เพราะรักจึงจับ...บังคับใช้วินัยจราจรลดอุบัติภัยบนท้องถนน สสส. จับมือ ตำรวจเมืองลำพูน ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

ข่าวทั่วไป Friday November 28, 2008 10:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--สสส. ประเทศไทยมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจรสูงถึงปีละกว่า 100,000 ราย มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 12,000 ราย และบาดเจ็บสาหัสกว่า 17,000 ราย ซึ่งอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็ง ซึ่งสำนักเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ ได้มีการประเมินมูลค่าความเสียหายไว้สูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปีหรือเกือบครึ่งหนึ่งของ GDP ทั้งหมดของประเทศ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงร่วมกันจัด “โครงการกวดขันวินัยจราจรและลดอุบัติเหตุ” โดยกำหนดให้จังหวัดลำพูนเป็นพื้นที่นำร่อง และมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุนเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ระบุว่า 10 ปีที่ผ่านมาตัวเลขของอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด การสูญเสียก็เพิ่มขึ้นพร้อมๆ กับจำนวนยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นปีละกว่า 2 ล้านคัน แต่ในช่วง 2-3 ปีนี้ความสูญเสียเริ่มลดลงเพราะมีการรณรงค์อย่างจริงจัง อัตราการเสียชีวิตต่อแสนลดลงจาก 21 เหลือเพียง 19 ซึ่งยังนับว่าสูงเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งมีเพียง 8 เท่านั้น ทุกฝ่ายจึงต้องหาทางลดความสูญเสียต่างๆ จากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้มากกว่านี้ “ปัจจัย ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุคือ คน รถ ถนนและสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหา 3 องค์ประกอบนี้ต้องใช้ผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ เข้ามาร่วมกันดูแล ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือคนที่ทำงานทางด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายถือเป็นมาตรการอันดับต้นๆ ที่มีความสำคัญในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน” ดร.สุปรีดา กล่าว “โครงการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนและกวดขันวินัยจราจร” เป็นโครงการของสถานีตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน ที่ประสบความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตบนท้องถนนด้วยการนำหลัก 6 Es มาใช้ในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังซึ่งประกอบด้วย 1.การบังคับการใช้กฎหมาย (Enforcement) 2.การให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม (Education, Public Relation & Participation) 3.การให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency Medical Service) 4.การวิศวกรรมจราจร (Engineering) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงถนนติดตั้งเครื่องหมายสัญญาณเตือน 5.การพัฒนาบุคลากร (Empowerment) และการบริหารจัดการ (Management) จัดประชุมติดตามผลการปฏิบัติเป็นประจำทุกเดือนและ 6.การประเมินผลและสารสนเทศ (Evaluation and Information) โครงการนี้ได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เน้น หนักไปที่การกวดขันวินัยจราจรโดยจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างจริงจัง พร้อมกับดำเนินการประชาสัมพันธ์เชิงรุกจัดทำสื่อรณรงค์เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ อบรมให้ความรู้ด้านการจราจรและการป้องกันอุบัติเหตุทั้งในส่วนของประชาชนและนักเรียนนักศึกษา แก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ติดตามสถิติการเกิดอุบัติเหตุและวางแนวทางแก้ไขทันทีฯลฯ พ.ต.ท.อนุวัตร คำสาร สารวัตรจราจร สภ.อ.เมืองลำพูนกล่าวว่า จากการติดตามสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองลำพูน พบกว่าจะเกิดในพื้นที่ๆ เป็นทางตรง มากกว่าทางโค้ง และพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุก็มาจากการขับรถเร็ว การแซงอย่างไม่ปลอดภัย การตัดหน้า เมาแล้วขับ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วตามหลักของ 6 Es พบว่าสาเหตุเหล่านี้เกิดขึ้นจากคน แสดงให้เห็นว่าผู้ขับขี่มีความประมาท “แนวทางในการแก้ปัญหาจึงมุ่งเน้นไปที่ เรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของเรื่องความปลอดภัย และการเคารพกฎจราจร ถ้าไม่อยากถูกจับก็ต้องปฏิบัติตามกฎ ในส่วนของการให้ความรู้นั้นก็มุ่งเน้นไปที่เยาวชนโดยเข้าไปบรรยายให้ความรู้ในโรงเรียนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเรายังมีการจัดรายการวิทยุทางคลื่น FM 107.5 MHz ทุกวันอังคารและวันพุธเพื่อให้ ประชาชนทั่วไปได้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกนายทำความเข้าใจกับประชาชนถึงเหตุผลของการตั้งจุดตรวจต่างๆ” สารวัตรอนุวัตรกล่าว ในเรื่องของการเข้มงวดกวดขันด้านวินัยจราจร ทุกๆ วันจะมีจุดตรวจกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของเขตเทศบาล โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยสลับสับเปลี่ยนจุดตรวจกันไปในแต่ละวัน ซึ่ง ร.ต.อ. สว่าง ธริญาติ รองสารวัตรจราจร สภ.อ.เมืองลำพูน หัวหน้าชุดปฏิบัติการเปิดเผยว่าการตั้งจุดตรวจเข้มจะมีเจ้าหน้าที่ 3 ชุด จำนวน 30 นายทำหน้าที่ทุกวันหมุนเวียนไปในแต่ละพื้นที่ ตรวจเข้มอย่างน้อย 3 จุดทุกวัน ปัญหาที่พบมากที่สุดก็คือประชาชนไม่นิยมสวมหมวกกันน็อค ซึ่งก่อนที่จะมีโครงการนี้พบว่าผู้ขับขี่มากกว่าร้อยละ 60 ไม่สวมหมวก “แต่เมื่อเราเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และมีการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน โดยให้เหตุผลว่าเพราะเราเป็นห่วงในชีวิตและทรัพย์สินของทุกๆ ท่าน สิ่งที่เกิดขึ้นคืออุบัติเหตุที่พบก็ลดความรุนแรงลง แม้ว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุอาจจะไม่ลดลงแต่การเจ็บหรือเสียงชีวิตลดลง เมื่อก่อนขี่มอเตอร์ไซค์มา 10 คัน เจอไม่สวมหมวกกันน็อค 5 คัน แต่ตอนนี้ลดลงเหลือแค่ 10-20 % เท่านั้น ความรุนแรงของอุบัติเหตุก็ลดลงเพราะใส่หมวกกันน๊อค มีเครื่องป้องกัน มีความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็อยากทำงานให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ มากกว่านี้ แต่ติดปัญหาเรื่องอุปกรณ์ในการทำงานอย่างไฟฟ้าส่องสว่าง เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ และเครื่องตรวจวัดความเร็วซึ่งมีไม่เพียงพอและค่อนข้างล้าสมัย” รอง สว.จร.ระบุ การบังคับใช้กฎหมายควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ให้คนในสังคมตระหนักและเห็นความสำคัญของการเคารพกฎหมาย เคารพกฎจราจร เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการที่จะช่วยลดจำนวนความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางถนนลงได้ ซึ่งการทำงานอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วนในจังหวัดลำพูนทำให้ตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจำนวนผู้กระทำผิดกฎจราจรก็ลดลงเช่นกัน โดยตัวเลขของผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยที่พบในช่วงไตรมาสที่ 1 เดือน ต.ค.-ธ.ค.50 กว่า 6,675 ราย ลดลงเหลือเพียง 4,529 ราย เมื่อเทียบกับในช่วงไตรมาสที่ 3 เดือน เม.ย.-มิ.ย.51 นอกจากนี้ตัวเลขของผู้ขับขี่ขณะเมาสุราก็ลดลงจาก 123 ราย เหลือเพียง 7 ราย และจำนวนของผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตก็ลดลงจาก 6,482 เหลือเพียง 3,066 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกัน “แผนงานของ สสส. ในปีหน้าจะเน้นการทำงานลงไปในระดับพื้นที่ เพราะเราเห็นว่าจุดแตกหักของปัญหาต่างๆ อยู่ในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ต่างๆ หรือถนนสายรองในชนบทก็ยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะอุบัติเหตุจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ เราเองจึงพยายามเร่งที่จะขันนอตในจุดที่ยังเป็นชองว่างของพื้นที่ในชนบท โดยจะลงไปทำงานร่วมกับองค์กรบริหารสวนตำบลต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุให้มากขึ้น ส่วนการทำงานในเชิงนโยบายและในระดับจังหวัดก็ยังคงเข้มข้นเหมือนเดิม แต่ไปเพิ่มพื้นที่การทำงานอย่างจริงจังมากขึ้น” ดร.สุปรีดา กล่าวสรุป. ผู้ส่ง : Punnda เบอร์โทรศัพท์ : 0813580687

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ