กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--สสวท.
จบไปแล้วกับเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดไปเมื่อวันที่ 18 - 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และอุทยานการเรียนรู้ (TK PARK) โดยมีภาพยนตร์ 36 เรื่องจากประเทศต่างๆ เข้าฉายในเทศกาล
โดย สสวท. ได้นำภาพยนตร์บางส่วนไปฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สัญจร ณ มหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างจังหวัด จำนวน 26 แห่ง ทั่ว นอกจากนั้น สสวท. ยังเตรียมทีมนักวิชาการเดินทางไปร่วมจัดกิจกรรมวิชาการแสนสนุก ณ ศูนย์จัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สัญจร จำนวน 4 ศูนย์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยบูรพา
วันนี้เราจึงได้พามาเยี่ยมชมเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สัญจร ที่หอประชุม หน้าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี .....มาดูซิว่า เด็กเมืองชล ฯ ได้อะไรจากเทศกาล ฯ ครั้งนี้บ้าง
งานนี้ผู้ใหญ่ใจดี คือ ผศ. ดร. อุษาวดี ตันติวรานุรักษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเป็นโต้โผใหญ่ของงานกล่าวกับเราว่า เหตุที่มหาวิทยาลัยบูรพาได้ร่วมจัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับนักเรียนแถบภาคตะวันออกที่สนใจ การเผยแพร่ความรู้ ทางวิทยาศาสตร์ผ่านภาพยนตร์จะจูงใจให้นักเรียนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์มากขึ้น เป็นการกระตุ้นให้นักเรียนเห็นธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ได้คิด วิเคราะห์ แยกแยะ และมีประสบการณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์นั้นมีแนวคิดร่วมกันกับ สสวท. ที่ต้องการขยายผลให้นักเรียนสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งตนเองนั้นประทับใจการจัดงานมากกว่าปีที่แล้ว เพราะปีนี้ สสวท. มีการจัดกิจกรรมสรุปความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ที่ฉายในเทศกาลด้วย
ซึ่งงานนี้ทีมนักวิชาการของ สสวท. นำโดย อาจารย์สุพรรณี ชาญประเสริฐ ได้นำกิจกรรมวิชาการมาจัดคั่นรายการในช่วงชมภาพยนตร์ และจัดกิจกรรมสรุปความคิดรวบยอดร่วมกับนิทรรศการหน้าห้องฉายภาพยนตร์ด้วย
เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ฮาวาย ดินแดนแห่งภูเขาไฟ ซึ่งได้พาเด็ก ๆ เดินทางไปผจญภัย ต่อสู้กับสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายของธรรมชาติ ไปยังใจกลางภูเขาไฟ ก็มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้ ทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับภูเขาไฟ และเด็ก ๆ ยังได้ร่วมทำแบบจำลองภูเขาไฟด้วยตนเอง
ภาพยนตร์เรื่องครบเรื่องเรื่องสุนัข เด็ก ๆ ได้พบกับสุนัขวินิจฉัยมะเร็ง เครื่องแปลงเสียงสุนัข การฝึกสุนัขช่วยคนพิการ หุ่นยนต์สุนัข ก็มีเกมวิชาการเกี่ยวกับพฤติกรรมและธรรมชาติของสุนัขให้เล่น ชิงรางวัล
ภาพยนตร์เรื่องการ์ตูนหนู ตอนไฟฟ้าจากพลังงานลม ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของโรงไฟฟ้าพลังงานลมได้อย่างละเอียด อธิบายอย่างเห็นชัดว่ากระแสลมสามารถแปลงสภาพเป็นพลังงานไฟฟ้าได้อย่างไร และสามารถอธิบายถึงการกำเนิดพลังงานไฟฟ้า นอกจากนี้หน้างานมีกิจกรรมให้น้อง ๆ ศึกษาเรื่องไดนาโมและมอเตอร์ รวมทั้งการความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อย่างง่ายมาให้ลองทำ
“กระแสไฟฟ้าใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง” พี่วิทยากรถามผู้ชมชั้นประถม หลังจากชมภาพยนตร์
“ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวี พัดลม ครับ” เด็กชายแมมโม่ตอบ
ภาพยนตร์เรื่องชีวิตและการเดินทางอันน่าทึ่งของผีเสื้อยักษ์ พาเดินทางไปสู่โลกพิศวงของผีเสื้อ โมนาร์ค พี่ ๆ มีคำถามวัดความเข้าใจของน้อง ๆ จากการชมภาพยนตร์ เช่น ถามว่าผีเสื้อโมนาร์คอพยพ จากประเทศใดไปประเทศใด เพราะอะไร มีวงจรชีวิตอย่างไร ฯลฯ
เด็ก ๆ ก็ต่างยกมือตอบกันได้ถูกต้อง สร้างความพอใจให้กับผู้จัด ซึ่งนั่นแสดงว่าน้อง ๆ ได้จดจำ และเกิดความเข้าใจจากการชมภาพยนตร์ได้จริง
เด็กชายอินทัช ดวงลำ (ก๊วน) ป. 6 โรงเรียนแสนสุขศึกษา บอกว่า ผมดูสารคดีวิทยาศาสตร์ ไม่ค่อยบ่อย ดูภาพยนตร์เรื่องครบเครื่องเรื่องสุนัขแล้วชอบมากครับ ชอบหุ่นยนต์สุนัข ซึ่งคิดว่าอนาคต การนำหุ่นยนต์สุนัขมาเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายคงมีมากขึ้นในสังคม แต่ถ้าจะให้เลือก ผมเลือกที่จะเลี้ยง สุนัขจริง ๆ มากกว่า เพราะมันมีชีวิต
เด็กชายจิรทีป สุโขทัย (กาย) ป. 6 โรงเรียนมารีย์วิทย์ พัทยา ชอบภาพยนตร์เรื่องไขความลับไมโครเวฟ ได้รู้ว่าการต้มสิ่งของบางอย่างในไมโครเวฟจะทำให้ระเบิดเป็นอันตรายต่อเรา ซึ่งทำให้เรา ได้ความรู้และระมัดระวังในการใช้ไมโครเวฟมากขึ้น สนุกครับ ปีหน้าถ้าจัดฉายก็อยากมาชมภาพยนตร์ ในเทศกาล ฯ อีก ส่วน เด็กชายธนพล ศักดิ์ประเสริฐสุข (ไอติม) ชั้น ป. 6 จากโรงเรียนเดียวกัน
บอกว่า เทศกาลนี้มีประโยชน์ เพราะได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่เราไม่รู้มาก่อน ผมได้รู้ว่า ของบางอย่างไม่ควรใส่ในไมโครเวฟ สุนัขสามารถเตือนภัยธรรมชาติได้ และดมกลิ่นสืบหาคนเป็นมะเร็งได้ ชอบหนังเรื่องครบเรื่องเรื่องสุนัขมากครับเพราะที่บ้านเลี้ยงหมาด้วย ได้รู้จักเรื่องราวของหมามากขึ้น
ส่วน เด็กหญิงลลิตา เหรียญทอง (เจน) ชั้น ม. 2 โรงเรียนชลราษฏร์อำรุง 2 นั้นชอบภาพยนตร์เรื่องปีแห่งขั้วโลก ได้ทราบว่าหมีขั้วโลกนั้นได้รับผลกระทบโดยตรงต่อภาวะโลกร้อน เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดโลกร้อนมากขึ้น
ในส่วนของครูวิทยาศาสตร์ที่ได้เข้าชมภาพยนตร์ ว่าที่ พ.ต. เลิศฤทธิ์ โพธิกุล ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ชั้น ป. 1 ป. 5 และ ป. 6 โรงเรียนแสนสุขศึกษา กล่าวว่า ที่สนใจพานักเรียนมาชมภาพยนตร์ในเทศกาล ฯ เพราะสถานที่ไม่ไกลจากโรงเรียนนัก เดินทางสะดวก และเมื่อสังเกตพฤติกรรมการชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ของนักเรียน พบว่า เด็กตั้งใจชม ตื่นเต้นกับภาพยนตร์ที่ฉาย เมื่อดูการตอบคำถามของนักเรียนในช่วงคั่นรายการที่จัดโดย สสวท. เห็นได้ว่าเด็กเกิดความเข้าใจมากขึ้นอย่างเด่นชัด เพราะภาพยนตร์เสนอเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน “สำหรับครูวิทยาศาสตร์ถ้าสามารถสามารถนำภาพยนตร์วิทยาศาสตร์บางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่สอน เช่น ภาพยนตร์เกี่ยวกับไมโครเวฟ หรือสุนัขไปใช้นำเข้าสู่บทเรียนได้เลยก็จะทำให้นักเรียนเกิดความสนใจและเข้าใจมากขึ้น”
คุณครูเลิศฤทธิ์บอกว่า การจัดฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ในเทศกาล ฯ ถือว่าให้ประโยชน์กับนักเรียนต่างจังหวัดมากเพราะนักเรียนจะเกิดทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ ได้เห็นจริงว่าวิทยาศาสตร์นั้นสามารถพิสูจน์ได้ และเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้ทุกเรื่อง เนื้อหาบางอย่างจุดประกายให้เด็กเกิดความสนใจ และมีหลายอย่างที่เรานึกไม่ถึงจึงเกิดความทึ่งไปกับภาพยนตร์ “ปีหน้าอยากให้ผู้จัดเลือกภาพยนตร์ที่สอดคล้องกับผู้ชมที่เป็นเด็กเล็ก ๆ หรือจัดเตรียมภาพยนตร์ที่อยู่ในรูปของสื่อการสอนแจกให้ครูนำไปใช้ต่อที่โรงเรียน” คุณครูเลิศฤทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ ผศ. ดร. อุษาวดี ตันติวรานุรักษ์ ยังได้กล่าวกับเด็ก ๆ ที่มาร่วมงานว่า “สิ่งที่พวกเราได้เห็นจากการชมภาพยนตร์คือการทดลองค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ที่จะใช้เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ในวันข้างหน้า ขอให้กลับไปแล้วตั้งใจเรียน อนาคตข้างหน้าหวังว่าคณะวิทยาศาสตร์ของเราจะมีลูกศิษย์ตัวน้อย ๆ กลุ่มนี้ ซึ่งเมื่อเติบใหญ่แล้วจะมาเรียนกับเรา และขอขอบคุณอาจารย์ที่พานักเรียนมาสู่คณะวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้”
สำหรับพิธีปิดเทศกาลที่ผ่านมา มีภาพยนตร์ได้รับรางวัล ดังนี้ รางวัลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ไบเออร์ ภาพยนตร์จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเรื่อง เลือดเพื่อชีวิต (Blood-The Miraculous Liquid) รางวัลภาพยอดเยี่ยม ภาพยนตร์เรื่องจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เรื่อง พลังแห่งดาวเคราะห์สีน้ำเงิน (Earth: The Power of the Planet) รางวัลภาพยนตร์เพื่อการศึกษา ภาพยนตร์จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเรื่อง รายการเก้านาทีครึ่ง ตอน ปีแห่งขั้วโลก (Nine and Half: Polar Year) รางวัลภาพยนตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม ภาพยนตร์จากประเทศออสเตรเลีย เรื่อง ปลาปากใบเลื่อย- บุตรเทพเจ้าเนปจูนที่ถูกลืม (Sawfish- Neptune's Forgotten Children) รางวัลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการค้นพบ ภาพยนตร์จากประเทศออสเตรียเรื่อง จับเวลาบันทึกโลก (Time Limits) รางวัลพิเศษจากคณะกรรมการ ภาพยนตร์จากประเทศฝรั่งเศส เรื่อง ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน (Changing Climate, Changing Times)
ส่วนเทศกาล ฯ ที่จะจัดเดือนพฤศจิกายนปีหน้า โปรดรอติดตามรายละเอียดได้
ที่เว็บไซต์สถาบันเกอเธ่ www.goethe.de/sciencefilmfestival หรือเว็บไซต์ สสวท. www.ipst.ac.th
ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท.
สินีนาฎ ทาบึงกาฬ/รายงาน)
Sineenart Chantapa
E-mail: schan@ipst.ac.th
ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท.
โทรศัพท์ 0-2392-4021 ต่อ 1112,1115 สายตรง 0-2712-3604
โทรสาร 0-2392-3167