อุทยานวิทย์ฯ แนะแนว “เหนือคู่แข่งด้วยนวัตกรรม” เผยธุรกิจเทคโนโลยียังไปได้ ต้องเข้าใจลูกค้าและตลาด

ข่าวทั่วไป Tuesday December 2, 2008 12:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ธ.ค.--ทีเอ็มซี การแข่งขันของผู้ประกอบการด้านธุรกิจเทคโนโลยีในทุกวันนี้ ไม่ใช่แค่เพียงลดต้นทุน เพื่อจะได้ลดราคาสินค้าอีกต่อไปแล้ว แต่กำลังเข้าสู่ยุคของการสร้างผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงจัดงานสัมมนา Winning with “Innovation” : เหนือคู่แข่งด้วยนวัตกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการด้านธุรกิจเทคโนโลยีได้เรียนรู้กลยุทธ์การบริหารจัดการนวัตกรรม อันเป็นบันไดที่จะนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ดร.สุพัทธ์ พู่ผกา ดร.สุพัทธ์ พู่ผกา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวว่า ขณะนี้เรามีอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เป็นศูนย์รวมการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ภาคเอกชนในการทำวิจัย และพัฒนา และยังเป็นแหล่งบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ทำให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่เทคโนโลยีเหล่านั้นจะไร้ความหมาย หากไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ฉะนั้น อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จึงมีบทบาทในการสนับสนุนภาคเอกชนให้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ขององค์กรให้เกิดเป็นธุรกิจขึ้นได้ ซึ่งหมายถึงเป็นการเกิดขึ้นของนวัตกรรมด้วย นายปีเตอร์ กัน ด้าน นายปีเตอร์ กัน ประธานที่ปรึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และอดีตผู้บริหารโซนี่ มิวสิค (ประเทศไทย) กล่าวถึงเรื่องการบริหารจัดการนวัตกรรม โดยระบุว่า การสร้างสินค้าที่เป็นนวัตกรรมจะต้องมองให้ครบในสามสิ่ง คือ ประโยชน์ที่ต้องการ ความนิยมทางสังคม และความคุ้มค่า โดยต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถจำหน่ายสินค้าในตลาดได้ยาวนานขึ้น ซึ่งนวัตกรรมไม่ได้เป็นเพียงแค่ผลิตภัณฑ์ใหม่เท่านั้น แต่สามารถแบ่งได้เป็น 8 แบบคือ นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่, นวัตกรรมการใช้งาน, นวัตกรรมรูปลักษณ์, นวัตกรรมของการส่งต่อและสร้างความเข้าใจ, นวัตกรรมเพิ่มประสบการณ์, นวัตกรรมทางการตลาด, นวัตกรรมราคาและผลตอบแทน และนวัตกรรมการปรับโครงสร้าง” นายปีเตอร์ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มผู้บริโภค และพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคนั้น ในโลกนี้มีกลุ่มผู้บริโภคหลักๆ อยู่ 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มนำกระแส เมื่อมีสินค้าออกมาใหม่ก็จะซื้อทันที โดยไม่เกี่ยงเรื่องราคา 2) กลุ่มตามกระแส กลุ่มนี้จะรอดูผลตอบรับจากการใช้สินค้าของกลุ่มแรกก่อน และ 3) กลุ่มช่างคิด กลุ่มนี้จะไตร่ตรองก่อนซื้อสินค้าว่าคุ้มค่ามากแค่ไหน ซึ่งในอนาคตลูกค้ากลุ่มที่สองจะหายไป กลายไปเป็นกลุ่มที่สาม เพื่อเก็บเงินไว้สำหรับการก้าวกระโดดไปเป็นลูกค้ากลุ่มแรก ส่วนพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าก็มี 3 แบบ คือ 1)แบบสาวก ซึ่งจะติดตามซื้อสินค้าที่ใช้เป็นประจำ แม้จะยังไม่รู้รายละเอียด ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ากลุ่มแรก คิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ 2)แบบซื้อตามอารมณ์ ตามความรู้สึก คิดเป็น 31 เปอร์เซ็นต์ และ 3)แบบคิดถึงประโยชน์ที่ต้องการสูงสุด มีมากที่สุด คิดเป็น 63 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าก็จะสามารถวางแผนการ สร้างนวัตกรรมได้ง่ายขึ้น นายสัญชัย เตียวประเสริฐกุล นายสัญชัย เตียวประเสริฐกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส กล่าวว่า นวัตกรรมที่เกิดขึ้นมากมายในโลกนี้ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักเท่านั้น คือ Sustaining Innovation เป็นการปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งมีข้อดีคือเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายเพราะมีฐานการตลาดของสินค้าเดิมอยู่แล้ว เช่น การเปลี่ยนจากซีดีเป็นดีวีดี ซึ่งเป็นการสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคจึงมีโอกาสผิดพลาดน้อย ขณะที่นวัตกรรมอีกกลุ่มหนึ่งคือ Disruptive Innovation เป็นการผลิตสินค้าใหม่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งตลาดไม่คุ้นเคย จึงมีความเสี่ยงที่จะสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับศักยภาพในการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ เพราะผู้ผลิตต้องสร้างฐานการตลาดใหม่ เช่น การเปลี่ยนจากกล้องฟิล์มเป็นกล้องดิจิทัล อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้บริโภคได้ “การสร้างนวัตกรรมย่อมมาพร้อมการเปลี่ยนแปลง โดยมีปัจจัยสำคัญอยู่ที่ การมีผู้นำที่ดี ที่มองเห็นภาพอนาคตขององค์กรว่าต้องก้าวไปในทิศทางใด และคอยกระตุ้นให้สมาชิกองค์กรเดินไปสู่เป้าหมายที่เป็นความสำเร็จร่วมกัน หากประเทศไทยต้องการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมควรส่งเสริมเรื่อง การมีผู้นำที่ดี, มีผู้ร่วมลงทุน (Venture Capital: VC), มีการปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้เอื้อต่อการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ และการต่อยอดนวัตกรรมที่มีอยู่เดิม” นายสัญชัยกล่าวเพิ่มเติม ในยุคที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัวเช่นนี้ นายปีเตอร์ กัน ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีว่า ธุรกิจเทคโนโลยียังเติบโตได้อีก แต่ผู้ประกอบการต้องเข้าใจผลิตภัณฑ์และตลาด ต้องรู้จักผู้บริโภคให้ดี แล้วปรับผลิตภัณฑ์ที่มีให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายให้แม่นยำที่สุด และต้องเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วยว่าจะประหยัดขึ้น ถ้าไม่ซื้อของที่ดีสุดโต่ง ก็จะซื้อของที่ธรรมดาๆ เนื่องจากผู้บริโภคต้องการประหยัดในส่วนที่สามารถประหยัดได้ เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในสิ่งที่ต้องการมากที่สุด “สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีที่คิดนวัตกรรมชิ้นใหม่ได้ อย่ากลัวว่านวัตกรรมที่คิดขึ้นมาใหม่จะไปทำลายนวัตกรรมที่เคยคิดไว้ และกำลังจำหน่ายอยู่ในตลาด เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่กล้านำนวัตกรรมชิ้นใหม่ออกสู่ตลาดเลย ขอแค่มีความฝัน เชื่อมั่นในความฝันของตัวเอง แล้วกล้าที่จะทำตามฝัน และทำฝันนั้นให้เป็นจริง ดังคำว่า Dream-Believe-Dare-Do เพียงเท่านี้ ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล” นายปีเตอร์กล่าว งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ : คุณธณาพร (เอ็ม), คุณสุธิดา (ไก๋) โทร. 0 2270 1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166 อีเมล: prtmc@yahoo.com

แท็ก thailand   นวัตกรรม   (TMC)  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ