มูลค่าขอรับส่งเสริมการลงทุน 11 เดือนกว่าสี่แสนล้าน

ข่าวทั่วไป Monday December 8, 2008 12:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--บีโอไอ บีโอไอเผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 11 เดือน 4.36 แสนล้านบาท โดยจำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 2.8% มูลค่าเงินลงทุนลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 25% ยอมรับตัวเลขเงินลงทุนเป็นไปตามคาด เพราะต้องเผชิญปัญหาทั้งภาวะการเมืองและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หากรวมโครงการที่ได้รับส่งเสริมช่วง 2 เดือนและในวันนี้ จะมีมูลค่าถึง เร่งอนุมัติแล้วกว่า 200,000 ล้านบาท และยังมีโครงการต่อคิวรอพิจารณาอีกกว่า 1.9 แสนล้านบาท นายประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานภาพรวมของการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.2551) ที่ผ่านมา มีโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 1,198 โครงการ เพิ่มขึ้น 2.8 %จากช่วงเดียวกันปี 2550 ที่มีจำนวน 1,165 โครงการ ทั้งนี้มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 436,000 ล้านบาท ปรับลดลงประมาณ 25% จากช่วงเดียวกันของปี 2550 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 586,000 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่นักลงทุนให้ความสนใจขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมบริการ และสาธารณูปโภค อุตสาหกรรมชิ้นส่วน ยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น “แม้มูลค่าขอรับส่งเสริมการลงทุนจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้แล้วว่ามูลค่าเงินลงทุนปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 4-5 แสนล้านบาท เนื่องจากประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านการเมือง และเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยหากพิจารณาที่จำนวนโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนยังมีทิศทางที่ดีและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังคงให้ความสนใจเข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว นายประชา กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเร่งรัดส่งเสริมการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันบีโอไอ สามารถพิจารณาส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่คั่งค้างตั้งแต่ช่วงกลางปีได้แล้วจำนวนมาก โดยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค. - พ.ย. 2551) มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้วถึง 358 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 159,825 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมจำนวนโครงการ และมูลค่าเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับการอนุมัติในการประชุมบอร์ดในวันนี้ จะทำให้มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริม 368 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 216,170 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการลงทุนที่รอการพิจารณาให้การส่งเสริมอีก 253 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 190,256 ล้านบาท ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีมูลค่ารวม 290,000 ล้านบาท ปรับลดลงประมาณ 38% จากช่วงเดียวกันปี 2550 ที่มีมูลค่า 473,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด มีมูลค่าลงทุนรวม 97,000ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มยุโรป มีมูลค่ารวม 64,000 ล้านบาท และสิงคโปร์ มีมูลค่ารวม 38,000 ล้านบาท เป็นต้น สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว อาทิ Western Digital มูลค่าเงินลงทุน 15,260 ล้านบาท โกลว์ พลังงาน มูลค่าเงินลงทุน 16,896 ล้านบาท บริษัทการบินไทย มูลค่าเงินลงทุน 17,622 ล้านบาท ทิพากรโซล่า มูลค่าเงินลงทุน 6,500 ล้านบาท กรุงเทพ ซินธิติกส์ มูลค่าเงินลงทุน 6,089 ล้านบาท และสยามโตโยต้าอุตสาหกรรม มูลค่าเงินลงทุน 8,129 ล้านบาท เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ