สสส. หนุนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ สร้างรายได้เพิ่มเสริมการพึ่งพาตนเอง

ข่าวทั่วไป Friday November 28, 2008 10:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--สสส. ชาวนาไทยทั่วทุกภูมิภาคของประเทศในอดีตล้วนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับวัฒนธรรมข้าวมาอย่างยาวนาน มีการคิดค้นและพัฒนาระบบการเกษตรที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพทางภูมิศาสตร์ ก่อให้เกิดพันธุ์พืชและพันธุ์ข้าวจำนวนมากมายนับหมื่นสายพันธุ์ที่มีความเหมาะสมตามภูมิประเทศทั้งภูเขา ที่ดอน ที่ลุ่ม หรือที่ชุ่มน้ำ ทำให้ผู้คนที่อยู่อาศัยในสภาพพื้นที่ๆ แตกต่างกันสามารถปลูกข้าวกินได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นความหลากหลายทางพันธุกรรมก็คือความมั่นคงทางทรัพยากรอาหารของท้องถิ่น และเป็นฐานทรัพยากรของชุมชน ซึ่งมีความสำคัญต่อการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรไทยมาเนิ่นนาน จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติเขียว (Green revolution: พ.ศ.2503) ที่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีการส่งเสริมการปลูกข้าวเพียงไม่กี่ชนิดเพื่อการส่งออก เกษตรกรไม่จำเป็นต้องแสวงหาและคัดเลือกสายพันธุ์ด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการทำลายพันธุกรรมพืชพื้นบ้าน เมล็ดพันธุ์ข้าวต่างๆ สูญหายไปจากระบบและพบว่าไปอยู่ในธนาคารเมล็ดพันธุ์ในต่างประเทศซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ใหม่แล้วนำกลับมาขายในลักษณะผูกขาดทำกำไรทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และสารเคมี ที่ต้องใช้ร่วมกันเพื่อให้ได้ผลผลิตในปริมาณที่ต้องการ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดสุรินทร์ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการส่งเสริมด้านการเกษตรยั่งยืน จึงได้ร่วมกับ กลุ่มเกษตรธรรมชาติตำบลทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำ “โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้าน” โดยการสำรวจข้อมูลพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน รวบรวมจัดเก็บ พัฒนา และขยายพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ ลดการนำเข้าหรือซื้อเมล็ดพันธุ์จากเอกชน และช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้จัดการแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่าที่ผ่านมาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านของไทยนั้นสูญหายไปจากการส่งเสริมข้าวพันธุ์ใหม่ที่เน้นในเรื่องของปริมาณและผลผลิต ทั้งๆ ที่พันธุ์ข้าวพื้นบ้านของเรานั้นมีคุณค่าทางโภชนาการ วิตามิน สารอาหารต่างๆ สูงมาก จึงมีการส่งเสริมให้มีการรื้อฟื้นนำข้าวพันธุ์เหล่านี้มาปลูก ในด้านหนึ่งก็ตอบสนองต่อเรื่องโภชนาการเพราะมีคุณค่าทางอาหาร อีกด้านหนึ่งก็คือลดต้นทุนการผลิตเพราะไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยและสารเคมี “โครงการนี้จะทำให้เกิดการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรไทยในระยะยาว โดยไม่ต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากเอกชนหรือบริษัทข้ามชาติซึ่งมีราคาแพง และต้องใช้ปุ๋ย ใช้ยา ในปริมาณที่สูง ทำให้เกษตรกรต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปอีก ข้อดีอย่างแรกก็คือชาวบ้านได้กินข้าวที่มีคุณค่าทางอาหารสูง สองคือลดต้นทุนการผลิตเพราะพันธุ์ข้าวพื้นบ้านส่วนใหญ่ถูกปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพนิเวศน์ของท้องถิ่น จึงไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยและสารเคมี” นายวิฑูรย์กล่าวย้ำ นายอารัติ แสงอุบล ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.สุรินทร์ เผยว่า ทางคณะทำงานมีแนวทางในการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ในระบบเกษตรยั่งยืนให้กับเกษตรกรในพื้นที่ด้วยการปลูกพืชที่หลากหลาย ให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองได้โดยใช้พันธุกรรมในท้องถิ่นที่เหมาะสมและสอดคล้องกับชุมชน ซึ่งตำบลทมอ อำเภอปราสาท เป็นเครือข่ายเกษตรกรแห่งแรกที่ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็น “กลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์” ได้เป็นผลสำเร็จ โดยมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้กว่า 35 ครอบครัว ซึ่งเป็นนักอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวถึง 15 ครอบครัว มีพื้นที่ใช้ในคัดและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ประมาณ 60 ไร่ สำหรับผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้กับสมาชิก “ทุกวันนี้ชาวบ้านมีบทบาทในการจัดการพันธุ์ข้าวของตนเองน้อยลงทุกทีตามนโยบายด้านการเกษตรแผนใหม่ ซึ่งทำให้มีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงขึ้น หากชาวบ้านผลิตและพัฒนาพันธุ์ข้าวได้เองผลที่ได้ก็คือประหยัดค่าใช้จ่าย เกษตรกรมีความสามารถในการคัดและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวนั้นให้เป็นข้าวที่มีคุณภาพ ทำให้ขายข้าวได้ในราคาที่ดี นอกจากนี้ชาวบ้านก็ยังสามารถขายเมล็ดพันธุ์ให้กับเพื่อนบ้านในชุมชนได้ และยังทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรในท้องถิ่นกลับคืนมาสู่ชุมชน” นายอารัติกล่าว ด้าน นายภาคภูมิ อินทร์แป้น เกษตรกรนักพัฒนาพันธุ์ข้าว บ้านโดนเลงใต้ ตำบลทมอ เล่าให้ฟังว่าได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเกษตรกรรมทางเลือกมาตั้งแต่ปี 2543 มีอาชีพหลักคือทำนาปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์โดยพัฒนาพันธุ์ข้าวใช้เองทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ ได้กินอาหารที่ปลอดภัย และช่วยให้ลดต้นทุนการผลิตทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ยและสารเคมี ซึ่งปัจจุบันมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่กำลังปลูกและพัฒนาอยู่ทั้งสิ้น 23 สายพันธุ์ “สมัยก่อนต้องเสียเงินซื้อพันธุ์ข้าว ซึ่งข้าวที่ได้มาก็ไม่บริสุทธิ์มักมีพันธุ์ข้าวอย่างอื่นปะปนมา พอมาทำพันธุ์ข้าวใช้เองข้อดีก็คือลดค่าใช้จ่าย และแก้ปัญหาเรื่องพันธุ์ข้าวอื่นปนได้ ซึ่งการพัฒนาพันธุ์นั้นชาวบ้านสามารถทำเองได้และน่าจะทำได้ดีกว่าภาครัฐด้วยซ้ำ ที่สำคัญยังสร้างให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักในการพึ่งพาตนเอง ไม่ต้องถูกผูกขาดเรื่องเมล็ดพันธุ์จากเอกชนหรือรัฐบาล” นักพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกล่าว ท่ามกลางปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก พันธุ์ข้าวพื้นบ้านถือว่าเป็นความมั่นคงด้านอาหารของชาติ เพราะในปัจจุบันมีบริษัทข้ามชาติหลายรายเข้ามามีบทบาทในการครอบครองปัจจัยการผลิตต่างๆ เมล็ดพันธุ์ข้าวจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ชาวบ้านจะต้องร่วมกันอนุรักษ์ไว้และพัฒนาต่อไป ความหลากหลายทางพันธุกรรมก็เปรียบเสมือนเป็นฐานความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นมรดกทางทรัพยากรและภูมิปัญญาของชาติ สำหรับแผนงานของ สสส.ในปี 2552 จะเน้นไปที่เรื่องของกระบวนการอาหารท้องถิ่น โดยจะรวบรวมภูมิปัญญาเกี่ยวกับอาหารที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพ ไปพร้อมๆ กับการสร้างความเชื่อมโยงของผู้คนที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะสร้างกระบวนการอาหารท้องถิ่นที่สามารถต้านทานและเผชิญหน้ากับกระแสโลกาภิวัตน์และบริโภคนิยมของการค้าในปัจจุบันให้ได้” นายวิฑูรย์กล่าวสรุป ผู้ส่ง : Punnda เบอร์โทรศัพท์ : 0813580687

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ