ปภ. เตือน น้ำทะเลหนุน พื้นที่ริมแม่น้ำท่าจีน กรุงเทพฯ บริเวณสาทร ยังน่าเป็นห่วง

ข่าวทั่วไป Thursday November 9, 2006 14:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--ปภ.
ปภ. คาดน้ำท่วมในชัยนาท สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติในสัปดาห์นี้ พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ ท่าจีน ยังน่าเป็นห่วง ต้องเร่งระบายน้ำออก เพราะน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ระบายน้ำล่าช้า ขณะที่กรุงเทพฯ บริเวณสาทร น้ำทะลักเข้าท่วมทางขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส บริเวณสถานีตากสิน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค. — 8 พ.ย. 2549 มีพื้นที่ประสบภัย 47 จังหวัด 390 อำเภอ 32 กิ่งอำเภอ 2,648 ตำบล 16,085 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 4,296,017 คน 1,217,693 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 226 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 3,773,702 ไร่ มูลค่าความเสียหายในเบื้องต้น 6,432,561,892 บาท สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 32 จังหวัด ยังมีพื้นที่ประสบภัย 15 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม และกรุงเทพฯ จำนวน 67 อำเภอ 13 เขต ราษฎรเดือดร้อน 1,180,926 คน 378,419 ครัวเรือน สถานการณ์น้ำท่วมในชัยนาท และลพบุรี ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดจะเข้าสู่ภาวะปกติในสัปดาห์นี้ ส่วน สิงห์บุรี ระดับน้ำจะลดลงเป็นลำดับต่อไป ในขณะที่อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะค่อยๆ ลดลง คงเหลือน้ำท่วมขังในทุ่งนา และที่ลุ่มต่ำ คาดจะเข้าสู่ภาวะปกติในสัปดาห์หน้า เพราะได้เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยด่วนแล้ว สำหรับพื้นที่น้ำท่วมที่ต้องเร่งหาทางแก้ไข ได้แก่ สุพรรณบุรี และ อ.บางเลน อ.นครชัยศรี นครปฐม เนื่องจากการระบายน้ำจากทุ่งฝั่งตะวันตกลงสู่แม่น้ำท่าจีน ทำให้น้ำมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากน้ำทะเลหนุน ทำให้ต้องหยุดการระบายน้ำ ประกอบกับแม่น้ำท่าจีน มีลักษณะคดเคี้ยว คล้ายกระเพาะหมู ส่งผลให้ระบายน้ำลงทะเลช้า หน่วยงานต่างๆ จึงต้องระดมเครื่องสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำออกจากแม่น้ำท่าจีนอย่างเต็มที่ ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้บริเวณท่าเรือสาทร น้ำล้นตลิ่ง ทะลักเข้าท่วมบริเวณทางขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีตากสิน สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่สัญจรทางเรือ และจะมาใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งนี้ น้ำทะเลหนุนสูงสุดเมื่อเวลา 05.30 น. ของวันที่ 8 พฤศจิกายน 2549 ที่ระดับ 2.50 เมตร ถือเป็นระดับที่สูงสุดในรอบปีนี้
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า กรมป้องกันฯ ได้ประสานให้ผู้ว่าฯ 47 จังหวัดที่ประสบอทุกภัย เร่งสำรวจ ตรวจสอบจำนวนคน และครัวเรือนที่ประสบภัย เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือ สำหรับเกณฑ์ในการจ่ายเงินผู้ประสบภัย ดังนี้ ค่าเครื่องครัว ไม่เกิน 3,500 บาท ต่อครอบครัว บ้านเสียหายบางส่วน หลังละไม่เกิน 20,000 บาท เสียหายทั้งหลัง ๆ ละไม่เกิน 30,000 บาท ยุ้งข้าว โรงเรือน คอกสัตว์ที่เสียหายบางส่วน ครอบครัวละไม่เกิน 3,000 บาท เสียหายทั้งหลัง ครอบครัวละไม่เกิน 8,000 บาท ค่าเครื่องนุ่งห่ม คนละ 2 ชุด 1,000 บาทต่อคน ค่าเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา คนละ 2 ชุด 1,000 บาท ต่อคน ค่าเครื่องนอน 500 บาท ต่อคน ค่าเครื่องใช้อื่นๆ 300 บาทต่อครอบครัว ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ ไม่เกิน 10,000 บาทต่อครอบครัว ทั้งนี้ ได้เร่งรัดให้จังหวัดจ่ายเงินแก่ผู้ประสบภัยให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ของวงเงินที่ผู้ประสบภัยจะได้รับ เพื่อให้สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้ ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ ได้ประกาศให้ 23 เขต ในกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ซึ่งจะจ่ายเงินครอบครัวละไม่เกิน 2,000 บาท จำนวน 15,000 ครอบครัว เป็นเงิน 3 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าดัดแปลงสถานที่สำหรับเป็นที่พักชั่วคราว โดยขณะนี้ได้จ่ายเงินค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต จำนวน 2 รายๆ ละ 15,000 บาท เป็นเงิน 30,000 บาท และสำนักงานเขตจำนวน 5 เขต ได้ส่งเอกสารขอรับการช่วยเหลือ 774 ครอบครัว เบิกจ่ายไปแล้ว 143 ครอบครัว อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 631 ครอบครัว ส่วนสำนักงานเขตอีก 18 เขต ที่ยังไม่ส่งเอกสารขอรับการช่วยเหลือ กรมป้องกันฯ ได้ประสานการดำเนินงานอย่างเร่งด่วนแล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ