กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--สสส.
ปัญหาการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะที่มาพร้อมกับการขยายตัวของชุมชนเมืองได้ส่งผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สำคัญยังสร้างปัญหาให้กับหน่วยงานภาครัฐต้องสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมหาศาลในการกำจัด ไม่ว่าจะฝังกลบหรือเผาทำลาย ก็ล้วนแต่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างกรณีการประท้วงสถานที่ทิ้งขยะที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน
สุรินทร์ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาเรื่องปริมาณขยะเหมือนกับเมืองอื่นๆ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ปัญหาสำคัญที่ตามมาคือการเก็บและกำจัด โดยเฉพาะเศษอาหาร ผัก ผลไม้ ที่ถูกทิ้งรวมกับขยะชนิดอื่นๆ ทำให้เกิดการหมักหมมส่งกลิ่นเหม็นเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค เกิดสารปนเปื้อน ก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชนในทุกๆด้าน
โครงการเสริมประสิทธิภาพเกษตรกรสุรินทร์ หรือ คสป. ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์มากว่า 15 ปี ได้มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและพบว่าขยะเปียกอย่างเศษอาหาร ผัก ผลไม้ สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำหมักชีวภาพเพื่อนำไปใช้ในภาคการเกษตรได้ จึงได้เริ่มดำเนินงาน “โครงการขยะยิ้ม” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อร่วมกันจัดการปัญหาขยะ รักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคในเมืองและเกษตรกรผู้ผลิตในชนบท
นางธัญญา แสงอุบล ผู้ประสานงาน คสป. เล่าว่าโครงการขยะยิ้มเกิดขึ้นมาจากการเข้าไปส่งเสริมเรื่องเกษตรอินทรีย์ให้กับชาวบ้านแล้วพบว่าเกษตรกรมักประสบปัญหามีวัตถุดิบในท้องถิ่นไม่เพียงพอที่จะทำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพไว้ใช้ได้ตลอด ในขณะเดียวกันก็พบว่าในเทศบาลเมืองแต่ละวันจะมีขยะเฉลี่ยประมาณ 50 ตันต่อวัน ในจำนวนนี้เป็นขยะสดหรือขยะเปียกที่สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้มากถึงร้อยละ 60
“เราพบว่าปัญหาของคนเมืองคือหาที่ทิ้งขยะสดไม่ได้ ส่วนเกษตรกรคือไม่มีวัตถุดิบในการทำปุ๋ย เราจึงได้ทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างให้เกิดวงจรระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 90 ครอบครัวในเขตเทศบาล และมีเกษตรกรที่ร่วมโครงการ 50 ครอบครัว” นางธัญญากล่าว
โครงการขยะยิ้มเปิดรับสมัครสมาชิกจากประชาชนที่มาเลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ตลาดสีเขียว บริเวณสวนรักษ์ของเทศบาลเมืองสุรินทร์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 โดยได้รับความสนใจจากผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องการมีส่วนร่วมในการลดปัญหาปริมาณขยะ และยังได้มีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรที่ผลิตสินค้าปลอดสารพิษให้มีปุ๋ยชีวภาพไว้ใช้ โดยสมาชิกจะได้รับแจกถังเก็บขยะสดขนาด 10 ลิตร พร้อมกากน้ำตาล เพื่อใช้เก็บขยะจำพวกเศษอาหาร ผักและผลไม้ โดยจะต้องโรยกากน้ำตาลวันละ 1 ครั้งเพื่อหมักขยะไว้
ทุกวันพฤหัสบดีและวันศุกร์เจ้าหน้าที่ของโครงการขยะยิ้ม จะขับรถเข้าไปขอเก็บขยะเศษอาหารจากบ้านของสมาชิกที่ผ่านการหมักด้วยกากน้ำตาลแล้ว นำมารวมกันยังที่ทำการฯ เพื่อหมักต่ออีกประมาณ 1 เดือน แล้วจึงนำออกไปส่งให้กับสมาชิกที่เป็นเกษตรกร ซึ่งในแต่ละครั้งที่ออกไปเก็บจะได้ขยะประมาณ 1,000 กิโลกรัม ใน 1 เดือนเก็บได้ 8 วันซึ่งเท่ากับว่าโครงการนี้ก็มีส่วนช่วยลดขยะให้กับเทศบาลได้ถึงเดือนละ 8,000 กิโลกรัม แต่จำนวนนี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรที่เป็นสมาชิก ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งมาจากกำลังคนของคณะทำงานซึ่งมีเพียง 2 คน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในด้านวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ยังไม่เพียงพอ
นางมาลี เหลืองภัทรรักษ์ สมาชิกตลาดสีเขียวที่เข้าร่วมโครงการฯ บอกว่า ปัญหาในเทศบาลก็คือขยะไม่มีที่ทิ้ง บางครั้งก็เต็มจนล้น ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและปัญหาต่างๆ มากมาย พอมีโครงการนี้ขึ้นมาก็ทำให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการลดขยะ ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับเทศบาล ลดมลพิษ ซึ่งขยะเหล่านี้ก็จะเอาไปทำเป็นปุ๋ยให้กับเกษตรกรต่อไป
ด้าน นายศรชัย แม้ประสาท สมาชิกอีกรายหนึ่งกล่าวไปในทำนองเดียวกันว่าปัญหาขยะมักจะเป็นปัญหาของชุมชนเมืองใหญ่ๆ ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่างๆ มากมาย จังหวัดสุรินทร์เองก็มีปัญหาเรื่องสถานที่ทิ้งขยะจนเกิดการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ๆจะสร้างสถานที่ทิ้งขยะเพราะขาดระบบการจัดการที่ดี
“การแยกขยะทำให้เราสามารถลดปริมาณขยะภายในบ้านไปได้มากกว่า 70% และเกษตรกรก็จะได้ปุ๋ยไปลดต้นทุนการผลิต ทำให้เขาสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และเราเองก็มีส่วนในการช่วยคืนความสมดุลให้กับธรรมชาติด้วยขยะของเรา” นายศรชัยกล่าว
นางฉลอม จบหล้า เกษตรกรจากบ้านลำดวน ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เล่าว่าตนเองมีอาชีพหลักคือทำนาปลูกข้าว และทำสวนปลูกกล้วย มะพร้าวน้ำหอม ผักพื้นบ้านแบบเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมีทั้งหมดโดยเข้าร่วมกับร่วมกับโครงการ คสป.มานานกว่า 8 ปีแล้ว
“ปกติจะสั่งปุ๋ยครั้งละ 5-6 ถัง โดยปุ๋ยที่ได้มาจะนำไปใช้ในการหมักดินเพื่อเตรียมการเพาะปลูกพืชต่างๆ ได้ทุกชนิดทั้งนาข้าว ไม้ผล และผัก อีกส่วนหนึ่งก็จะเอาไปหมักเป็นน้ำสกัดชีวภาพหรือปุ๋ยน้ำเพื่อไปใช้รดพืชผักผลไม้ การใช้ปุ๋ยหมักทำให้ดินดี ดินร่วน ผลผลิตก็ดีกว่าเดิมเพราะเมื่อดินดีมีแร่ธาตุในดินเยอะ ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก สุขภาพก็ดีขึ้นและปลอดภัยจากสารเคมีต่างๆ” นางฉลอมกล่าว
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้จัดการแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าในปัจจุบันการเติบโตของสังคมเมืองเป็นไปอย่างรวดเร็ว คนในก็เมืองมีการบริโภคเพิ่มขึ้น ทำให้มีขยะและของเสียเป็นจำนวนมากตามมา
ผู้ส่ง : Punnda
เบอร์โทรศัพท์ : 0813580687