กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--กทม.
กทม.เปิดตัวสื่อรณรงค์เลือกตั้ง “รวมพลังอีกครั้ง เพื่อกรุงเทพฯ ที่ดีกว่า” พร้อมจัดรถ 2 ชั้น ลุยประชาสัมพันธ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หวังกระตุ้นคนกรุงเห็นความสำคัญการเลือกตั้ง และไปใช้สิทธิออกเสียงให้ถึง 70% ขณะที่ดีเจดังและศิลปินดาราร่วมสร้างสีสันถาม-ตอบข้อสงสัย พร้อมอาสาเป็นแนวร่วมดันวัยโจ๋ออกไปใช้สิทธิ และกระตุ้นคนกรุงตัดสินใจออกไปกากบาทเลือกผู้นำเมือง
(8 ธ.ค.51) เวลา 11.00 น. ดร.พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายรัฐพล มีธนาถาวร รองปลัดกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวเปิดตัวสื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “รวมพลังอีกครั้ง เพื่อกรุงเทพฯ ที่ดีกว่า” ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) พร้อมทั้งเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม 2552 โดยมีศิลปินและดารา อาทิ Dj เดร แห่ง seed 97.5 FM , ณัฐ AF 5, ตั้ม วิชญะ จารุจินดา และนุ่น วรนุช ร่วมสร้างสีสันซักถามข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปแจ้งให้ประชาชนและคนใกล้เคียงรับทราบต่อไป
ตอกย้ำความสำคัญผู้ว่าฯ กระตุ้นคนกรุงรวมพลังใช้สิทธิ
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ฝ่ายประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้วางแผนและจัดกิจกรรมรณรงค์การเลือกตั้งเพื่อดึงความสนใจและกระตุ้นให้ประชาชนไปใช้สิทธิให้มากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ไปใช้สิทธิเพียง 54.18% จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดกว่า 4 ล้านคน โดยจะใช้สื่อทุกรูปแบบเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต และเดินรณรงค์เคาะประตูบ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 50 เขตให้เข้มข้นกว่าเดิม เพื่อตอกย้ำความสำคัญของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะเป็นผู้บริหารเมืองหลวงของประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลทุกข์สุขประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้จำเป็นต้องมีผู้บริหารเมืองเข้ามาดูแลรับผิดชอบ ประสานงาน รวมทั้งแก้ไขปัญหาและพัฒนาเมืองให้เจริญก้าวหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของคนกรุงเทพฯ ทุกคน
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ใกล้เข้ามาทุกขณะ ยิ่งต้องเร่งการประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้และเข้าถึงประชาชนมากที่สุด ไม่เบื่อหน่ายต่อการเมืองและการเลือกตั้ง เห็นถึงความสำคัญและกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจออกไปกากบาท (X) ใช้สิทธิเลือกตั้งในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งนี้จะเน้นย้ำให้เยาวชนอายุ 18 ปีบริบูรณ์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 80,000 คน ร่วมเป็นคะแนนเสียงที่ยิ่งใหญ่ รวมกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งอีก 4.2 ล้านคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. “รวมพลังอีกครั้ง เพื่อกรุงเทพฯ ที่ดีกว่า”
เปิดตัวรถ 2 ชั้น เห็นชัดสะดุดตารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ
ภายหลังการแถลงข่าว ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รองปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เปิดตัว 2 ชั้นรณรงค์เลือกตั้งถึงตัวคนกรุง โดยเป็นรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ขนาดใหญ่พร้อมเจ้าหน้าที่ประจำรถแจกแผ่นพับให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อาทิ ความสำคัญของการไปเลือกตั้ง อีกทั้งขั้นตอนและวิธีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. การแจ้งเหตุทุจริตเลือกตั้ง รวมถึงข้อมูลประวัติผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 14 คน โดยสังเขปเพื่อให้ประชาชนได้ติดตามนโยบายและแนวทางในการพัฒนากรุงเทพฯ ของผู้สมัครแต่ละคน โดยรถจะเคลื่อนผ่านไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นศูนย์รวมประชาชนทุกเพศ ทุกวัย เพื่อให้ความรู้และเป็นกระบอกเสียงส่งสัญญาณไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในการออกไปทำหน้าที่เลือกผู้บริหารเมืองที่มีความสำคัญยิ่งในครั้งนี้
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ได้ผลิตสปอตรณรงค์การเลือกตั้งเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ หนังสือพิมพ์ อีกทั้งป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชนจำได้ และไปเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันที่ 11 ม.ค. 52
บัตรประชาชนหมดอายุยังใช้ต่อได้
กรุงเทพมหานครขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โปรดตรวจสอบเอกสารแสดงตนในการใช้สิทธิ เช่น บัตรประจำตัว หรือบัตรที่ราชการออกให้และมีรูปถ่ายพร้อมเลขประจำตัว 13 หลัก หากบัตรประจำตัวประชาชนสูญหายให้รีบติดต่อสำนักงานเขตเพื่อทำบัตรใหม่ แต่หากบัตรประจำตัวประชาชนหมดอายุยังสามารถใช้บัตรเดิมในการแสดงตนเพื่อใช้สิทธิได้ หรือจะใช้ใบอนุญาตขับขี่ หนังสือเดินทาง (passport) ซึ่งมีรูปถ่ายและหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ ของรัฐ หรือบัตรผู้รับบำเหน็จบำนาญ
ไม่ว่างไปใช้สิทธิแจ้งได้ 3 วิธีป้องกันเสียสิทธิทางการเมือง
หากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ติดธุระจำเป็นทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ ต้องไปแจ้งเหตุก่อนและหลังวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 7 วัน ซึ่งรอบแรกตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 3 มกราคม 2552 และรอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 12 — 18 มกราคม 2552 โดยแจ้งไม่ไปใช้สิทธิได้ 3 วิธี คือ แจ้งด้วยตนเองที่สำนักงานเขต หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทน หรือส่งทางไปรณีย์ลงทะเบียนถึงผู้อำนวยการเขต ทั้งนี้หากไม่แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิได้ ตามกฎหมายระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเสียสิทธิทางการเมือง 6 ประการ ได้แก่ สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น สิทธิร้องคัดค้านการเลือกตั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
ทั้งนี้ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองการสิทธิทางการเมืองข้างต้นเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ขอให้ตระหนักว่าการได้มาซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเรื่องสำคัญ สิทธิทางการเมืองจึงหายถึงการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารเป็นไปด้วยความโปร่งใส สุจริต พร้อมทำงานเพื่อคนกรุงเทพฯ และสามารถนำพากรุงเทพฯ ไปในทิศทางที่ก้าวหน้าและเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม
ร่วมแจ้งเบาะแสทุจริตเลือกตั้ง โทรสายด่วน 1171 หรือ 1555
ในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ได้ระบุข้อห้ามตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ซึ่งห้ามมิให้ผู้สมัครกระทำการหรืออาศัยผู้ใดกระทำการเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น หรือให้งดเว้นการลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครใด ด้วยการ 1.จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินให้แก่ผู้ใด เช่น งานวันเกิด งานบวช งานโกนจุก งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานบุญ งานเทศกาล งานขึ้นปีใหม่ หรืองานศพ เป็นต้น 2.ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด มัสยิด สุเหร่า ศาลเจ้า โรงเจ โบสถ์คริสต์ โบสถ์พราหมณ์ สำนักปฏิบัติธรรม สถาบันการศึกษา สถานสงเคราะห์ สหกรณ์กองทุนสงเคราะห์ ชุมนุม ชมรม สโมสร หรือสถาบันอื่นใดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศ เช่น การบริจาคเงิน การประมูลทรัพย์สิน หรือสิ่งของในงานกุศลต่างๆ เป็นต้น 3.โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งด้วยการจัดให้มีมหรสพ หรือการรื่นเริงต่างๆ รวมทั้งการแสดงและการละเล่นอื่นๆ 4. เลี้ยง หรือ รับจะจัดเลี้ยงผู้ใด 5.หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในเรื่องใดอันเกี่ยวกับผู้สมัครใด
ทั้งนี้ หากพบเหตุทุจริตเลือกตั้งโปรดแจ้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร โทร. 0 2612 4141-6 หรือ สายด่วนเลือกตั้ง โทร. 1171 หรือสายด่วน กทม. โทร. 1555
เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ไม่มีลงคะแนนล่วงหน้า
ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. นั้น พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ไม่ได้กำหนดให้มีการลง คะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ดังนั้นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรตรวจสอบบัญชีรายชื่อของตนและสถานที่เลือกตั้งให้ถูกต้อง เพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพร้อมเพรียงกันในวันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม 2552 เวลา 08.00—15.00 น. วันเดียวเท่านั้น ทั้งนี้สำนักงานเขตจะจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 21 ธันวาคม พร้อมทั้งจัดส่งไปรษณีย์ไปยังเจ้าบ้านให้เสร็จภายใน 26 ธันวาคม เพื่อแจ้งจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้โปรดตรวจสอบรายชื่อให้เรียบร้อย หากตรวจสอบรายชื่อแล้วพบตกหล่น ไม่ถูกต้อง หรือมีรายชื่อผู้อื่นแฝงโดยมิได้รับอนุญาต ให้แจ้งเพิ่มชื่อ—ถอนชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ณ สำนักงานเขตพื้นที่
สำหรับ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย หรือหากแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์หรือเกิดก่อนวันที่ 3 มกราคม 2534 ที่สำคัญต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตกรุงเทพมหานครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง หรือก่อนวันที่ 12 มกราคม 2551 โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 4,245,147 คน