กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี
มาบุญครองเชื่อมั่นภูรุ้งแจ้งเกิดได้
นักวิชาการเกษตรย้ำแนวคิดการสร้างแบรนด์ภูรุ้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวหอมมะลิ
ข้าวมาบุญครองแนะ ควรจะเจาะเข้าตลาดเฉพาะกลุ่ม
กลุ่มบริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวหอมมะลิบรรจุถุง เชื่อมั่นข้าวหอมมะลิแบรนด์ใหม่ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สามารถพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคได้ ทั้งนี้เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีความนิยมบริโภคข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น
นายรุจจน์ ทรัพย์นิรันดร์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าการเปิดตัวข้าวหอมมะลิ “ภูรุ้ง” ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ หากวิเคราะห์ในเชิงการตลาดแล้ว ภูรุ้ง จะประสบความสำเร็จได้นั้นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิที่สังกัดสหกรณ์การเกษตรอำเภอกระสังข์ จะต้องเน้นคุณภาพการผลิตให้ได้ข้าวหอมมะลิที่ดี มีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ผู้บริหารสหกรณ์ฯ จะต้องนำแนวความคิดทางด้านการตลาดเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ ภูรุ้ง ด้วยเช่นกัน
รัฐบาลไทย โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินโครงการพัฒนาข้าวหอมมะลิภาคอีสาน ในการสร้างแบรนด์จากระดับท้องถิ่นสู่ระดับสากล โดยภายใต้แผนงาน กรมการค้าภายในได้กำหนดให้จังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดนำร่องในการพัฒนาโครงการดังกล่าว ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ได้กำหนดให้สหกรณ์การเกษตรอำเภอกระสังข์ เป็นชุมชนนำร่องเพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่น ๆ มาศึกษาเป็นแนวทางการพัฒนา
ภายใต้แผนการพัฒนานี้ นอกจากจะสนับสนุนให้ชุมชนสร้างแบรนด์ขึ้นมาแล้ว ยังจะดำเนินการส่งเสริมให้ชุมชนจับมือกับเครือข่ายการค้าชั้นนำเพื่อทำการกระจายสินค้าอย่างเป็นระบบ
ทางด้าน ดร. ณัฐชา เพชรดากูล จากคณะอุตสาหกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่าแบรนด์ภูรุ้งนี้ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวหอมมะลิ และหากชุมชนต่าง ๆ ได้นำแนวความคิดดังกล่าวไปพัฒนาต่อยอด ก็จะเป็นการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนแก่ข้าวหอมมะลิ
“ในโลกธุรกิจปัจจุบัน การผลิตจะต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการตลาด ดังนั้น ชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ นอกจากจะต้องพัฒนาคุณภาพแล้ว ยังจะต้องยอมรับในแนวทางการตลาดด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการยกระดับข้าวหอมมะลิ” ดร.ณัฐชากล่าว
นายรุจจน์กล่าวเพิ่มเติมว่าข้าวหอมมะลิภูรุ้ง หากจะประสบความสำเร็จ จะต้องวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของตัวเองเข้าไปเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มหรือที่เรียกว่า Niche Market ทั้งนี้เพราะข้าวหอมมะลิมีข้อจำกัดในด้านการผลิตที่สามารถปลูกได้เพียงปีละครั้งและเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดภาคอีสานเท่านั้น
ข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ วิรัตน์ ตรีรานุรัตน์
โทรศัพท์ 01 682 2575--จบ--