ฟิทช์ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) เป็นลบ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 4, 2008 15:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ มูลค่า 2.5 พันล้านบาท ทยอยชำระคืนเงินต้น ครบกำหนดไถ่ถอน ปี 2552 ของบริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) หรือ RCL เป็นลบจากเดิมแนวโน้มมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวแก่หุ้นกู้ดังกล่าวที่ระดับ ‘BBB+(tha)’ การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงของ RCL อันมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงและความสามารถที่จำกัดของบริษัทในการขึ้นอัตราค่าระวางเรือ (Freight Rate) ในช่วงวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียที่จะชะลอตัวลงในปี 2552 อาจจะส่งผลให้ปริมาณการค้าทั่วโลกหดตัวลงอย่างรุนแรง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อปริมาณการขนส่งสินค้าทางเรือและอัตราค่าระวางเรือ ด้วยเหตุนี้ผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของ RCL อาจจะอ่อนแอลงต่อไปอีก ซึ่งทำให้การลดลงของระดับหนี้สินของบริษัทในช่วง 24 เดือนข้างหน้าน้อยกว่าที่คาด รวมถึงทำให้ความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทลดลง ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 ความสามารถในการทำกำไรของ RCL ลดลงอย่างมาก ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น โดยมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR Margin) 12.5% ซึ่งลดลงจาก 23.9% ในปี 2550 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 4.6 เท่าจาก 1.7 เท่าในปี 2550 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์รวม (Total Debt/Total Capitalisation) อยู่ที่ 32.6% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 ลดลงจาก 33.7% ณ สิ้นปี 2550 แรงกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรน่าจะคลายตัวลงในปี 2552 เนื่องจากราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลงอย่างมาก แม้ว่าอัตราค่าระวางเรือก็น่าจะอ่อนตัวลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก RCL มีแผนการลงทุนที่เป็นภาระผูกพันในช่วงปลายปี 2551 ถึงปี 2552 รวมประมาณ 3 พันล้านบาท ระดับหนี้สินรวมของ RCL จึงน่าจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงระยะเวลาดังกล่าว โดยอัตราส่วน Net Debt/EBITDA อาจเพิ่มสูงขึ้นเป็น 5.0 เท่าถึง 5.5 เท่าในช่วงปี 2551-2552 จากประมาณ 1.5 เท่าถึง 2.0 เท่าในช่วงปี 2548-2550 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Net Adjusted Debt/EBITDAR) คาดว่าอาจเพิ่มขึ้นเป็น 6.0 เท่าถึง 6.5 เท่าจากประมาณ 3.0 เท่าถึง 4.0 เท่า อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เป็นภาระผูกพันจะลดลงเหลือเพียง 1.5 พันล้านบาทหลังจากช่วงระยะเวลากล่าว ซึ่งมีกำหนดชำระในปี 2554 รวมถึงการคาดการณ์ถึงการฟื้นตัวของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) น่าจะทำให้อัตราส่วน Net Debt/EBITDA และอัตราส่วน Net Adjusted Debt/EBITDAR ปรับตัวดีขึ้นเป็น 2.0 เท่าถึง 3.0 เท่าและ 4.0 เท่าถึง 5.0 เท่าตามลำดับหลังจากปี 2552 ในส่วนของสภาพคล่องทางการเงิน RCL ยังคงมีอยู่ในระดับที่เพียงพอ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 บริษัทมียอดเงินสดคงเหลือ 3.6 พันล้านบาทและมีวงเงินที่สามารถเบิกจ่ายได้จากธนาคาร (Undrawn Committed Facilities) ประมาณ 3.8 พันล้านบาท อันดับเครดิตมีปัจจัยสนับสนุนจากความเป็นผู้นำในธุรกิจบริการขนส่งตู้สินค้าทางเรือในภูมิภาคเอเชียของ RCL ด้วยเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขวางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กองเรือขนาดใหญ่ที่มีอายุค่อนข้างน้อย และความถี่ของตารางการเดินเรือ นอกจากนี้ การผสมผสานระหว่างธุรกิจ Shipper Owned Container (SOC) และธุรกิจ Carrier Owned Container (COC) ของ RCL ยังมีส่วนช่วยบรรเทาความเสี่ยงบางส่วนจากความผันผวนของธุรกิจตามวัฏจักรของอุตสาหกรรม แม้ว่าอุปทานส่วนเกินของปริมาณเรือขนส่งตู้สินค้าจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า กองเรือขนส่งตู้สินค้าจะมีอัตราการเติบโตที่ 14.5% ต่อปีโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2551-2553 แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตเฉลี่ยในส่วนของปริมาณเรือขนส่งตู้สินค้าขนาดเล็ก ซึ่งมักใช้สำหรับการขนส่งภายในภูมิภาคเอเชียคาดว่าจะอยู่ที่ 7.4% ต่อปี ในขณะที่ปริมาณการค้าภายในภูมิภาคเอเชียคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับปริมาณการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างทวีป หาก RCL ไม่สามารถแสดงการฟื้นตัวของส่วนต่างอัตราค่าระวางเรือกับต้นทุนการเดินเรือ (Freight Spread) และ EBITDA ภายในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 รวมถึงภาวะถดถอยของอุตสาหกรรมที่รุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ ไว้ อาจมีผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท ในทางตรงกันข้าม ความสามารถของบริษัทในการสร้างและบริหารกระแสเงินสดในช่วงวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรม ซึ่งจะเห็นได้จากการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของความสามารถในการทำกำไรและอัตราส่วนหนี้สิน อาจทำให้อันดับเครดิตของบริษัทคงอยู่ในระดับเดิมได้ ติดต่อ: สมฤดี ไชยวรรัตน์ +662 655 4762, เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล +662 655 4760, Vincent Milton, +662 655 4755

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ