ไทยชู “เศรษฐกิจพอเพียง” ในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค

ข่าวทั่วไป Thursday November 9, 2006 16:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--ปชส.จร.
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปลายสัปดาห์หน้านี้ นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะเดินทางไปเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรี ครั้งที่ 18 ที่จะมีขึ้นวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2549 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม โดยไทยจะชูเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ในการประชุมครั้งนี้เพื่อตรอกย้ำว่า นโยบาย ดังกล่าวไม่ได้ขัดกับหลักการเปิดเสรี แต่จะช่วยสนับสนุนการค้าให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น
นางสาวชุติมา ได้กล่าวถึง การประชุมรัฐมนตรีเอเปคที่กำลังจะมีขึ้นว่า เนื่องจากการเจรจารอบโดฮาหยุดชะงักงัน การประชุมเอเปคครั้งนี้จึงมีความสำคัญในการที่สมาชิกจะหารือกันว่า จะช่วยฟื้นการเจรจารอบโดฮาที่ชะงักอยู่ในขณะนี้ได้อย่างไร โดยไทยจะใช้โอกาสดังกล่าวยืนยันนโยบายของรัฐบาลที่ยังคงสนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้าและการเจรจารอบโดฮา โดยใช้ปรัชญาพอเพียงเพื่อสร้างความสมดุลอย่างยั่งยืนต่อระบบเศรษฐกิจ และสนับสนุนการเปิดเสรีการค้าให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญซึ่งรัฐมนตรีเอเปคจะมีการหารือก็คือ ข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) ที่จะให้เอเปคพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีของเอเปค (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) ทั้งนี้ สมาชิกบางประเทศพยายามผลักดันให้ที่ประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปคปีนี้ตกลงที่จะให้มีการหารือเกี่ยวกับแผนการนำเอเปคไปสู่ FTA อย่างจริงจังในปีหน้าที่ออสเตรเลียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
นอกจากนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีจะมีการรับรองแผนงาน 2 เรื่องคือ แผนปฏิบัติการฮานอย หรือที่เรียกว่า Hanoi Action Plan ซึ่งกำหนดรายละเอียดแผนปฏิบัติงานช่วงต่อไปที่จะไปสู่เป้าหมายโบกอร์ และแผนการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Action Plan) ที่เอเปคจะดำเนินการร่วมกันเพื่อลดต้นทุนการทำธุรกรรมทางการค้าภายในภูมิภาคลงอีก 5% ในปี 2010 ซึ่งแผนงานดังกล่าวจะช่วยให้เอเปคเดินหน้าไปสู่เป้าหมายโบกอร์ในการเปิดเสรีการค้าการลงทุนในปี 2010 สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว และ 2020 สำหรับประเทศกำลังพัฒนา
นางสาวชุติมา กล่าวต่อว่า ในช่วงการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะมีการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีการค้าของสมาชิก เช่น จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เวียดนาม รัสเซีย เพื่อหารือปัญหาการค้าและความร่วมมือด้านต่างๆ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ