ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย การลงทุน การส่งออก การท่องเที่ยว และข้อเสนอแนะทางนโยบายและมาตรการในการปรับตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 9, 2008 15:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ชี้เศรษฐกิจไทยปีหน้าโต 2-3% อัตราเงินเฟ้อต่ำมาก 0.5-1% คาดว่าเศรษฐกิจไม่เจอปัญหาเงินฝืดและเศรษฐกิจทั้งปีไม่ติดลบ โดยมีความเสี่ยงติดลบเฉพาะไตรมาสหนึ่ง และกระเตื้องขึ้นในไตรมาสสี่ปี 52 ฟันธง ไตรมาสแรกปีหน้าเลวร้ายสุด อาการหนักคนตกงานกว่า 1 ล้านคน หลังจากนั้นจะทรงตัวหากไม่มีวิกฤตการณ์การเมืองรุนแรงซ้ำเติมอีก เสนอแนะลดหย่อนภาษีให้กิจการกรณีไม่มีเลิกจ้าง ผลักดันปฏิรูปรอบด้าน และ ลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5-1% ปล่อยให้ค่าเงินบาทอ่อนตามกลไกตลาด ตั้งกองทุนฝึกอาชีพและกองทุนกู้ยืมสำหรับผู้ว่างงาน 9 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต อาคารสาทรธานี ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แถลงถึงการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยว่า เศรษฐกิจโลกปีหน้า (2552) จะเติบโตลดลงมากกว่าปีนี้ (2551) ไม่ต่ำกว่า 2% โดยคาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะขยายระหว่าง 1.7-2.2% ในปี 52 เมื่อเทียบกับปีนี้ (51) ขยายตัว 3.7% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของอัตราเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาอยู่แล้ว ขณะที่ปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองภายในประเทศเกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อ และลุกลามถึงขั้นปิดสนามบินและมีความรุนแรงเกิดขึ้น สิ่งนี้ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ ทำให้บริษัทจัดอันดับเครดิตชั้นนำของโลกต่างปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของไทย และ มีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับเครดิตในระยะต่อไป ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ภาวะดังกล่าวทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจปี 52 จะอยู่ระหว่าง 2-3% อัตราเงินเฟ้อต่ำมาก 0.5-1% คาดว่าเศรษฐกิจไม่เจอปัญหาเงินฝืดและเศรษฐกิจทั้งปีไม่ติดลบ โดยเศรษฐกิจมีความเสี่ยงติดลบเฉพาะในไตรมาสแรก ส่วนอัตราเงินเฟ้ออาจจะติดลบเฉพาะเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมปีหน้า เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นในไตรมาสสี่ปี 52 ฟันธงว่าไตรมาสแรกปีหน้าเลวร้ายสุด อาการหนัก คนตกงานกว่า 1 ล้านคน หลังจากนั้นจะทรงตัวหากไม่มีวิกฤตการณ์การเมืองรุนแรงซ้ำเติมอีก จากผลของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองของไทยที่รุนแรงมากที่สุดในรอบ 16 ปีในช่วงที่ผ่านมาทำให้ การบริโภค การลงทุนเติบโตต่ำมาก การท่องเที่ยวและอัตราการขยายตัวของการส่งออกชะลอตัวอย่างชัดเจน แต่เศรษฐกิจไทยจะไม่เลวร้ายอย่างที่สำนักวิจัยหลายแห่งคาดการณ์ไว้ระหว่างเกิดวิกฤตการณ์การเมือง เมื่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เศรษฐกิจไทยจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย กรณีเลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจไทยจะติดลบเล็กน้อยในไตรมาสแรกไม่เกิน -0.5% สามไตรมาสที่เหลือจะเติบโตเป็นบวกเล็กน้อยและจะกระเตื้องขึ้นในไตรมาสสี่ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยออกเป็นสามกรณี โดยที่ กรณีดีที่สุด (Best Case) เศรษฐกิจโลกขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้คือ 2.0-2.2 % และวิกฤตการณ์การเมืองยุติอย่างสิ้นเชิง รัฐบาลมีเสถียรภาพมาก กรณีมีความเป็นไปได้ไม่สูงนัก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 3% อัตราเงินเฟ้ออยู่ 1% และอัตราการว่างงานอยู่ที่ 2.3% หรือประมาณ 900,000 คน กรณีนี้ อัตราการขยายการส่งออกจะอยู่ที่ 7% การบริโภคเติบโต 3% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 5% รายได้การท่องเที่ยวขยายตัวติดลบ กรณีพื้นฐานหรือกรณีปกติ (Base Case) เศรษฐกิจโลกขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้ 1.7-2.0% และวิกฤติการณ์การเมืองยุติความขัดแย้ง แต่รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพและอาจจะมีการยุบสภาในปี 52 มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 2.5% อัตราเงินเฟ้ออยู่ 0.5% และอัตราการว่างงานอยู่ที่ 2.7% หรือประมาณ 1,000,000 คน กรณีนี้ อัตราการขยายการส่งออกจะอยู่ที่ 5% การบริโภคเติบโต 2.5% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4% รายได้การท่องเที่ยวขยายตัวติดลบ กรณีเลวร้าย (Worst Case) เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้คือต่ำกว่า 1.7% และ วิกฤติการณ์การเมืองดำเนินต่อไปและมีความเสี่ยงที่เกิดความรุนแรง รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ กรณีนี้มีความเป็นไปได้น้อย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 2.0% อัตราเงินเฟ้อจะติดลบ -0.5% และอัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.2% หรือประมาณ 1,200,000 คน กรณีนี้ อัตราการขยายการส่งออกจะอยู่ที่ 0% หรือไม่มีการเติบโตเลย การบริโภคเติบโต 2% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3% รายได้การท่องเที่ยวขยายตัวติดลบ อาจารย์รัชพงษ์ กลิ่นศรีสุข อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ แนวโน้มเรื่องการท่องเที่ยวในปี 52 ว่า มีแนวโน้มที่รายได้จากการท่องเที่ยวจะลดลงจากเป้าที่คาดการณ์เอาไว้คือประมาณ 6.0 แสนล้านบาท ซึ่งนอกจากวิกฤตการณ์การเงิน ซึ่งส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลก ถึงแม้ว่าภาคการเงินของไทยจะไม่ได้รับผลกระทบทางตรงมากนัก (การลงทุนทางการเงินในต่างประเทศมีสัดส่วนที่น้อย และสภาพคล่องทางการเงินในประเทศก่อนเกิดวิกฤติการณ์ยังสูงอยู่) แต่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ซบเซา จะส่งผลกระทบโดยทางอ้อมต่อภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากการนำเข้าสินค้าและบริการ รวมถึงการท่องเที่ยวของต่างชาติ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับรายได้ ประเด็นสำคัญและส่งผลกระทบรุนแรงต่อการท่องเที่ยวก็คือ สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ โดยเฉพาะกรณีการปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 52 ซึ่งเป็นช่วงไฮ-ซีซั่น ของการท่องเที่ยวไทย คาดว่าจะทำให้สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 1.2 แสนล้านบาท หากสถานการณ์การเมืองมั่งคง มีการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และเป็นที่ยอมรับของประชาชนและต่างประเทศ ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งคาดว่าน่าจะกลับมาท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 52 หากเป็นเช่นนี้รายได้จากการท่องเที่ยวปี 52 จะประมาณ 5.1 แสนล้านบาท ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีข้อเสนอแนะนโยบายเร่งด่วนและทางออกให้รัฐบาลใหม่ ดังนี้ ประการแรก เสนอแนะลดหย่อนภาษีเป็นกรณีพิเศษสำหรับกิจการที่ไม่มีเลิกจ้างในปี 52 ประการที่สอง เสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้าสู่ระบบประกันสังคมแทนนายจ้างและลูกจ้างเป็นเวลา 6 เดือนช่วงครึ่งปีแรกของปี 52 ประการที่สาม จัดตั้งกองทุนเพื่อการฝึกอาชีพโดยจ่ายค่าตอบแทนสำหรับคนว่างงานโดยช่วยเหลือแรงงานในระบบเหมาช่วงก่อนเป็นอันดันแรก ประการที่สี่ จัดตั้งกองทุนเพื่อกู้ยืมประกอบอาชีพอิสระสำหรับผู้ถูกปลดออกจากงานที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ประการที่ห้า ส่งสัญญาณและขอความร่วมมือไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องโดยการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.75-1% และ อัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมด้วยการซื้อพันธบัตร มีมาตรการจูงใจให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ SMEs แต่ต้องกำกับดูแลโดยปล่อยให้เป็นการตัดสินใจอย่างเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย ประการที่หก ปล่อยให้ ค่าเงินบาทอ่อนตามกลไกตลาดเพื่อสนับสนุนการส่งออกและการท่องเที่ยว ประการที่เจ็ด ผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้รับแรงกระแทกจากวิกฤติการเงินโลกได้ดีขึ้น ประการที่แปด ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการลงทุนภาครัฐทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่เป็น Hardware (ระบบชลประทาน ระบบขนส่งมวลชนระบบราง ระบบสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น) และ Software (คุณภาพระบบการศึกษา การวิจัย เทคโนโลยีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คุณภาพและคุณธรรมของคน) ประการที่เก้า ลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 25% โดยให้ชดเชยรายได้ภาษีของรัฐด้วยการขึ้นภาษีน้ำมัน ภาษีบุหรี่และสุราแทน หรือ พิจารณาความเป็นไปได้ในเก็บภาษีมรดก ประการที่สิบ ผลักดันให้มีการปฏิรูปรอบด้านอย่างแท้จริงต่อเนื่อง เพื่อยุติความรุนแรง วิกฤตการณ์ทางการเมือง สร้างความเป็นธรรมและความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รักษาการผู้อำนายการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปในฐานะทีมประสานงานสานเสวนาเพื่อสันติธรรม กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่จะมีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ระบบกฎหมายและสังคม มากกว่า รัฐประหาร คือ สภาพอนาธิปไตยซึ่งเวลานี้ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ลดระดับลงแล้ว ความเสี่ยงจะลดลงเรื่อยๆหากผู้ที่ขัดแย้งทาง การเมืองรวมทั้งพวกผสมโรงเพื่อช่วงชิงอำนาจกันเวลานี้จะใช้กลไกรัฐสภา และยึดถือครรลองระบอบประชาธิปไตยในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งทั้งหลาย และ ยึดมั่นในแนวทางสันติวิธีด้วยการสานเสวนาเพื่อสันติธรรม ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ให้ความเห็นการชิงไหวชิงพริบในการจัดตั้งรัฐบาลของทั้งสองขั้วว่า เป็นธรรมชาติของการเมือง ใครจะเป็นรัฐบาลใหม่จะแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจง่ายขึ้น เพราะวิกฤตการณ์การเมืองคลี่คลายบ้างแล้วโดยเฉพาะการยุติประท้วงปิดสนามบินแต่จะดียิ่งขึ้นหากได้รัฐบาล และทีมเศรษฐกิจที่ประกอบไปด้วยคนที่มีความรู้ความสามารถ เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนและนักลงทุนควรจะมีประสบการณ์และผลงานก็ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นดีขึ้น ขั้วไหนเป็นรัฐบาลไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของคณะรัฐมนตรีที่อยู่ในรัฐบาล การเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็งทำให้นักการเมืองเกรงใจและกลัวการตรวจสอบมากขึ้น ทำให้มีการเลือกคนที่มีคุณภาพดีขึ้นมาเป็นรัฐบาล สำหรับ ตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร. อนุสรณ์ ให้ความเห็นว่า รัฐมนตรีต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจมหภาคเป็นอย่างดี หากเป็นคนนอกวงการเมืองจะมีข้อดี คือ สามารถดำเนินมาตรการที่จำเป็นโดยไม่ต้องกังวลประเด็นการเมืองมากเกินไป เพราะระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีการปฏิรูปใหญ่ซึ่งในการดำเนินการบางอย่างจะเสียคะแนนเสียงหรือคะแนนนิยม ซึ่งนักเลือกตั้งอาจมีข้อจำกัดในการดำเนินการ นอกจากนี้ยังต้องเป็นผู้ที่เข้าใจโลกาภิวัตน์เพื่อ กำหนดมาตรการรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้อย่างเหมาะสม มีความรู้ด้านการเงินการคลัง ผ่านงานบริหารมีประสบการณ์เพื่อทำงานร่วมกับทีมเศรษฐกิจได้ รู้ลำดับความสำคัญของปัญหา สัมผัสกับชาวบ้านและติดดิน ขณะเดียวกัน ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจมิติทางด้านปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้า และ มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระยะยาว ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเพื่อเสริมให้ประชาธิปไตยทางการเมืองมีความมั่นคง และ ยึดถือความโปร่งใส ธรรมาภิบาลในการทำงานเพราะต้องคุมงบประมาณโครงการขนาดใหญ่ ยึดหลักการและมีวิสัยทัศน์สำหรับประเทศในระยะยาวเพราะความยากลำบากทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น จะมีกลุ่มผลประโยชน์และธุรกิจมาขอลดภาษีหรือผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ รัฐมนตรีคลังต้องแข็งในหลักการและต้องยืดหยุ่นพอที่จะรับฟังความเห็นต่างๆที่แตกต่างจากความเชื่อของตัวเอง ที่สำคัญไม่ควรมี บทบาทหรือภาพเข้าไปเกี่ยวข้องกับขั้วความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมา เพราะจะทำให้ทำงานลำบากและไม่ได้รับความร่วมมือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนเดียวไม่สามารถทำอะไรได้หากไม่มีทีมเศรษฐกิจ และทีมที่ปรึกษาที่มีความสามารถ ครับ คนที่อยากให้เป็นรัฐมนตรีคลังในช่วงสถานการณ์ขณะนี้มีหลายท่าน แต่ส่วนใหญ่ท่านเหล่านี้มักไม่ยอมเปลืองตัวมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งก็เป็นปัญหาอีกประการหนึ่งของระบบการเมืองไทย ครับ นอกจากนี้ ยังขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่แท้จริง ร่วมกันแก้ไขความอ่อนแอของระบบนิติรัฐและจริยธรรมในทุกระดับป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะไม่เคารพกฎมายและหยุดแนวโน้มใช้ความรุนแรงต่อกัน ดร. อิสรา รำไพกุล นักวิจัยและอาจารย์ประจำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ อาจารย์วรรณกิตติ์ วรรณศิลป์ นักวิจัยและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากการวิจัยเรื่อง “ยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงและส่งเสริมธรรมาภิบาลกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” ได้ทำการวิจัยทดสอบเชิงประจักษ์พบว่าตัวแปรด้านความมั่นคงและธรรมาภิบาลที่มีผลกระทบต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ จึงขอให้กลุ่มต่างๆในสังคม รัฐบาล องค์กรราชการและธุรกิจเร่งสร้างธรรมาภิบาลและความมั่นคงให้เกิดขึ้นเพื่อเป็นสิ่งที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยิ่งในเวลานี้ ทีมนักวิจัยยังกล่าวอีกว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 10 ได้บรรจุเป้าหมายของดัชนีธรรมาภิบาลไว้เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญยุทธศาสตร์หนึ่งของประเทศไทย โดยรัฐบาลซึ่งเป็นผู้บริหารประเทศมีหน้าที่ดำเนินการพัฒนา และปรับปรุงปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อดัชนี ธรรมาภิบาลเพื่อให้ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ดี การที่จะทราบว่าปัจจัยด้านใดบ้าง ที่จะมีผลกระทบต่อธรรมาภิบาลได้นั้นจำเป็นต้องมีการศึกษาแบบจำลองทางเศรษฐมิติเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีธรรมาภิบาลกับตัวแปรต่างๆที่มีผลกระทบต่อดัชนี ซึ่งน้ำหนักของผลกระทบของแต่ละตัวแปรจะแตกต่างกันออกไปจากแบบจำลองนี้ รัฐบาลจะสามารถเลือก ปรับปรุงตัวแปรทางนโยบายที่เหมาะสมเพื่อที่จะผลักดันให้ดัชนีธรรมาภิบาลสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้ โจทย์ของงานวิจัยจะมุ่งไปสู่การพยายามตอบประเด็นคำถามเชิงนโยบายต่างๆ ในบริบทของยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงและส่งเสริมธรรมาภิบาล อาทิเช่น การลดปัญหาอาชญากรรมลงร้อยละสิบ ผลกระทบต่อสิทธิพลเมืองและความมั่นคง และคะแนนภาพลักษณ์ความโปร่งใสอยู่ที่ 5.0 (Transparency index) เป็นต้น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 02-997-2222 ต่อ 1238, 1239 โทรสาร 02-533-9695 E-mail: nidecon@hotmail.com; urai39@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ