แกรนท์ ธอร์นตัน เผยแนวทางการรับมือภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ข่าวทั่วไป Wednesday December 3, 2008 09:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--แกรนท์ ธอร์นตัน ปี พ.ศ. 2551 เป็นปีที่ยากลำบากของทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคการเงิน ปัญหาสภาพคล่องตึงตัวรุนแรงในสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปอันนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมไปถึงการลดการให้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน วิกฤตทางการเงินเป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจและส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยนั้น สภาวะความไม่มั่นคงทางการเมืองยิ่งตอกย้ำให้สถานการณ์แย่ลง เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารและผู้ประกอบการ มร. ปีเตอร์ วอล์คเกอร์ กรรมการ ส่วนงานให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า “เราจะเห็นได้ว่ารัฐบาลในต่างประเทศทั่วโลกกำลังแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศตนด้วยแนวทางที่รุกมากขึ้น ไม่ว่าจะใช้การอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อโอบอุ้มสถาบันการเงิน ออกแนวทางการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ รวมถึงเร่งดำเนินงานโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นที่น่าเสียดายสำหรับประเทศไทยที่ การแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลไม่สามารถดำเนินไปได้ เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด ช่วงนี้จึงเป็นเวลาที่ย่ำแย่สำหรับประเทศไทยอย่างยิ่ง เพราะแทนที่ภาครัฐและเอกชนจะได้ร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับคืนมา แต่ต้องมาคอยรับมือกับปัญหาการเมือง” แนวทางการรับมือภาวะเศรษฐกิจถดถอย คำแนะนำของแกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทยที่จะให้กับผู้บริหารธุรกิจในช่วงเวลานี้คือ จะต้องใช้วิธีการเตรียมพร้อมในเชิงรุก ต้องเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อประเมินความเสี่ยงและมองโอกาสให้เห็น ภาคธุรกิจอาจสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ หากวางแผนอย่างระมัดระวัง มีวิสัยทัศน์ และมีความริเริ่มในนวัตกรรมที่มีศักยภาพ การนั่งรอคอยเวลาเพื่อให้ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยผ่านพ้นไปโดยไม่ทำอะไรเลยอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อธุรกิจ เน้นธุรกิจหลัก ช่วงเวลานี้ ควรหันมาทบทวนดูโครงสร้างทางธุรกิจขององค์กร จงให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักที่ให้ผลตอบแทนที่ สูงกว่า “มุ่งเน้นในสิ่งที่ถนัดและทำมันให้ดีที่สุด” เลือกผลิตสินค้าที่ลูกค้าต้องการไม่ใช่สินค้าที่เราอยากผลิต รักษาสภาพคล่องให้แข็งแกร่ง กระแสเงินสดเปรียบเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงธุรกิจ กระแสเงินสดนั้นมีความสำคัญมากกว่าผลกำไร เนื่องจาก กระแสเงินสดบ่งบอกถึงความมั่นคงทางการเงินที่แท้จริงของบริษัท แต่ละบริษัทควรปรับปรุงและสร้างสภาพคล่องให้แข็งแกร่งขึ้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมทั้งตรวจสอบและวางแผนกระแสเงินสดของบริษัทอย่างรัดกุม เมื่อวางแผนธุรกิจ บริษัทควรจัดทำการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress-test) และทำความเข้าใจผลกระทบของภาวะวิกฤตในรูปแบบต่างๆ ที่มีต่อสภาพคล่องของบริษัท นอกจากนี้ควรจัดทำประมาณการกระแสเงินสด ซึ่งรวมถึง ประเมินเงินสดรับและเงินสดจ่ายระยะสั้น ความต้องการในการใช้เงินสด การบริหารจัดการลูกหนี้การค้า และควรปรับปรุงระยะเวลาที่ใช้ในการแปลงยอดลูกหนี้การค้าให้เป็นเงินสดให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เมื่อเจรจากับซัพพลายเออร์ บริษัทควรต่อรองเพื่อให้ได้เงื่อนไขในการชำระเงินที่ดีที่สุด และควรพิจารณาเปรียบเทียบประโยชน์จากส่วนลดที่ได้รับจากการชำระค่าสินค้าเร็วขึ้น กับความต้องการสินเชื่อเพื่อนำมาชำระค่าสินค้า สำหรับสินค้าคงคลัง บริษัทควรขายสินค้าคงคลังที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแล้วออกไป ควรลดปริมาณสินค้าคงคลัง ลดปริมาณการลงทุนในสต็อคสินค้า และพัฒนาการบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้เหมาะสมกับธุรกิจของตน ตัวอย่างเช่น การใช้ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just-in-time) ควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเศรษฐกิจขาลง บริษัทส่วนใหญ่มักจะทำทุกทางเพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อให้สามารถรักษาผลกำไรที่มีอยู่ไว้ได้ และเพิ่มสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม บริษัทควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายคงที่และค่าใช้จ่ายผันแปร และอย่ามองข้ามหนี้สินที่ต้องชำระที่ยังไม่ปรากฏในงบดุลของบริษัท อีกทั้งควรวางนโยบายที่ส่งเสริมและสนับสนุนการประหยัดค่าใช้จ่ายและการแปลงยอดลูกหนี้การค้าให้เป็นเงินสดให้เร็วขึ้น บริษัทไม่ควรลดค่าใช้จ่ายทางการตลาดลงทันทีเมื่อต้องการควบคุมค่าใช้จ่าย เนื่องจากการลดค่าใช้จ่ายดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อความได้เปรียบทางธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงตลาดขาขึ้น ฐานข้อมูลต้นทุนมีความสำคัญต่อการควบคุมค่าใช้จ่าย บริษัทควรมีฐานข้อมูลต้นทุนและปรับปรุงข้อมูลให้ใหม่และทันเหตุการณ์เสมอ การใช้ฐานข้อมูลที่มีการปรับปรุงข้อมูลอยู่เสมอจะทำให้บริษัทสามารถวิเคราะห์ต้นทุนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยทำให้การตัดสินใจในเรื่องค่าใช้จ่ายชัดเจนขึ้น รักษาลูกค้ารายสำคัญ ในช่วงเวลาที่ยอดขายลดลง คู่แข่งอาจเพิ่มความพยายามและแข่งขันอย่างดุเดือดขึ้นเพื่อแย่งลูกค้าของเราบริษัทต้องสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับลูกค้ารายสำคัญ วิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าและพยายามปรับปรุงคุณภาพในการให้บริการ เช่น เสนอการให้บริการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าลดจำนวนสินค้าคงคลังลง โดยที่บริษัทของเราไม่จำเป็นต้องลดราคาสินค้า ทั้งนี้ กลยุทธ์บริหารลูกค้าสัมพันธ์มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ลูกค้าอยู่กับเรานาน สำหรับซัพพลายเออร์นั้น บริษัทควรประเมินความสำคัญและความต้องการซัพพลายเออร์แต่ละราย เพื่อจะได้ทราบถึงจำนวนที่แน่นอนของซัพพลายเออร์ที่บริษัทต้องการ และการขยายฐานซัพพลายเออร์ หรือการเปลี่ยนซัพพลายเออร์อาจมีความจำเป็น หากซัพพลายเออร์ปัจจุบันขาดความมั่นคงทางการเงินพิจารณาแผนการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรอย่างรอบคอบ บริษัทไม่ควรหยุดการลงทุน แม้ในสภาพเศรษฐกิจผันผวนและมีความไม่แน่นอน บริษัทควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีศักยภาพที่จะสร้างรายได้สูงให้กับบริษัทในอนาคตอันใกล้ เลื่อนการลงทุนในนวัตกรรมที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะก่อให้เกิดรายได้ออกไป แต่ส่งเสริมการลงทุนในนวัตกรรมที่สามารถเพิ่มรายได้ให้บริษัทในระยะเวลาอันใกล้และทำให้กระแสเงินสดของบริษัทดีขึ้น อย่ายกเลิกการลงทุน หากการลงทุนนั้นมีความจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท นอกจากนี้บริษัทอาจพิจารณาขอสินเชื่อเพื่อซื้อสินทรัพย์ถาวรเพื่อเป็นการรักษาเงินสด สื่อสารกับเจ้าหนี้ รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคารไว้เสมอ บริษัทควรปฏิบัติต่อธนาคารเช่นเดียวกับลูกค้าหรือซัพพลายเออร์ กล่าวคือบริษัทจะต้องแจ้งทางธนาคารให้ทราบถึงสภาวการณ์ของบริษัท อุตสาหกรรม และคู่แข่ง และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อธนาคาร เมื่อบริษัทมีความจำเป็นจะต้องกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น ให้วางแผนล่วงหน้า และควรแจ้งให้ธนาคารทราบถึงปัญหาของบริษัทก่อนมากกว่าที่จะให้ธนาคารเป็นผู้ค้นพบปัญหาต่างๆ เอง อีกทั้งบริษัทควรสร้างความมั่นใจว่าสินเชื่อที่มีอยู่ เพียงพอต่อความต้องการเพื่อดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ วางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล บริษัทควรมียุทธ์ศาสตร์ในการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล โดยให้ความสนใจกับความสามารถในการผลิตและการบริหารทรัพยากรส่วนเกิน ทบทวนผลงานของพนักงาน และดูแลพนักงานที่มีผลงานที่ดีและมีความซื่อสัตย์ต่อบริษัท ถ้าบริษัทต้องรักษาพนักงานส่วนเกินไว้ จงเจรจาเพื่อลดชั่วโมงการทำงานหรือค่าตอบแทนลง นอกจากนี้ บริษัทควรที่จะจัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการเติบโตในอนาคตให้แก่บุคลากรส่วนเกิน การรักษาบุคคลากรก็เป็นสิ่งที่จำเป็นในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้นผู้บริหารควรที่จะแสดงให้พนักงานเห็นว่าบุคคลากรคือสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของบริษัท ผู้บริหารไม่ควรพูดอย่างเดียว แต่ควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลอย่างจริงจัง และลงมือดำเนินการทันที หลีกเลี่ยงการบริหารจัดการที่ลงรายละเอียดจนจุกจิกเกินความจำเป็น แม้ว่าการลงรายละเอียดอาจทำให้ดูเหมือนกับได้ทำอะไรบางอย่างเพื่อรับมือกับวิกฤต จงให้ความสำคัญและเน้นการจัดการปัญหาหลักๆ กำหนดทิศทางในการบริหารจัดการที่ชัดเจน และให้พนักงานและผู้จัดการดำเนินการต่อไป มองหาสินทรัพย์คุณภาพราคาไม่แพง เมื่อตลาดสินเชื่อหดตัวลง บริษัทบางแห่งเริ่มประสบปัญหาสภาพคล่อง และต้องการขายสินทรัพย์บางอย่างออกไปเพื่อระดมเงินสด หรือต้องการลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ โดยรักษาธุรกิจหลักไว้ และให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจหลักดังกล่าว สภาพดังกล่าวทำให้โอกาสในการซื้อสินทรัพย์คุณภาพในราคาไม่แพงเกิดขึ้น โอกาสในการซื้อสินทรัพย์คุณภาพดีในราคาต่ำกว่าปกติมักจะเกิดขึ้นในช่วงตลาดขาลง นอกจากนี้ เนื่องจากการกู้ยืมเงินทุนนั้นสามารถทำได้ยากในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ หลายบริษัทไม่สามารถเข้าแข่งขันเพื่อซื้อบริษัทที่เป็นเป้าหมายที่น่าสนใจได้ เป็นเหตุให้สินทรัพย์ไม่ถูกปั่นราคาให้สูงเกินไป ทำให้มีโอกาสเพิ่มขึ้น ทั้งนี้บริษัทควรขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาในการหาโอกาสเพื่อซื้อสินทรัพย์คุณภาพดีและคุ้มค่าต่อการลงทุน รักษาสถานะทางการเงิน ท่านควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะตกลงเพิ่มเงินส่วนตัวลงทุนในธุรกิจ ถึงแม้ว่าท่านจะรู้สึกผูกติดกับธุรกิจของท่าน (ทั้งทางการเงินและความรู้สึก) ก็ตาม ท่านควรตัดสินใจอย่างถูกต้อง โดยตั้งคำถามกับตัวเอง เช่น ธุรกิจของท่านสามารถที่จะอยู่รอดในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในระยะยาวหรือไม่ ท่านจะทำอย่างไรเมื่อธุรกิจของท่านต้องการเงินสดเพิ่มขึ้นอีกในครั้งต่อไป เนื่องจากเงินสดไม่ได้มากจากหนี้สินเพียงแหล่งเดียว ลองหาทางอื่นเช่น การจัดหาเงินทุนโดยออกหุ้นเพิ่มทุน (Equity Financing) ซึ่งอาจเป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่าและสามารถจัดหาทุนให้ธุรกิจของท่านได้เช่นเดียวกัน ถ้าหากท่านเลือกที่จะจัดหาเงินทุนจากการก่อหนี้ (Debt Financing) จงหลีกเลี่ยงการค้ำประกันบริษัทและผู้รับผิดชอบความเสียหายในนามบุคคล (Personal Guarantees) สรุป ภาคธุรกิจจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา ผู้บริหารต้องเข้าใจสภาพธุรกิจของตัวเองและคู่แข่งรวมถึงสภาพคล่องทางการเงิน และต้องรู้ว่าองค์ประกอบใดจะเป็นตัวผลักดันธุรกิจให้ดำเนินไปข้างหน้าได้ในสภาวะเช่นนี้ อาจต้องวางแผนกลยุทธ์ที่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาวขึ้นมา และถ้าแผนนั้นสามารถทำให้ธุรกิจรอดและผ่านพ้นสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาได้แล้ว ก็จะทำให้บริษัทนั้นๆ เป็นที่สนใจและมีอนาคตที่โดดเด่นอย่างแน่นอน มร. ปีเตอร์ วอล์คเกอร์ กล่าวทิ้งท้าย “เราทุกๆ คนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนี้โดยทั่วกันและเมื่อมันผ่านพ้นไป สภาพการแข่งขันก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นั่นคือจะมีธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดแข่งขันเบียดพื้นที่จนธุรกิจเก่าๆ อาจต้องล้มหายตายจากไป ส่วนด้านความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและเอกชนก็จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน อย่างไรก็คาม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากเราตั้งสติ ใจเย็น วางแผนให้รอบคอบ ตั้งใจมั่นใจในการบริหารงานแล้ว เราก็จะข้ามผ่านช่วงเวลาเลวร้ายของเศรษฐกิจมาจนได้และไม่แน่ อาจจะสามารถผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำธุรกิจที่แข็งแกร่งได้เช่นกัน” ท่านสามารถอ่านและดาวน์โหลดแนวทางการรับมือภาวะเศรษฐกิจถดถอยฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์: www.grantthornton.co.th เกี่ยวกับ แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย: แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงธุรกิจในฐานะบริษัทผู้ให้บริการอย่างมืออาชีพระดับแนวหน้าของประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 มีประสบการณ์ในการให้คำแนะนำแก่บริษัทต่างๆ ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี พ.ศ. 2540 โดยใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ การลดค่าใช้จ่าย และการปรับปรุงแผนธุรกิจใหม่ การให้บริการของแกรนท์ ธอร์นตัน ได้แก่ การให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ การตรวจสอบบัญชี การให้คำปรึกษาทางภาษี การให้บริการปรึกษาเฉพาะทาง การจัดหาบุคลากรระดับผู้บริหาร ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย กรุณาเข้าชมเว็บไซต์ www.grantthornton.co.th. ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: ปีเตอร์ วอล์คเกอร์ ลักษณ์พิไล วรทรัพย์ กรรมการ ส่วนงานให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย T +66 (0)2 205 8250 T +66 (0)2 205 8142 E peter.walker@gt-thai.com E lakpilai.worasaphya@gt-thai.com ผู้ส่ง : ลักษณ์พิไล วรทรัพย์ เบอร์โทรศัพท์ : 02-205 8222

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ