เรียนรู้ อยู่อย่างสมดุล ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และสิ่งแวดล้อม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 28, 2008 15:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ย.--ปตท. เมื่อกล่องโฟม ถุงพลาสติก ขวดน้ำ จาน ชาม แก้วน้ำพลาสติก และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีถูกใช้แล้วจะกลายเป็นขยะที่ต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 400 ปีในการย่อยสลาย ทำให้พลาสติกกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาขยะล้นโลก แต่จะทำอย่างไรในเมื่อพลาสติกยังมีความจำเป็นกับชีวิตประจำวันของเราทุกคน และยังมีประโยชน์นานัปการจนเราไม่สามารถเลิกใช้พลาสติกได้ ดังนั้นเราควรจะทำอย่างไรจึงจะสามารถอยู่กับพลาสติกและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีได้อย่างสมดุล ให้พลาสติกนำมาซึ่งประโยชน์แก่คนและไม่ก่อโทษให้กับสิ่งแวดล้อม... วันนี้น้องๆ เยาวชนจาก 7 โรงเรียนในจังหวัดระยองได้ร่วมกันค้นหาคำตอบในนิทรรศการสัญจร จากปิโตรเลียม...สู่ปิโตรเคมี ปี51 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยกลุ่ม ปตท. ได้สนับสนุนกิจกรรมนี้อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 นางปรียานุช เอกณรงค์ ผู้จัดการส่วนชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในกลุ่ม ปตท. เห็นความสำคัญของการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมีให้กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะกับเยาวชนในพื้นที่จังหวัดระยองที่จะก้าวไปเป็นบุคลากรรุ่นใหม่ในอนาคต เพื่อนำไปสู่การพัฒนาร่วมกันระหว่างชุมชน ท้องถิ่น แลภาคอุตสาหกรรม จึงได้จัดนิทรรศการสัญจร : จากปิโตรเลียม สู่ปิโตรเคมี ให้เยาวชนในจังหวัดระยอง ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับปิโตรเลียมและปิโตรเคมีมากขึ้นกว่าที่ได้เรียนรู้ในห้องเรียน ทั้งนี้ ใน 2 ปีที่ผ่านมา กิจกรรมนิทรรศการสัญจรฯ ได้เน้นการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับปิโตรเลียม และปิโตรเคมี อาทิ ต้นกำเนิดของปิโตรเลียม การขุดเจาะและสำรวจ การกลั่น/แยกส่วนประกอบของปิโตรเลียมเป็นผลิตภัณฑ์นานาชนิด รวมไปถึงอุตสาหกรรมเคมี และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีความจำเป็นกับชีวิตของคน แต่ในปีนี้นิทรรศการสัญจร จากปิโตรเลียม...สู่ปิโตรเคมี ปี51 ได้เพิ่มเติมความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการจัดการขยะจากปิโตรเคมี นวัตกรรมพลาสติกย่อยสลายได้ การผลิตพลังงานทดแทนจากผลผลิตทางการเกษตร และการจัดการกับน้ำมันที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม โดยได้แบ่งสถานีการเรียนรู้ออกเป็น 5 สถานี ได้แก่ 1. สถานีปิโตรเลียม : ขุมทรัพย์พลังงาน 2. สถานีมหัศจรรย์แห่งปิโตรเคมี 3. สถานีปิโตรเคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม 4. สถานีพลังงานไม่มีวันหมด และ5. สถานีกำจัดน้ำมันส่วนเกิน ซึ่งวิทยากรที่บรรยายและให้ความรู้ในแต่ละสถานีเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกจากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักศึกษาที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับปิโตรเลียมและปิโตรเคมีโดยตรง นางสาวรัศชนก ลำเจียกรุ่งเรือง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา หนึ่งในตัวแทนนักเรียนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนิทรรศการสัญจร จากปิโตรเลียม...สู่ปิโตรเคมี ปี51 กล่าวว่า รู้สึกสนุกมากที่ได้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เนื่องจากได้รับความรู้อย่างครบวงจร และยังเป็นเรื่องที่ไม่เคยได้เรียนในห้องเรียน และไม่เคยได้รู้จากที่ไหนมาก่อน อย่างเช่นในสถานีมหัศจรรย์แห่งปิโตรเคมี นอกจากเราจะได้เรียนรู้ว่าปิโตรเคมีคือพลาสติก โฟม และของใช้หลายๆ อย่างแล้ว ยังมีการทดลองการใช้โฟมและกล่องพลาสติกใส่อาหารที่อุณหภูมิต่างๆ โดยเมื่อเราจุ่มโฟมลงไปในน้ำมันเดือดที่มีอุณหภูมิประมาณ 250 องศาเซลเซียส โฟมจะละลายหายไปทันที ซึ่งจากผลการทดลองนี้ทำให้รู้ว่าเราต้องระมัดระวังเรื่องการใช้พลาสติก ควรเลือกใช้พลาสติกตามคุณสมบัติที่เหมาะสม คือ โฟมไม่สามารถทนความร้อนที่สูงเกิน 150 องศาเซลเซียสได้ จึงไม่เหมาะกับการใช้อาหารร้อนที่เพิ่งขึ้นจากกระทะ และไม่สามารถนำโฟมเข้าไมโครเวฟได้ ทำให้เราปลอดภัยจากการใช้พลาสติกมากขึ้น "นอกจากนี้ในสถานีปิโตรเคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม เราได้รู้จักกับการจัดการขยะพลาสติก โดยใช้หลักการ 3Rs ที่ประกอบด้วย Reduce Reuse และRecycle ซึ่งความรู้ที่ได้จากสถานีนี้ทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการ Recycle ได้อย่างถูกต้องมากขึ้น จากเดิมที่เคยเข้าใจว่าเป็นการนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วคือการนำพลาสิกใช้แล้วไปขึ้นรูปเป็นพลาสติกชิ้นใหม่ นอกจากนี้ยังได้ทราบว่าปัจจุบันนี้มีการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ เป็นพลาสติกย่อยสลายได้ที่ใช้เวลาย่อยสลายภายใน 6 เดือน จากเดิมที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 400 ปี จึงจะสามารถย่อยสลายได้ ซึ่งในครั้งนี้พี่วิทยากรได้แจกตัวอย่างพลาสติกย่อยสลายได้มาให้นำไปทดลองฝังดินเพื่อดูการย่อยสลายภายใน 6 เดือน ซึ่งเราจะนำตัวอย่างนี้กลับไปฝังและรอดูว่าจะเป็นอย่างไร" น้องรัศชนก กล่าว ด้าน นายช.ชัยชาญ ชาตะนาวิน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดป่าประดู่ กล่าวว่า ความรู้ที่ได้จากการร่วมกิจกรรมแม้จะมีบางส่วนเคยเรียนมาแล้ว เช่น การกลั่นลำดับส่วนเพื่อแยกน้ำมันดิบออกเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมชนิดต่างๆ ในสถานีปิโตรเลียม ขุมทรัพย์พลังงาน แต่การได้มาเรียนรู้อีกครั้งทำให้ผมได้ทบทวนสิ่งที่เคยเรียนมา และยิ่งทำให้มีความรู้ลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทน ในสถานีพลังงานไม่มีวันหมด ทำให้รู้จักเชื้อเพลิงทดแทนหลายชนิด ทั้งน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันไบโอดีเซลว่าสามารถผลิตขึ้นมาใหม่ได้จากผลผลิตทางการเกษตร อีกทั้งยังได้ทดลองผลิตน้ำมันไบโอดีเซล เรียนรู้กระบวนการผลิตที่ลึกซึ้ง นอกจากนี้ยังได้รู้ถึงการต่อยอดจากอุตสาหกรรมผลิตไบโอดีเซล โดยการนำกลีเซอรอลซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง และอื่นๆ อีกมากมาย รวมไปถึงอุตสาหกรรมโอลิโอเคมีคอล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมที่คล้ายกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อย่างไรก็ดี น้องรัศชนก ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่พิเศษสุดที่เรียนรู้ในวันนี้คือ การรีไซเคิลพลาสติก และการใช้พลาสติกย่อยสลายได้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก หากแต่การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ต้นเหตุนั้น เราทุกคนสามารถช่วยกันแก้ได้จากการลดการใช้ หรือ Reduce ลดการใช้พลาสติกที่ฟุ่มเฟือย ใช้เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้น การใช้พลาสติกอย่างพอเพียงจึงเป็นการอยู่ร่วมกับพลาสติกอย่างสมดุล และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด กิจกรรมปิโตรแคมป์ สู่แชมป์ปิโตร ปี51 โทร.0-2270-1350-4 e-mail : petrocamp51@hotmail.com E-mail: jibwarunee@gmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ