กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนพฤศจิกายน 2551 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ 111,421 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 13,146 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม — พฤศจิกายน 2551) จัดเก็บได้ 201,904 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตาม เอกสารงบประมาณ 24,182 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. เดือนพฤศจิกายน 2551 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 111,421 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ ตามเอกสารงบประมาณ 13,146 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.6 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 6.3) เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บในสังกัดกระทรวงการคลังและการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าประมาณการ
ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการและเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน อากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ โดยมีสาเหตุ ดังนี้
- ภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรขาเข้าต่ำกว่าประมาณการ 4,621 และ 1,106 ล้านบาท ตามลำดับ เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว
- ภาษีน้ำมันต่ำกว่าประมาณการ 4,582 ล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์จาก 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน
- ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ต่ำกว่าประมาณการ 899 ล้านบาท ซึ่งชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ
ส่วนรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6,713 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารออมสิน ขอเลื่อนไปนำส่งรายได้ในเดือนธันวาคม 2551 จำนวน 3,098 ล้านบาท ขณะที่บริษัท ทีโอทีฯ และบริษัท กสท. โทรคมนาคมฯ ยังไม่ได้นำส่งรายได้ในส่วนของค่าธรรมเนียมการสื่อสารตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ 2,000 และ 1,175 ล้านบาทตามลำดับ
2. ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม — พฤศจิกายน 2551) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 201,904 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 24,182 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 12.8) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่ต่ำกว่า ประมาณการเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ รวมทั้งการนำส่ง รายได้ของรัฐวิสาหกิจที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 161,165 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 3,772 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 1.3) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,706 และ 2,366 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.5 และ 338.0 ตามลำดับ ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำ กว่าประมาณการ 3,365 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่ต่ำ กว่าประมาณการ
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 36,297 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 11,844 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.6 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 24.3) เนื่องจากภาษีเกือบทุกประเภทจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการและช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 16,387 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,113 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 3.5) เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,138 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.7 เป็นผลจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน 2551 เป็นสาเหตุหลัก
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 6,533 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 14,016 ล้านบาท หรือร้อยละ 68.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 76.4) โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและธนาคารออมสินขอเลื่อนการนำส่งรายได้ออกไป รวมทั้ง บริษัท ทีโอทีฯ และบริษัท กสท.โทรคมนาคมฯ ยังไม่สามารถนำส่งรายได้ค่าธรรมเนียมการสื่อสารตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
2.5 หน่วยงานอื่น นำส่งรายได้รวม 18,941 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1,221 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 39.4) เนื่องจากการจัดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมในเดือนพฤศจิกายนปีนี้สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ผลิตได้ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2551 (เฉลี่ย 115.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล) สูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (เฉลี่ย 70.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล) ค่อนข้างมาก
สำนักนโยบายการคลัง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3545