รัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ชี้ทางออกประเทศไทย แนะนายกฯสลัดคราบขั้วการเมือง-ประสานประโยชน์ส่วนรวม

ข่าวทั่วไป Thursday December 4, 2008 15:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ชี้ทางออกการเมืองไทยหลังยุบ 3 พรรคการเมือง แนะผู้นำ คนใหม่ต้องเปิดใจประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย สลัดคราบความเป็นขั้วการเมืองให้หมดเพื่อลดกระแสความขัดแย้ง พร้อมฝากรัฐบาลชุดใหม่สร้างความเชื่อมั่น เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นในทางการบริหาร ลดความขัดแย้งของฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และเร่งสะสางคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นายปกรณ์ ปรียากร คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (GSPA NIDA) เปิดเผยว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาให้ยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค และตามมาด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น สามารถประเมินความเป็นไปได้ทางการเมืองในกรอบประชาธิปไตย 2 กรณีหลัก คือ กรณีที่ขั้วพรรคร่วมรัฐบาลเดิมจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลและทิ้งให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน ส่วนกรณีที่ 2 คือ พรรคประชาธิปัตย์จับมือกับพรรคการเมืองที่เหลือทั้งหมดเป็นรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านเพียงพรรคเดียว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดของบ้านเมืองเวลานี้ ไม่ว่านายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลชุดใหม่จะมาจากขั้วการเมืองใดก็ตาม สิ่งที่จะนำไปสู่ทางออกทางการเมืองนั้น ก็คือ รัฐบาลต้องเข้าใจวิธีการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมองว่าต้องใช้การประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย เปิดทางให้ทุกกระแสความคิดเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ไม่มีการแบ่งแยกข้างหรือขั้วใดขั้วหนึ่ง เพราะไม่เช่นนั้นท้ายที่สุดก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ “โอกาสที่จะเปลี่ยนขั้วทางการเมืองเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย แต่ตรงนั้นมันไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะไม่ว่าใครหรือขั้วการเมืองใดจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาลชุดใหม่จะไม่สามารถเดินหน้าไปสู่ทางออกทางการเมืองได้ ถ้าไม่มีการประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย ต้องแยกตัวเองออกจากกลุ่มสีแดง และเข้ามาพูดคุยกับกลุ่มสีเหลืองมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้” คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์กล่าว คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าวต่อว่า สำหรับบทเรียนในครั้งนี้สอนให้เราเห็นว่าผู้ที่มีอำนาจจำเป็นจะต้องแยกให้ออกว่าเรื่องไหนถูกต้อง เรื่องใดคือความชอบธรรม จึงอยากให้รัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่ไม่เป็นของใครฝ่ายเดียว เหมือนการเมืองในสหรัฐอเมริกาที่ผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้แต่งตั้งคู่แข่งทั้งจากพรรคเดียวกัน และต่างพรรคเข้ามารับตำแหน่งในการบริหารประเทศร่วมกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่อยากให้ผู้ที่มีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้นำไปพิจารณาเพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นอกจากนี้ สิ่งที่อยากจะฝากให้กับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ก็คือ การเร่งเยียวยาสถานที่ที่ได้รับความเสียหายจากการปิดล้อมของกลุ่มพันธมิตรในช่วงที่ผ่านมา ทั้งบริเวณทำเนียบรัฐบาล สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นลดภาพความขัดแย้งของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการ เพราะที่ผ่านมาเกิดภาพความขัดแย้ง ซึ่งนำไปสู่การแตกร้าวของสังคมค่อนข้างชัดเจน พร้อมทั้งดูแลเรื่องความโปร่งใสของโครงการประมูลต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อเรียกความมั่นใจจากผู้ประกอบการภาคเอกชน ขณะเดียวกันต้องเดินหน้าเร่งพิจารณาคดีที่ยังค้างอยู่ โดยเฉพาะคดีหมิ่นพระบรมเดชา- นุภาพ พร้อมทั้งหาทางป้องกันและยับยั้งชนวนเหตุที่จะเกิดขึ้นอีก และสุดท้ายถ้าเป็นรัฐบาลชุดเดิมต้องแสดงจุดยืน และทำให้ประชาชนเห็นว่าไม่ได้อยู่ภายใต้อาณัติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ในนามคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า) พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร. 02-248-7967-8 ต่อ 14, 08-1929-8864 โทรสาร. 02-248-7969

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ