กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--ก.ล.ต.
วันนี้ (8 ธันวาคม 2550) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. แถลงผลงานที่สำคัญ ๆ ในปีที่ผ่านมา และแผนงานเชิงกลยุทธ์ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2552-2554) ดังนี้
ผลงานปี 2551
1. ด้านการพัฒนาตลาดทุนไทยและการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ
เพื่อเตรียมการตลาดทุนไทยให้พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของตลาดทุนโลกในปี 2552 ก.ล.ต. ได้ดำเนินการ เพื่อรองรับการเปิดเสรีใบอนุญาตหลักทรัพย์และเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเป็นขั้นตอนตามแผนที่ได้ประกาศไปแล้ว โดยสนับสนุนผู้ประกอบการในปัจจุบันให้ยกระดับการทำธุรกิจได้อย่างครบวงจร และเพิ่มความคล่องตัวและสร้างความยืดหยุ่นเพื่อรองรับการจัดโครงสร้างการทำธุรกิจ เช่น ผ่อนปรนให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถแต่งตั้งผู้บริหารไขว้ในบริษัทหลักทรัพย์อื่นได้
สนับสนุนการแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อปรับโครงสร้างการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เปิด access ให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับผู้เล่นมากขึ้น และให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมเชื่อมโยงกับตลาดอื่น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นส่วนหนึ่งของตลาดทุนโลก โดยคณะกรรมการก.ล.ต. มีมติเห็นชอบหลักการแก้กฎหมายเพื่อรองรับการแปรสภาพ
เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในระดับผู้ลงทุนและบริษัทหลักทรัพย์ในการลงทุนต่างประเทศ ก.ล.ต. ได้ประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่ออนุญาตให้ผู้ลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยได้เปิดให้บุคคลธรรมดาลงทุนในต่างประเทศได้โดยผ่านกองทุนส่วนบุคคลหรือบริษัทหลักทรัพย์
ในด้านการรองรับการเชื่อมโยงระดับภูมิภาคที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ก.ล.ต. ยังได้ผลักดันกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการ Implementation Plan สำหรับรองรับการรวมตลาดทุนอาเซียนภายใต้ AEC Blueprint เพื่อจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนต่อไป
2. ด้านการพัฒนาสินค้าและธุรกรรมทางการเงิน
เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน ก.ล.ต. ได้สนับสนุนให้เกิด Single stock futures ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ที่เริ่มเปิดซื้อขายใน TFEX แล้วตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 รวมทั้งผลิตภัณฑ์ gold futures ซึ่งจะเปิดขายในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายทองคำสามารถขอเป็นตัวแทนหรือมีส่วนร่วมในธุรกิจซื้อขาย gold futures ได้ในหลายรูปแบบ และยังได้ออก พ.ร.บ. ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ.2550 ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ในตลาดทุนเพิ่มเติมได้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2551
นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (securities borrowing and lending : SBL) และการขายชอร์ต (short selling) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น
3. ด้านการยกระดับมาตรฐานและความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทย
ก.ล.ต. ได้มีการแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ในประเด็นที่ยังหย่อนไปจากมาตรฐานสากล เช่น การคุ้มครองสิทธิผู้ถือหุ้น การคุ้มครองทรัพย์สินลูกค้าและระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ การป้องปรามการทุจริตหรือการเอาเปรียบผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น และได้ดำเนินการดูแลตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง
ในด้านมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการ (corporate governance) อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ลงทุนตัดสินใจในการลงทุนนั้น ได้สนับสนุนการยกระดับคุณภาพการจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี (Annual General Meeting: AGM) ของบริษัทจดทะเบียนต่อเนื่องเป็นปีที่สาม และได้เริ่มใช้มาตรการที่จะให้รางวัลแก่ผู้ประกอบการที่มีประวัติการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (compliance) และจรรยาบรรณดี
โดยการใช้ fast track scheme ในการอนุญาตเปิดสาขาหรือออกสินค้าใหม่สำหรับผู้ประกอบการดังกล่าว และผลักดันให้ บล. เปิดเผยผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ รวมทั้งให้ บล. จัดทำบทวิเคราะห์ในหลักทรัพย์ที่มีอัตราการซื้อขายหมุนเวียนสูง (Turnover list) หรือเผยแพร่ข้อความเตือนให้ลูกค้าระมัดระวังในการซื้อขายหุ้นดังกล่าวด้วย
เมื่อเดือนพฤษภาคม สำนักงาน ก.ล.ต. ยังได้รับการยกระดับเป็นภาคีในข้อตกลงความร่วมมือทางด้านการบังคับใช้กฎหมายของ IOSCO Multilateral Memorandum of Understanding เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการตรวจสอบ
4. มาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบของวิกฤติการเงินโลก
ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์สถาบันการเงินต่างประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่ง ก.ล.ต. ได้มีแนวทางดำเนินการหลายๆ เรื่องเพื่อรับมือในเรื่องดังกล่าว ทั้งการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบและออกมาตรการรองรับเมื่อมีเหตุจำเป็น โดยในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. มีการออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะมีต่อตลาดทุนไทยและเพื่อช่วยลดความผันผวนกระตุ้นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่
(ก) ยกเลิกจำนวนหุ้นขั้นต่ำ (10% ของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมด) ที่ต้องทำคำเสนอซื้อกรณีเสนอซื้อแบบบางส่วน (partial tender offer)
(ข) ผ่อนปรนให้ผู้ถือหุ้นรายที่มีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นถึงขั้นที่เดิมต้องหยุดซื้อหุ้นเพิ่ม (trigger point) อันเนื่องจากบริษัททำ treasury stock ยังคงสามารถซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกในจำนวนเท่ากับสิทธิเดิมก่อนที่บริษัทจะทำ treasury stock โดยไม่ต้องทำคำเสนอซื้อ และ
(ค) ผ่อนปรนให้การเสนอขายหุ้นกู้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน การเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม และการเสนอขายหลักทรัพย์แก่กรรมการและพนักงาน สามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตและยื่น filing
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ติดตามฐานะการเงินของ บล. และสภาวะการไถ่ถอนหน่วยลงทุนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการรับมือได้ทันเวลา หากเกิดปัญหา
แผนงานเชิงกลยุทธ์ ปี 2552- 2554
สำหรับแผนงานเชิงกลยุทธ์ ปี 2552-2554 นายธีระชัย กล่าวว่า โดยทั่วไป ก.ล.ต. มีพันธกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่
1. ดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของตลาด (maintain orderly market)
2. คุ้มครองผู้ลงทุน (ensure investor protection)
3. เอื้ออำนวยให้เกิดนวัตกรรมในตลาดทุน (foster business innovation)
4. ส่งเสริมการแข่งขัน (promote competition)
ในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. เน้นหนักที่พันธกิจที่ 1 และ 2 เนื่องจากเป็นหน้าที่พื้นฐานที่ต้องสร้างให้แข็งแกร่งก่อน และผลการดำเนินการในพันธกิจดังกล่าวที่ผ่านมามีความคืบหน้าไปพอสมควร ดังนั้น ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ไป (พ.ศ. 2552 - 2554) ก.ล.ต. จะเพิ่มบทบาทและให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานที่จะบรรลุพันธกิจที่ 3 และที่ 4 มากขึ้นโดยยังคงรักษาความเข้มแข็งตามพันธกิจที่ 1 และ 2 ไว้อย่างต่อเนื่อง ดังนี้
1. การเอื้ออำนวยให้เกิดนวัตกรรมในตลาดทุน (foster business innovation)
ก.ล.ต. มีแผนที่จะส่งเสริมให้เกิดการเสนอสินค้าใหม่ๆ (new products) และนำสินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ (new asset class) เข้ามาในตลาดทุนเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ลงทุนที่มีระดับการรับความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ในการพัฒนานวัตกรรมนั้น จะมีการพิจารณาแยกกลุ่มผู้ลงทุนที่มีฐานะดี (high net worth) ออกจากผู้ลงทุนทั่วไป เพราะผู้ลงทุนกลุ่มนี้ซึ่งมียอดสินทรัพย์เป็นสัดส่วนสูงมีความพร้อม
ที่จะดูแลตนเองในการประเมินความเสี่ยงมากกว่าและรับความเสี่ยงแบบใหม่ ๆ ได้มากกว่าผู้ลงทุนรายย่อย ก.ล.ต. จึงเห็นว่าการแยกประเภทผู้ลงทุน high net worth ออกมาจากผู้ลงทุนทั่วไป น่าจะช่วยเร่งการเติบโต ทั้งในระดับความลึกและความกว้างของตลาด และช่วยเพิ่มโอกาสในการระดมทุนของโครงการหรือธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง
2. การส่งเสริมการแข่งขัน (promote competition)
ด้านผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
ตั้งเป้าหมายให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนให้แก่ผู้ลงทุนในตลาดทุนไทย โดย ก.ล.ต.ได้เสนอให้กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงเพื่อเปิดเสรีใบอนุญาตหลักทรัพย์เป็นการทั่วไปแล้ว โดยมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 และให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศเปิดเสรีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการล่วงหน้าสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ในปี 2553 และเปิดเสรีทั้งหมดในปี 2555
ด้านตลาดทุน
ในการเตรียมพร้อมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในตลาดทุนโลก ก.ล.ต. มีแผนที่จะดำเนินการเปิดเสรีต่อไปด้วยการแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ (demutualization) และยกเลิกการผูกขาดในธุรกิจตลาดหลักทรัพย์และการชำระราคาและส่งมอบ รวมทั้งให้ตลาดหลักทรัพย์เปิด trading access ให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่สมาชิกเดิมได้ และสนับสนุนการเชื่อมโยงกับตลาดอื่น
3. การปรับบทบาทและการทำหน้าที่ของ ก.ล.ต.เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันได้ ก.ล.ต.จะปฏิรูปการกำกับดูแลทั้งกระบวนการทำงานและการออกกฎเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น โดยจะเปิดให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลตนเองมากขึ้น (self regulatory organization) และปรับปรุงกฎเกณฑ์เป็นเน้นในเรื่องหลักการ (principle based) มากกว่ารายละเอียดในทางปฏิบัติ อีกทั้งจะลดบทบาทที่ ก.ล.ต. เป็นผู้ใช้ดุลพินิจตัดสินใจเกี่ยวกับความเหมาะสมของหลักทรัพย์แทนผู้ลงทุน โดยจะเปลี่ยนเป็นให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ผู้ลงทุนเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเองมากขึ้น ในขณะเดียวกันจะพัฒนากลไกเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้ลงทุนในการใช้สิทธิของตน รวมถึงการเสนอปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สิทธิผู้ลงทุนเป็นสากล ตลอดจนให้ความรู้ผู้ลงทุนให้มีความเข้าใจและตื่นตัวเกี่ยวกับการใช้สิทธิมากขึ้น
นายธีระชัย กล่าวสรุปถึงเป้าหมายจากแผนงานข้างต้นว่า “เป้าหมายในระยะต่อไปของตลาดทุนไทย คือจะปรับสัดส่วนการกำกับดูแลของทั้งสามส่วนให้มีน้ำหนักเท่ากัน อันได้แก่ (ก) กฎระเบียบของทางการ (ข) การดูแลกันเองของผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรม และ (ค) การใช้สิทธิของผู้ถือหุ้น เพื่อปกป้องประโยชน์ของตนเอง โดยมีปัจจัยองค์ประกอบที่จำเป็น ได้แก่ การให้ความรู้และประสิทธิภาพในการ
ใช้สิทธิของผู้ลงทุน การบังคับใช้กฎหมาย จรรยาบรรณของผู้ประกอบธุรกิจ และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต. และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อให้ตลาดทุนไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้”