กรุงเทพฯ--22 ธ.ค.--สคส.
สอศ. รับลูก “จาตุรนต์” ใช้กระแส “การจัดการความรู้” ฝึกครูอาชีวะทั่วประเทศ ช่วยชาวบ้านสร้างอาชีพแก้จน ย้ำอาชีพแก้จนต้องมาจากความต้องการของชุมชน ทั้งลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และสามารถนำกระบวนการจัดการความรู้ต่อยอดความรู้แก้จนอย่างยั่งยืน
จากกรณีที่ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นผู้ดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพแบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประชาชนยากจนจากรายชื่อที่ขึ้นทะเบียนคนยากจนที่อยู่ในข่ายรับความช่วยเหลือและพัฒนาของกระทรวงมหาดไทยได้รับเงินบริการจากการฝึกอบรมวิชาชีพ ฝึกทักษะการจัดการ และพัฒนาศักยภาพในการหางาน สร้างงาน ให้มีรายได้สูงขึ้นควบคู่ไปกับการจัดการความรู้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้เพื่อให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานโครงการสามารถใช้กระบวนการจัดการความรู้ ในการพัฒนาอาชีพแบบบูรณาการ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างสถานศึกษาและชุมชนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการจัดการความรู้ อาทิ องค์ความรู้ด้านการประกอบอาชีพ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การศึกษาข้อมูลพื้นฐานของชุมชน สภาพแวดล้อมของชุมชน ความต้องการของสถานประกอบการ และแนวโน้มอาชีพที่เกิดขึ้นในอนาคต สอศ. จึงร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการสร้างวิทยากรแกนนำด้านการจัดการความรู้สู่ระดับผู้ปฏิบัติการ โครงการพัฒนาอาชีพแบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนขึ้นเมื่อวันที่ 18 — 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา
ดร.ชนิษฐา จงพิพัฒน์วณิชย์ ผู้ช่วยเลขาโครงการพัฒนาอาชีพแบบบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน กล่าวว่า โครงการนี้มีระยะเวลาตั้งแต่เดือน ต.ค. 48 — มี.ค. 49 ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการดำเนินการใช้กระบวนการจัดการความรู้ให้กับครูอาชีวะจำนวน 50 คนทั่วประเทศ ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 2 และมีความพิเศษตรงที่ใช้การบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยเชิญสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ที่มีความชำนาญเรื่องกระบวนการจัดการความรู้ มาอบรมกระบวนการให้แก่ครูอาชีวะ ที่จะต้องใช้กระบวนการดังกล่าว ลงพื้นที่จริงเพื่อฝึกอาชีพตามความต้องการของชาวบ้าน
และให้เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ คือ ต้องการให้ผู้ที่จนอยู่แล้วได้มีอาชีพ สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ และแก้จนได้อย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้ากับกลุ่มคนจนทั่วประเทศจำนวน 20,200 คน เฉลี่ยจังหวัดละ 270 -300 คน ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาอาชีพ จังหวัดละ 10 ชุมชนๆละ 10 ครอบครัว ซึ่งจำนวนดังกล่าวคัดจากผู้ที่ขึ้นทะเบียนยากจน สย.1-8 (ผู้จดทะเบียนการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจน) ที่ต้องการเข้ามาฝึกอาชีพกับครูอาชีวะ สำหรับอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ที่ยากจนจริงๆ แต่ไม่ได้ลงทะเบียนซึ่งกลุ่มหลังนี้จะเป็นผู้ที่มีอาชีพอยู่นอกภาคเกษตรกรรมที่ต้องการความช่วยเหลือ ดร.ชนิษฐา กล่าวและว่า
ทั้งนี้รูปแบบของการเข้าไปฝึกอาชีพของครูอาชีวะจะเข้าไปทำเวทีแลกเปลี่ยน พร้อมทั้งสำรวจความต้องการของชุมชน ว่าต้องการจะเรียนรู้และฝึกอาชีพอะไร เพื่อให้ตรงกับความต้องการของชุมชน ขณะเดียวแต่ละสถานศึกษาก็ต้องมีแกนนำเครือข่ายนักวิจัย ,อาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) และศูนย์ส่งเสริมอาชีวศึกษาภาค ติดตามรายงานผลต่อส่วนกลางทั้งก่อนและหลังสิ้นสุดโครงการ เพื่อให้สามารถแก้จนได้ตามนโยบายของรัฐบาล
ด้าน นายกันฑ์อเนก เริงกิจ หัวหน้างานฝึกอบรมและบริการวิชาชีพ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้มีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งข้อดีของการอบรมครั้งนี้ทำให้ตนได้เห็นแนวคิดของชาวบ้าน จากการลงพื้นที่ดูงาน ที่โรงเรียนชาวนาจังหวัด สุพรรณบุรี ที่มีความชัดเจนเรื่องของการนำเอาองค์ความรู้ที่มีอยู่ และความรู้จากภายนอกมาจัดการได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งส่วนใหญ่หลายพื้นที่ที่ตนเจอมานั้นชาวบ้านจะไม่ได้นำความรู้ที่มีอยู่ออกมาใช้อย่างเต็มที่ หรือไม่รู้ว่าจะนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ตรงส่วนใด
สำหรับโรงเรียนชาวนานับเป็นต้นแบบที่ผู้เข้าฝึกอบรมจะได้เรียนรู้กระบวนการจากชาวบ้าน และช่วยให้ครูอาชีวะสามารถเข้าถึงความรู้ และภูมิปัญญาชาวบ้าน และสามารถนำเอาความรู้วิชาการและความรู้ชาวบ้านมาบูรณาการร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน
ทั้งนี้ ตนคาดว่าจะนำกระบวนการจัดการความรู้ที่ได้รับจากการอบรมครั้งนี้ไปปรับใช้ในพื้นที่ โดยเน้นไปที่ความต้องการของชาวบ้าน โดยครูอาชีวะต้องสร้างให้ชาวบ้านเป็นทั้งผู้รับและผู้ถ่ายทอดเป็น ซึ่งคิดว่าความยากจนไม่สามารถวัดได้ว่าที่ตรงไหน แต่ความพอเพียง การไม่ก่อหนี้และไม่มีหนี้ก็สามารถทำให้ชาวบ้านแก้จนได้อย่างแท้จริง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ประชาสัมพันธ์สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
โทร.02-6199701,02-6196188
สามารถคลิกดูภาพได้ที่ www.thaipr.net--จบ--