กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข
ย่ำค่ำวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมามีพิธีมอบ “รางวัลสุกรี เจริญสุข” ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคมสาขาการส่งเสริมการดนตรี โดยการสนับสนุนของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แก่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข โดยรางวัลดังกล่าวจะมอบทุนจำนวน 1 ล้านบาทแก่บุคคลที่ได้รับการคัดเลือก และอีก 1 ล้านบาทแก่ “มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข”
สำหรับบุคคลที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้คือ ครูสุเชาว์ หริมพานิช ครูดนตรีไทยที่เติบโตมากับดนตรีไทยแบบชาวบ้าน และต่อมาได้พัฒนาดนตรีไทยให้เดินคู่ไปกับยุคสมัยได้อย่างกลมกลืน จนได้รับการขนานนามว่า “ดุริยกวี”
ถือเป็นอีกหนึ่งเกียรติประวัติชีวิตครูดนตรีไทยของ ครูสุเชาว์ ซึ่งใช้เวลากว่าครึ่งศตวรรษคลุกคลีอยู่กับดนตรีไทย จนกระทั่งมีลูกศิษย์ลูกหามากมายในปัจจุบัน เมื่อครั้งยังเด็ก ครูสุเชาว์ติดตามบิดา ซึ่งเป็นหัวหน้าวงปี่พาทย์ไทยไปบรรเลงตามงานต่างๆ อีกทั้งคุณตาซึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวงปี่พาทย์มอญ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ทำให้ครูสุเชาว์ ได้ซึมซับเสียงดนตรีแต่วัยเยาว์ ถือได้ว่าครูสุเชาว์ เกิดมาในครอบครัวนักดนตรีสองสาย ไทยและมอญ
เมื่ออายุประมาณ 8 ปี ครูสุเชาว์เริ่มหัดเครื่องดนตรีชิ้นแรก คือ ฆ้องวงใหญ่ ตามวัฒนธรรมของดนตรีไทย โดยมีบิดาเป็นครูคนแรก และเริ่มต่อเพลงและพัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งไปบรรเลงตามงานต่างๆร่วมกับบิดา
“ผมเรียนรู้ดนตรีไทยจากการแสดงร่วมกับวงดนตรีไทยอื่นๆในสมัยนั้น ได้สัมผัส เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเพลงซึ่งกันและกัน ทำให้ได้พัฒนาฝีมือเพิ่มขึ้น วงนี้ถนัดทางนี้ ผมถนัดทางนั้น มาเล่นด้วยกัน” ครูสุเชาว์บอกเล่าถึงวิธีการเรียนรู้ดนตรีไทยในแบบชาวบ้าน ก่อนที่จะกลายมาเป็นลูกศิษย์ของครูบุญยงค์ และครูบุญยัง เกตุคง ผู้ถ่ายทอด “เพลงเดี่ยว” ต่างๆ
กระทั่งครูบุญยัง เกตุคงได้มอบ “ความเป็นครู” ให้ครูสุเชาว์ทำหน้าที่เป็นครูดนตรีไทยสานต่ออุดมการณ์ต่อไปโดยการมอบไม้ตีเครื่องดนตรีต่างๆให้ ต่อมาหลังจากได้เรียนเพลงสูงสุดและเรียนการแต่งเพลงแล้ว ครูบุญยัง เกตุคงยังได้ส่งต่อตำราไหว้ครูให้ครูสุเชาว์ และจากนั้นครูบุญยงค์ เกตุคง ก็ยังได้อนุญาตให้ครูสุเชาว์ต่อเพลงหน้าพาทย์สูงสุด คือ เพลงองค์พระพิราพ
รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานกรรมการมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข กล่าวถึง ความโดดเด่นของครูดนตรีไทยผู้นี้ว่า ครูสุเชาว์ เป็นครูดนตรีไทยที่มีความคิดก้าวหน้า มีจินตนาการ สร้างสรรค์เพลงใหม่ๆขึ้น ไม่ได้อยู่แต่ในโลกอดีต หากแต่เดินไปสู่โลกอนาคต หลุดจากขนบของดนตรีไทยแบบโบราณ น้อยคนนักที่จะสร้างสรรค์ให้ดนตรีไทยก้าวไปข้างหน้าเช่นครูสุเชาว์ ดังนั้นจึงสมควรได้รับการยกย่องจากสังคม
“การบรรเลงดนตรีไทยครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศให้มีการฟังดนตรีไทย ไม่ใช่ดนตรีไทยที่บรรเลงเพื่อประโคมในงานพิธี แต่เป็นดนตรีเพื่อการฟัง การชื่นชมเป็นดนตรีไทยที่มีอารมณ์หนักเบาของเสียงดนตรี เป็นการแสดงหน้าที่และบทบาทใหม่ของดนตรีไทย มีการสร้างงานเพลงขึ้นใหม่เพื่อการบรรเลงครั้งนี้โดยเฉพาะ” อาจารย์สุกรีกล่าวถึงความพิเศษในงานนี้
เพลงที่มีการบรรเลงแบ่งเป็น 4 รูปแบบ จากฝีมือการเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ของครุสุเชาว์ เริ่มตั้งแต่ชุด “เพลงไหว้ครูบูชาคุณ” ซึ่งต้องการแสดงให้เห็นถึงขนบประเพณีของดนตรีไทยให้คนรุ่นหลังได้เห็น ชุดที่2 ครูสุเชาว์บอกว่า เป็นเพลงที่ฟังแล้วอร่อย ด้วยการดวลระนาดทุ้ม 2 ราง กับเครื่องหนัง โดยใช้เพลงภาษาต่างๆที่ครูรุ่นก่อนแต่งขึ้น แต่นำมาเรียบเรียงใหม่ให้มีความสนุกครึกครื้นในอัตราเร็วตลอด 15 นาทีของการบรรเลง
สำหรับชุดที่ 3 ครูสุเชาว์ เรียบเรียง“เพลงทยอยเดี่ยว” อันเป็นเพลงชั้นสูงของปี่พาทย์ขึ้นมาใหม่สำหรับการเดี่ยวจะเข้ โดยได้ศิลปินรุ่นใหม่คือ อรนาถ จันทรโอภากร ผู้มีฉายาว่า “จะเข้เปรี้ยว” ซึ่งเป็นผู้ที่เคยได้รับรางวัลเหรียญทองเยาวชนดนตรีแห่งประเทศไทย และเป็นหนึ่งในนักเรียนในโครงการพรสวรรค์ศึกษา ของรศ.ดร.สุกรี เจริญสุข อรนาถได้ฝากฝีมือการเดี่ยวจะเข้ไว้ในการแสดงกับวง Dr.Sax Chamber Orchestra และในคอนเสิร์ตเดี่ยวของตนเอง
อรนาถ พูดถึงการร่วมเป็นศิลปินรับเชิญในงานนี้ว่า การได้บรรเลงเพลงทยอยเดี่ยว ถือว่าเป็นเพลงเดี่ยวที่สำคัญในบรรดาเพลงเดี่ยว ซึ่งครูสุเชาว์พูดเสมอว่า เป็นเพลงขั้นสูงสุด การบรรเลงเพลงทยอยเดี่ยว ซึ่งเป็นเพลงของปี่พาทย์ แต่นำมาเรียบเรียงใหม่สำหรับเครื่องสายเช่นจะเข้ นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก ตลอดเวลาที่ฝึกซ้อมเพลงนี้รู้สึกว่ายากมาก แต่ครูสุเชาว์ดูแล และให้กำลังใจตลอด และบอกให้เชื่อว่าเราต้องทำได้ ให้เชื่อใจในเพลง ศรัทธาเพลง ศรัทธาครู และเชื่อว่าเราจะเล่นได้” อรนาถย้อนถึงช่วงเวลาที่เริ่มฝึกซ้อมเพลงนี้ใหม่ๆ
สำหรับชุดปิดท้ายซึ่งครูสุเชาว์กล่าวว่าเป็นไฮไลท์ของงาน คือ การประชันระหว่างระนาดกับฆ้อง ใน “เพลงม้าย่องเถา” ซึ่งเป็นการโชว์เทคนิคของเครื่องดนตรีกลุ่มไม้ และกลุ่มโลหะ ที่มีของดีซ่อนอยู่ในตัวของเครื่องดนตรีแต่ละประเภท โดยได้นักดนตรีไทยรุ่นใหม่ อย่าง พารณ ยืนยง และวิศรุต ทรัพย์เจริญ ลูกศิษย์รุ่นปัจจุบันของครูสุเชาว์เป็นผู้บรรเลง ซึ่งทั้งสองบอกว่า การบรรเลงในครั้งนี้ครูสุเชาว์มีการเรียบเรียงเพลงให้ซับซ้อนมากขึ้นเป็นในทางโลดโผนแปลกไปจากเดิม มีทั้งเสียงหนัก เบา ของดนตรี ผู้ฟังน่าจะมีอารมณ์ร่วมได้มากขึ้น
นอกจากการที่จะได้ชื่นชมผลงานการสร้างเพลงใหม่ของครูสุเชาว์แล้ว การบรรเลงดนตรีไทยร่วมสมัยของครูสุเชาว์ครั้งนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ยืนยันถึงการเป็นครูดนตรีไทยผู้อนุรักษ์ และพัฒนาดนตรีไทยให้ยืนอยู่เคียงคู่กับยุคสมัยได้โดยไม่ถูกลืม และคู่ควรต่อการได้รับการยกย่องในโอกาสนี้
สิ่งที่ครูสุเชาว์ตระหนักเสมอ คือ การที่ดนตรีไทยจะต้องมีการปรับตัวให้รับกับความต้องการของผู้คนและยุคสมัยมากขึ้น และอยู่เป็นปัจจุบัน ซึ่งต้องมีความหลากหลาย มีวิวัฒนาการ เติมสีสัน เพิ่มความสนุกสนาน ดนตรีไทยจึงจะอยู่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำพูดของรศ.ดร.สุกรี ที่พูดติดตลกว่า “ดนตรีไทยของครูสุเชาว์ ไม่ได้มีแต่ ลาวดวงเดือน แต่ไปถึงลาวดาวอังคาร และ ลาวดวงอาทิตย์ด้วย เพื่อให้คนได้รู้ว่าดนตรีไทยอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้”
สำหรับพิธีมอบรางวัลสุกรี เจริญสุข นี้ เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการเชิดชูผู้ทำความดีเพื่อสังคม ของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยจะคัดเลือกองค์กรที่ทำประโยชน์ด้วยกัน 6 สาขา คือ การส่งเสริมการศึกษา การพัฒนาสังคมเมือง การพัฒนาสังคมชนบท การส่งเสริมกีฬา การส่งเสริมดนตรี การพัฒนาห้องสมุด และให้องค์กรเหล่านี้คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่อง โดยมอบทุนทรัพย์ให้สาขาละ 2 ล้านบาท กับองค์กร และบุคคลที่ได้รับการคัดเลือก.
มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข
E-mail: sukreefoundation@gmail.com