กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสนับสนุนที่ระดับ ‘2’ ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (BAAC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (GHB) และธนาคารออมสิน (GSB) ซึ่งธนาคารทั้ง 3 เป็นธนาคารของรัฐบาล เมื่อพิจารณาถึงการที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นหลักและได้คำนึงถึงบทบาทการดำเนินธุรกิจของธนาคารที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารทั้ง 3 จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หากธนาคารดังกล่าวต้องการความช่วยเหลือ การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในสัดส่วนการถือหุ้น หรือการสนับสนุนจากภาครัฐ อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคารได้
BAAC มีสินทรัพย์รวม 588 พันล้านบาทและเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินแก่เกษตรกรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงปี 2550/51 ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิ 5.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากกำไรสุทธิปี 2549/50 ที่ 2.9 พันล้านบาท เนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อและต้นทุนทางการเงินที่ลดลง อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของ BAAC ยังคงอยู่ในระดับที่สูงที่ 5.6% ณ สิ้น มีนาคม 2551 ธนาคารมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว มาอยู่ที่ 43.8 พันล้านบาท (หรือ 9.8% ของสินเชื่อรวม) จาก 21.6 พันล้านบาท (หรือ 5% ณ สิ้น มีนาคม 2550) ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจัดชั้นสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นตามมาตรฐานบัญชี IAS39
GHB มีสินทรัพย์รวม 636 พันล้านบาท และเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นการให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนที่มีรายได้อยู่ในระดับล่างถึงระดับปานกลาง ทั้งนี้ธนาคารมีส่วนแบ่งการตลาดสำหรับตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ประมาณ 38% ในปี 2550 ธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 59% เป็น 3.7 พันล้านบาท เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของสินเชื่อที่ปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนทางการเงินที่ลดลง และการขยายตัวของสินเชื่อ อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของ GHB แม้จะปรับตัวดีขึ้นเป็น 1.5% ในปี 2550 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ สำหรับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว เป็น 3.4 พันล้านบาทในปี 2550 นั้น เป็นผลมาจากการที่ธนาคารได้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชี IAS39 และคาดว่าค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจะยังคงเพิ่มขึ้นในปี 2551 และ 2552 ซึ่งเป็นผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ได้เริ่มมีการชะลอตัวลงอย่างรุนแรง สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ จำนวน 52.5 พันล้านบาท หรือ 8.8% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2550 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2551 จากการเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น แม้ว่าอัตราส่วนทางการเงินในด้านสภาพคล่องของธนาคารอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ GHB ยังคงสามารถรักษาความเชื่อมั่นต่อธนาคารไว้ได้ เนื่องจากการถือหุ้นและการให้การสนับสนุนของรัฐบาล
GSB มีสินทรัพย์รวม 757 พันล้านบาท และธนาคารเป็นสถาบันการเงินของรัฐบาลที่ส่งเสริมการออม ในปี 2550 ธนาคารยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิ 10.7 พันล้านบาท แม้ว่าธนาคารจะมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอยู่ในระดับสูงที่ 6.4 พันล้านบาท (37% ของกำไรก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) เนื่องจากเกณฑ์การตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เข้มงวดขึ้น อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของ GSB ยังคงทรงตัวอยู่ที่ 3.5% สำหรับปี 2550 ในขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ สิ้นปี 2550 ของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 17.2 พันล้านบาท แต่สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำเพียง 3.7% GSB มีอัตราส่วนเงินกองทุนที่แข็งแกร่งที่สุดระหว่างธนาคารรัฐขนาดใหญ่ทั้ง 3 แห่ง และมีสัดส่วนส่วนของผู้ถือห้นต่อสินทรัพย์รวมที่ 11.5%
ติดต่อ
พชร ศรายุทธ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4761/59