ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ “บ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง” เท่าเดิมที่ “A+/Stable”

ข่าวทั่วไป Tuesday May 23, 2006 08:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท (SPI071A) ของ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” พร้อมแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนการลงทุนของบริษัทในธุรกิจที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง ตลอดจนฝ่ายบริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ยาวนาน และความเป็นผู้นำในธุรกิจหลักของกลุ่ม อันได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องสำอาง นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงนโยบายการลงทุนที่ระมัดระวังและสถานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากสภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงของอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหาร และโครงสร้างการลงทุนที่ซับซ้อนของกลุ่มสหพัฒน์
ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความมั่นคงทางธุรกิจและการเงินของบริษัท โดยที่รายได้ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอจากเงินปันผลจากธุรกิจที่หลากหลายในประเภทสินค้าอุปโภคและบริโภคจะยังคงเป็นกระแสเงินสดหลักสำหรับบริษัทในระยะปานกลางถึงระยะยาวต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งได้รับการจัดตั้งในปี 2515 เพื่อให้เป็นบริษัทโฮลดิ้งของบริษัทต่างๆ ในกลุ่มสหพัฒน์ โดยรับผิดชอบการริเริ่มลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ให้การสนับสนุนและค้ำประกันด้านการเงินแก่บริษัทในกลุ่ม ให้บริการสวนอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภค ตลอดจนบริการด้านอื่นๆ นอกจากนี้ ณ สิ้นปี 2548 บริษัทยังได้กระจายการลงทุนในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภทผ่านบริษัทต่างๆ จำนวน 170 แห่งซึ่งช่วยบริษัทลดความเสี่ยงจากการประกอบการอันเนื่องมาจากการกระจุกตัวของธุรกิจและปัญหาวงจรเศรษฐกิจ โดยบริษัทมีนโยบายที่จะลงทุนในแต่ละบริษัทในสัดส่วนที่น้อยกว่า 50% เพื่อลดความเสี่ยงในกรณีที่เกิดการขาดทุนจากการลงทุนใดๆ อย่างไรก็ตาม หากรวมการลงทุนของกลุ่มสหพัฒน์ทั้งหมดแล้วยังนับว่ามากพอที่จะทำให้กลุ่มสามารถควบคุมหรือมีส่วนในการควบคุมการบริหารงานในบริษัทที่เข้าไปลงทุนได้ ด้วยประสบการณ์ของฝ่ายบริหารในธุรกิจหลักแต่ละประเภท รวมถึงการวางนโยบายโดยรวมจากฝ่ายบริหารของบริษัทช่วยทำให้บริษัทในกลุ่มมีสถานะเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ บริษัทสามารถดำรงความได้เปรียบทางการแข่งขันด้วยการมีสินค้าที่มียี่ห้อติดตลาดและการมีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจที่ครบวงจร โดยเฉพาะธุรกิจเสื้อผ้า เครื่องสำอาง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม ลักษณะของธุรกิจที่มีการแข่งขันที่รุนแรงได้ท้าทายความสามารถของกลุ่มสหพัฒน์ให้สร้างสรรค์นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มเอาไว้ให้ได้
ทริสเรทติ้งกล่าวว่าสถานะการเงินของบริษัทสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนซึ่งรวมถึงการค้ำประกันให้แก่บริษัทในกลุ่มลดลงจากระดับ 56.9% ในปี 2540 มาอยู่ที่ระดับ 19.2% ในปี 2547 และ 15.3% ในปี 2548 ซึ่งเป็นผลมาจากกำไรสะสมที่เพิ่มขึ้นและเงินกู้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นโยบายลดการค้ำประกันเงินกู้แก่บริษัทในเครือทำให้ระดับการค้ำประกันของบริษัทลดลงอย่างมากจาก 2,673 ล้านบาทในปี 2540 เหลือเพียง 331 ล้านบาทในปี 2547 และ 236 ล้านบาทในปี 2548 ในขณะเดียวกัน ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทซึ่งขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มเป็นหลักก็ปรับตัวดีขึ้นและเป็นไปในทิศทางเดียวกับความสามารถในการทำกำไร โดยหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อดอกเบี้ยจ่ายซึ่งเดิมอยู่ที่ 1.25 เท่าในปี 2541 ได้ปรับตัวดีขึ้นมากกว่า 3 เท่าเป็น 4 เท่าในปี 2545 และปรับเพิ่มขึ้นอีกเป็น 6.8 เท่าในปี 2547 และ 7.9 เท่าในปี 2548 อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มบริษัทที่ค่อนข้างซับซ้อนอาจเป็นการยากสำหรับนักลงทุนที่จะประเมินภาพโดยรวมของบริษัท แต่ในส่วนของการทำธุรกรรมระหว่างกันของบริษัทในกลุ่มสหพัฒน์นั้น บริษัทได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาโดยตลอด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ