สธ.เพิ่มกำลังผลิตหมอป้อนชนบท แก้ไขความขาดแคลน โดยเฉพาะอีสาน

ข่าวทั่วไป Friday April 7, 2006 15:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข ส่งแพทย์ที่สำเร็จจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กลับไปทำงานที่บ้านเกิด 243 คน และเตรียมผลิตเพิ่มจากระบบปกติอีก 3,807 คน จะสิ้นสุดในปี 2562 เพื่อแก้ความขาดแคลน โดยเฉพาะภาคอีสาน แพทย์ทำงานหนักกว่าพื้นที่อื่น 1-2 เท่าตัว ชี้แพทย์ที่จบจากโครงการดังกล่าวส่วนใหญ่ เข้ากับท้องถิ่นได้ดี โดยมีแพทย์จบใหม่ไฟแรงพื้นเพกรุงเทพฯ สมัครใจขอไปช่วยชาวบ้านที่ยะลา
เช้าวันที่ 5 เมษายน 2549 ที่ผ่านมา ที่กระทรวงสาธารณสุข นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบสัมฤทธิบัตรแก่บัณฑิตแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทจำนวน 243 คน โดยแพทย์ดังกล่าวจะเดินทางกลับไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนในสถานพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตามภูมิลำเนาเดิม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2549 เป็นต้นไป และบรรจุเป็นข้าราชการทันที
นายพินิจ กล่าวว่า แพทย์เป็นวิชาชีพที่มีเกีรยติ เป็นกำลังสำคัญของการรักษาพยาบาล แก้ปัญหาสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในชนบท ซึ่งมีความยากลำบาก ขาดแคลนในหลายๆ ด้าน แพทย์ไทยทำงานหนักกว่าแพทย์ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ประมาณ 3 เท่าตัว ขณะที่ความคาดหวังของประชาชนสูงขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการ 30 บาท เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น ล่าสุดในปี 2548 มีผู้ใช้บริการตรวจรักษาถึง 118 ล้านครั้ง และเป็นผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล เกือบ 5 ล้านราย ขณะที่มีเตียงรองรับ 72,641 เตียง จึงขอให้แพทย์ทุกคนภาคภูมิใจในเกียรติที่ได้รับจากความเชื่อมั่นของประชาชน
ทั้งนี้จากข้อมูลสำรวจการกระจายแพทย์ทั่วประเทศล่าสุด ในปี 2547 มีแพทย์ปฎิบัติงานทั้งในภาครัฐและเอกชนประมาณ 28,000 คน เฉลี่ยแพทย์ 1 คน ต้องดูแลประชาชนประมาณ 2,400 คน ซึ่งตามาตรฐานสากลกำหนดให้มีแพทย์ 1 คน ต่อประชากร 1,500 คน ในจำนวนนี้อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 9,375 คน โดยอยู่ในกรุงเทพ 685 คน ภาคกลาง 3,078 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,351 คน ภาคเนือ 1,867 คน และภาคใต้ 1,394 คน เมื่อเปรียบเทียบจำนวนประชากรแล้ว แพทย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รับภาระหนักที่สุด สูงกว่าภาคอื่นๆ 1- 2 เท่าตัว แพทย์ 1 คน ต้องดูแลถึง 7,466 คน ภาระงานที่หนักมากนี้ กับรายได้ที่ต่ำกว่าภาคเอกชนประมาณ 40 - 60% จึงเป็นสาเหตุสำคัญอันดับ 2 ทำให้แพทย์ลาออกจากราชการมาก กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ไขปัญหามาโดยตลอด โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเงินเพิ่มให้แพทย์และบุคคลากรสาธารณสุขในปี 2549 อี 2,700 ล้านบาท เพื่อให้มีรายได้ตามภาระงานที่รับผิดชอบ
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนผลิตแพทย์เพิ่มนอกเหนือจากการผลิตระบบปกติปีละประมาณ 800 คน โดยจัดทำโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทเป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2538 - 2549 เป้าหมาย 3,000 คน และทำโครงการเร่งรัดเป็นกรณีพิเศษในโครงการเดียวกันอีกตั้งแต่พ.ศ.2547-2556 อีก 3,807 คน โดยโครงการหลังนี้จะสิ้นสุดพ.ศ. 2562 ใช้งบการผลิตรวม 6 ปี จำนวน 6,853 ล้านบาท แพทย์ 1 คนใช้งานผลิตคนละ 1.8 ล้านบาท หลังจบการศึกษาแล้วต้องใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี
ในการผลิตแพทย์ดังกล่าวจะมีมหาวิทยาลัยผลิตแพทย์ เข้าร่วมโครงการ 7 แห่ง และมีโรงพยาบาลศูนย์เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติในชั้นปีที่ 4 - 6 อีกจำนวน 18 แห่ง ครอบคลุมทุกภาค ขณะนี้ผลิตแพทย์ส่งกลับไปใช้ทุนทำงานช่วยเหลือชาวบ้านแล้ว 5 รุ่น จำนวน 556 คน และในปีนี้เป็นรุ่นที่ 6 จะกลับไปทำงานที่บ้านเกิดอีก 243 คน โดยอยู่ในจังหวัดภาคเหนือ 76 คน ภาคกลาง 63 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 70 คน ภาคใต้ 34 คน ในจำนวนนี้อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี 8 คน
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ในรุ่นนี้มีแพทย์จบใหม่คนหนึ่ง ได้ยื่นความจำนงขอไปปฏิบัติราชการใช้ทุนในจังหวัดยะลา ทั้งที่เดิมเป็นคนกรุงเทพฯ และได้รับการจัดสรรให้ไปปฏิบัติงานใช้ทุนที่จังหวัดกาญจนบุรี เพราะต้องการช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อน มีความต้องการแพทย์เป็นอย่างมาก จากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ จึงเป็นแบบอย่างที่น่าชื่นชม และสมดังเจตนารมณ์ตามโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ทั้งนี้ ภายหลังจากไปปฏิบัติงานในพื้นที่ พบว่าแพทย์ในโครงการดังกล่าวสามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่ ทำให้มีความรู้สึกรักและผูกพันกับชาวบ้าน มีความเข้าใจและสื่อสารกับชาวบ้านด้วยภาษาเดียวกัน จึงช่วยลดปัญหาความขัดแย้ง ที่อาจเกิดจากความไม่เข้าใจทั้งระหว่างแพทย์ กับผู้ป่วยและญาติได้เป็นอย่างดี
สามารถดูข้อมูลได้ที่ http://www.moph.go.th/ops/iprg

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ