถีชีวิตของคนในชุมชนเดียวกัน แล้วนำไปประยุกต์เป็นวิธีการบริการด้านสุขภาพให้เหมาะสม” นางเบญจมาภรณ์ กล่าว
ด้าน รศ.วิลาวัณย์ เสนารัตน์ ประธานกรรมการโครงการฯ กล่าวว่า ทางคณะพยาบาลศาสตร์ตระหนักถึงการให้บริการพยาบาลที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของท้องถิ่น จึงได้จัดโครงการผลิตบัณฑิตพยาบาลเพื่อการพัฒนาสุขภาพชุมชนอย่างยั่งยืน โดยคัดเลือกตัวแทนจากท้องถิ่นต่างๆ ในพื้นที่ 17 จังหวัดทางภาคเหนือ เข้ารับการศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่จบการศึกษาแล้วจะต้องกลับไปให้บริการทางสุขภาพแก่คนในชุมชนของตนเอง
“นักศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อชุมชน อาศัยอยู่ในชุมชนตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และผ่านเกณฑ์การพิจารณาจากคณะกรรมการแล้วว่ามีระดับความรู้ความสามารถที่จะศึกษาวิชาการพยาบาลได้ โดยมีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.50 ทั้งนี้หลักสูตรการเรียนการสอนเป็นหลักสูตรเดียวกับนักศึกษาพยาบาลทั่วไป เพื่อจะได้มาตรฐานพยาบาลวิชาชีพที่มีคุณภาพไม่แตกต่างกัน” รศ.วิลาวัณย์กล่าว
ในระหว่างการเรียนตามหลักสูตรของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาในโครงการนี้จะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในช่วงปิดภาคเรียน โดย ผศ.ดร.ยุวยงค์ จันทรวิจิตร กรรมการและอาจารย์ที่ปรึกษาของโครงการฯ ระบุว่า “ในช่วงปิดภาคเรียนนักศึกษาจะต้องกลับไปเก็บข้อมูลในชุมชนของตนเองในแง่มุมต่างๆ อาทิ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ผังเครือญาติ แผนที่ เพื่อให้มีความรู้ในด้านสภาพแวดล้อมของชุมชน เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ก็จะให้ทำงานร่วมกับสถานบริการสุขภาพในชุมชน ในปีที่ 3 ก็จะให้ทดลองออกแบบการให้บริการในชุมชน โดยใช้ปัญหาและความต้องการของชุมชนตนเองเป็นหลักคิด ซึ่งเป็นการทำงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการรักษาพยาบาล”
นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ ส่วนใหญ่จะมาจากพื้นที่ชนบทในจังหวัดภาคเหนือที่ยังขาดแคลนในเรื่องของระบบการให้บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน โดยทุกคนให้เหตุผลในการเข้าร่วมโครงการเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากกลับไปช่วยเหลือคนในชุมชนของตนเองให้ได้รับบริการด้านสุขภาพที่ดีและเหมาะสม เช่น น.ส.ทราย แซ่ว้าง หรือ “น้องทราย”นักศึกษาชั้นปีที่ 1 บอกว่ามาสมัครเข้าเรียนวิชาการพยาบาล เพื่อที่จะกลับไปรับใช้ชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก องค์การบริหารส่วนตำบลนาไร่หลวง อ.สองแคว จ.น่าน
“ที่ผ่านมาเวลาไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย บางครั้งยังได้รับบริการด้านสุขภาพไม่เพียงพอที่จะสามารถกลับไปดูแลตนเองได้ โดยเฉพาะความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและภาษา ทำให้การรักษาในแต่ละครั้งมีความยุ่งยาก ซึ่งหากตนได้กลับไปเป็นพยาบาลของชุมชน ก็จะสามารถช่วยเหลือพี่น้องในชุมชนได้มากขึ้น”น้องทรายระบุถึงสภาพปัญหาในชุมชน
ด้าน น.ส.ปราณี เขตจรัสแสง หรือ “น้องแหวว” นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลตำบลอมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เล่าถึงปัญหาที่พบในสถานพยาบาลในชุมชนของตนเองว่ามีแพทย์และพยาบาลไม่เพียงพอ ทั้งยังเป็นคนจากต่างถิ่นเมื่อถึงวันหยุดก็จะกลับบ้าน
“การเจ็บป่วยของคนในชุมชนไม่มีวันหยุด หากเจ็บป่วยในช่วงที่ไม่มีหมอหรือพยาบาลก็จะลำบากมาก ต้องไปรักษาที่ตัวอำเภอ หรือตัวจังหวัด ซึ่งหากจบการศึกษาแล้วกลับไปทำงานเป็นพยาบาลวิชาชีพดูแลคนในชุมชน ก็จะช่วยให้คนในชุมชนมีความอุ่นใจ ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีใครดูแลในยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน” น้องแหววกล่าว
“การสร้างพยาบาลของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ทางคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำหนดเป้าหมายไว้ว่า จะคืนกำไรสู่สังคมด้วยการสร้างพยาบาลชุมชนให้เกิดขึ้นอย่างน้อย 1 คน ต่อ 1 ตำบล เพราะไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหน ก็ควรจะได้รับบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างเสริมพื้นฐานสุขภาพในระดับปฐมภูมิให้แข็งแกร่ง เพื่อให้คนในชุมชนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ต่อไป” รศ.วิลาวัณย์ เสนารัตน์ ประธานกรรมการโครงการฯ กล่าวสรุป
ผู้ส่ง : Punnda
เบอร์โทรศัพท์ : 0813580687