กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--สหมงคลฟิล์ม
THE ORPHANAGE สถานรับเลี้ยงผี
ชื่อ : THE ORPHANAGE สถานรับเลี้ยงผี
ประเภทหนัง : Drama / Horror
กำหนดฉายในไทย : 18 ธันวาคม 2551
เฉพาะโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพกซ์
นำเข้าและจัดจำหน่าย : J-Bics Film co.,Ltd
นักแสดง : เบเลน รูด้า (BELEN RUEDA),เจอรัลดีน แชปลิน (GARADINE CHAPLIN)
เฟอร์นานโด้ คาโย่ (FERNANDO CAYO),โรเจอร์ พรินเซ็ป (ROGER PINCEP)
ผู้กำกับ : ฮวน อันโตนิโอ บาโยน่า (JUAN ANTONIO BAYONA)
ผู้ช่วยผู้กำกับ เมนน่า ฟิตเต้
ผู้สร้าง : กีเยอร์โม่ เดลโทโร่
บทภาพยนตร์ : เซอร์จิโอ้ จี. ซานเชซ
ผู้อำนวยการสร้าง: เบเลน เอเทียนซ่า เอเลน่า แมนริเก้
ผู้อำนวยการสร้างบริหาร โรดาร์ อี โรดาร์ — มาร์ ทาร์กาโรน่า ฮัวคิน เปโดร
ผู้อำนวยการสร้างบริหาร เทเลซินโก้ ซีนีม่า - อัลวาโร่ ออกัสติน
ผู้จัดการฝ่ายโปรดักชั่น แซนดร้า เฮอร์มิด้า
ดนตรี เฟอร์นานโด้ เวลาซเควซ
ผู้กำกับภาพ ออสการ์ ฟอร่า
ฝ่ายตัดต่อ เอเลน่า รูอิซ
ฝ่ายเสียง ฆาเวียร์ มาส
ฝ่ายออกแบบเสียง ออริออล ทาร์ราโก้
ฝ่ายมิกซ์เสียง มาร์ค ออร์ทส์
ช่างแต่งหน้าเทคนิคพิเศษ DDT
เทคนิคพิเศษ จอร์ดี้ ซานต์ อกัสตี้
ผู้กำกับฝ่ายศิลป์ ยอแซป โรเซลล์
ฝ่ายเครื่องแต่งกาย มาเรีย เรเยส
ช่างแต่งหน้า ลอล่า โลเปซ
ช่างทำผม อิทเซียร์ อาร์เรียตต้า
ความยาว: 105 นาที
เว๊ปไซต์ http://www.theorphanagemovie.com/
เรื่องย่อ
ลอร่าใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างมีความสุขที่บ้านเด็กกำพร้าริมทะเล โดยมีพี่เลี้ยงและเจ้าหน้าที่ที่บ้านเด็กกำพร้าดูแลอย่างดี และเธอก็รักทุกคนในบ้านเด็กกำพร้าเหมือนพี่เหมือนน้อง
30 ปีต่อมา เธอกลับไปที่บ้านเด็กกำพร้าอีกครั้งพร้อมสามี คาร์ลอส และลูกชายวัย 7 ขวบ ซิมอน เธอฝันว่าจะบูรณะฟื้นฟูบ้านเด็กกำพร้าที่เธอเคยเติบโตมาอีกครั้งและเปลี่ยนให้เป็นบ้านเลี้ยงเด็กพิการแทน หลังจากที่ถูกปิดทิ้งร้างอยู่นาน บ้านใหม่และสภาพแวดล้อมที่ดูลึกลับได้ปลุกจินตนาการของ ซิมอน ขึ้นมา เด็กน้อยเริ่มแต่งและเล่าเรื่องราวในจิตนาการและเล่นเกมที่ไม่ใช่เกมใสซื่อของเด็กอีกต่อไป...
ทว่าเรื่องที่เขาแต่งนี้เริ่มทำให้ลอร่าไม่สบายใจ มันดึงเธอเข้าสู่โลกประหลาดของเด็กที่ทำให้ความทรงจำในวัยเด็กที่ไม่สบายใจของเธอซึ่งเธอลืมไปนานแล้วกลับมาหลอกหลอนเธออีกครั้ง
ยิ่งใกล้วันเปิดบ้านเด็กกำพร้าเท่าไหร่ ความตึงเครียดก็ก่อตัวขึ้นในครอบครัวนี้มากขึ้นเท่านั้น คาร์ลอส แอบสงสัยว่า ซิมอน จะกุเรื่องขึ้นเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่ ลอร่า กลับค่อยๆ เชื่อว่ามีบางอย่างที่น่ากลัวแอบซ่อนอยู่ในบ้านร้างแห่งนี้ บางอย่างที่รอการปรากฎตัวเพื่อทำลายครอบครัวของเธอ
บทสมภาษณ์ กีเยอร์โม่ เดลโทโร่ (โปรดิวเซอร์) กับ ผลงาน THE ORPHANAGE
ผมติดตามผลงานของ เจ.เอ.บาโยน่า ผู้กำกับภาพยนตร์สั้นเรื่อง My Holidays กับ The Sponge Man และยังมีมิวสิควิดีโอบ้า ๆ ที่ผมชื่นชอบอีกหลายเรื่อง ความสามารถของเขาโดดเด่นพอจะกำกับภาพยนตร์ได้เลย ฉะนั้นการสร้างเรื่องนี้จึงไม่เกินความสามารถของเขาอยู่แล้ว พอได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราทุ่มเทไปนั้นคุ้มค่า ผมคร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์มานาน เคยได้รับบทภาพยนตร์มาก็หลายเรื่อง แต่ไม่ใช่เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าผมสนใจที่จะให้โอกาสผู้กำกับหน้าใหม่เพียงแค่นั้น ยังมีผู้กำกับหลายคนที่มาขอความเห็นและคำแนะนำกับผม แต่น่าเสียดายว่านานๆ ครั้งถึงจะมีบทภาพยนตร์ดีๆ สักเรื่อง บทภาพยนตร์บางเรื่องอาจฉายแววความสนุกบ้าง แต่น้อยเรื่องที่เหมาะจะนำมาดัดแปลงทำภาพยนตร์ แต่ทว่าพอผมอ่านบทเรื่อง The Orphanage ผมรู้ทันทีว่าเรื่องนี้โดดเด่นต่างจากเรื่องอื่นๆ
บทภาพยนตร์ของ เซอร์จิโอ้ จี. ซานเชซ เป็นบทหนังที่ดีที่สุดที่ผมได้อ่านมาในช่วงหลายปีนี้ แค่อ่านไปไม่กี่หน้า ผมก็รู้ว่าเรื่องนี้ไม่เพียงแต่รวมองค์ประกอบของหนังแนวนี้อาทิเช่น บ้านผีสิง ผี เอกภพคู่ขนาน ไว้ได้อย่างลงตัว แต่บทยังมีความลึกซึ้งซึ่งหาได้ยากมาก
The Orphanage ไม่ได้เป็นเพียงหนังสยองขวัญธรรมดา แต่มันมีความพิเศษตรงที่จังหวะนั้นสมบูรณ์แบบ การนำเสนอภาพก็ไม่ธรรมดา เราไม่ได้นำเทคนิคพิเศษมาช่วยให้ผู้ชมสั่นประสาท แถมสถานที่ถ่ายทำสุดคลาสสิก และองค์ประกอบต่างๆ เกี่ยวกับหนังแนวนี้เปิดโอกาสให้เราได้ตีความกันด้วย The Orphanage ยังมีความลึกซึ้งด้านอารมณ์ นอกจากเหตุการณ์เหนือธรรมชาติที่ทำให้ผู้ชมหวาดผวาแล้ว เรื่องราวของเรื่องนี้ยังสะท้อนแง่มุมความเจ็บปวดจากการสูญเสียออกมาได้ประณีตและงดงามที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา บาโยน่าไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความลึกลับและความระทึกขวัญ แต่เขายังนำเสนอเรื่องราวสะท้อนชีวิตได้อย่างสะเทือนอารมณ์โดยการหล่อหลอมตัวละครที่มีสายใยแห่งความห่วงใยและความถูกต้องเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกัน
บาโยน่า ยกความดีความชอบให้กับบทภาพยนตร์ของ ซานเชซ ส่วนตัวเขาเองก็แสดงให้เห็นว่าเป็นเจ้าพ่อด้านภาษาภาพและเสียงที่มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใคร นอกจากนี้เขายังกำกับนักแสดงออกมาได้อย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะ เบเลน รูด้า ที่เจิดจ้าด้วยบทบาทของสาวผู้กล้าหาญและมีสายตาแหลมคม แต่ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือบาโยน่าสนุกในงานที่เขาทำ
มาพูดถึงบทเรื่องนี้กัน
บทภาพยนตร์เวอร์ชั่นแรกของ ซานเชซ เขียนขึ้นในปี 2000 แต่บทเรื่องนี้กว่าจะถึงมือ เจ.เอ. บาโยน่า ผู้กำกับก็ปาเข้ามาในปี 2004 หลังจากนั้นแป๊บเดียว โครงการนี้ก็ได้รับเลือกโดยสถาบันซันแดนซ์ สคริปต์ แล็บ
ซานเชซ กับ บาโยน่า ใช้เวลาปีกว่าในการปรับบทใหม่ บาโยน่า จำได้ว่า “ แก่นเรื่องนี้ดีมาก แต่ผมอยากนำมาดัดแปลงให้เข้ากับสไตล์ที่ผมชอบ ตอบสนองความต้องการของผม ”
The Orphanage มีหลายอย่างเหมือนกับหนังในจินตนาการที่ไม่ค่อยได้ชมในทุกวันนี้ ความน่ากลัวเกิดจากองค์ประกอบในชีวิตประจำวันที่ค่อยๆ แย่ลงจนกระทั่งพวกเขาเปิดประตูต้อนรับความบ้าคลั่ง ความสยองขวัญในเรื่องนี้ไม่ได้มาจากภายนอก หรือมาจากจิตใจวิปริตของผู้ป่วยโรคจิต หรือมาจากผลการที่ตัวละครเอกเข้าไปยังดินแดนต้องห้าม แต่ความสยองเกิดจากสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ ในใจของครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ แล้วมันก็เติบโตขึ้นอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดจนทำลายพวกเขาอย่างย่อยยับ
บาโยน่า กล่าวว่าเรื่องนี้เน้นสื่อถึงความกลัวของการพลัดพราก ตัวละครในเรื่องต่างอยู่กับความเจ็บปวดจากการพลัดพรากในอดีต หรือไม่ก็ความกลัวที่จะต้องพลัดพราก ความกลัวนั้นสื่อแสดงออกมาในรูปของสิ่งที่มีชีวิตและอยู่ในสภาพแวดล้อมของพวกเขา แปรเปลี่ยนความฝันที่จะอยู่กันอย่างมีความสุขกลายเป็นฝันร้ายที่ทำลายพวกเขา
เกี่ยวกับงานโปรดักชั่น
การนำบท The Orphanage มาลงจอ บาโยน่าเล็งเห็นแล้วว่าจะต้องเพิ่มงบดั้งเดิมและเวลาในการถ่ายทำเป็น 2 เท่า พอ กีเยอร์โม่ เดลโทโร่ มาที่กองถ่าย บาโยน่า เล่าว่าเขาพบ กีเยอร์โม่ เมื่อ 14 ปีก่อน ตอนที่เขามาเสนอภาพยนตร์เรื่อง Cronos ในงานเทศกาลภาพยนตร์แฟนตาซีที่ซิทเกส์ พอเขารู้เรื่องโปรเจคของเรา เขาก็เสนอตัวขอเป็นผู้อำนวยการสร้างร่วมภาพยนตร์เรื่องนี้ หลังจากนั้นอะไรๆ ก็ง่ายขึ้น บริษัทโปรดักชั่น It’s Alive! New Talent Lab ของโรดาร์ อี โรดาร์ ให้อิสระกับผู้กำกับเต็มที่ในการดึงทีมงานประจำที่เขาเคยร่วมงานด้วยตอนถ่ายทำโฆษณาและมิวสิควิดีโอ
เริ่มถ่ายทำวันที่ 15 พ.ค. 2006 ที่เลนส์ ในแอสตูเลียส เหตุผลที่ทีมงานเลือกที่นี่เป็นสถานที่ถ่ายทำเพราะความหลากหลายทางธรรมชาติที่งดงาม ไม่ว่าจะเป็น ถ้ำเวิ้งที่ดูลึกลับ หน้าผาที่สูงตระหง่าน ชายหาดที่ทอดยาวยังไม่มีคนไปทำลาย ทิวป่าไม้ เทือกเขาหรือแม้แต่กลุ่มหมู่บ้านที่ทีมงานสร้างพายุหิมะครั้งใหญ่ในช่วงคริสต์มาสขึ้นกลางเดือนสิงหาคม เลนส์ยังช่วยให้ทีมโปรดักชั่นได้สถานที่ถ่ายทำที่สำคัญที่สุดในเรื่องด้วย นั่นคือคฤหาสน์ Partarriu บ้านที่ในเรื่องเคยเป็นบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าเก่า
บาโยน่า กล่าวว่า เขาไม่ได้ต้องการคฤหาสน์หลังใหญ่ที่ทางเดินไกลสุดลูกหูลูกตาเหมือนในเรื่อง เดอะ ไชน์นิ่ง เขาต้องการหลังที่เล็กลงมาหน่อย แต่ก็ต้องใหญ่พอให้ดูสมจริง คฤหาสน์ Partarriu มีองค์ประกอบเหล่านี้ครบถ้วน มันเป็นบ้านสไตล์โคโลเนี่ยลที่เก่าแก่ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งช่วยให้รู้สึกได้ถึงความลึกลับอย่างแท้จริง แค่แวบเรียกที่เห็นบ้านหลังนี้ก็ให้ความรู้สึกของภาพมายา เพราะภาพที่ฉาบไว้ภายนอกนั้นต่างกัน ให้ความรู้สึกว่าบ้านนี้กำลังจะเปลี่ยนไป
แต่ผู้กำกับตั้งใจว่าเนื่องจากจะต้องมีการใช้มุมกล้องที่ซับซ้อน จึงได้ตามมัณฑนากรมาตกแต่งบ้านใหม่หมด บาโยน่ากล่าวว่าในหัวผมจะนึกถึงภาพยนตร์สยองขวัญเก่าๆ อย่างเรื่อง ดิ อินโนเซนตส์ ของแจ๊ค เคลย์ตัน และ เดอะ ฮอนติ้ง ของ โรเบิร์ต ไวส์ ฉะนั้นเรื่องนี้จะต้องสร้างออกมาให้คลาสสิก มีการเตรียมงานตั้งแต่ในสตูดิโอ พวกเราตั้งใจอย่างมาก ทุกอย่างมีการเตรียมการไว้อย่างละเอียดและต้องแม่นยำ เพื่อที่ว่าพอลงกอง จะได้ถ่ายทำได้สำเร็จตามที่ต้องการ
เพื่อให้การถ่ายทำสำเร็จลุล่วงด้วยดี ตลอดทั้งเรื่องจะมีการร่างภาพให้เห็นก่อนล่วงหน้า มีการสเกตช์ภาพ ทำสตอรี่บอร์ด และวาดแบบเสนอแนวคิดก่อนถ่ายทำจริง นับพันๆ ครั้ง มีการนำกราฟฟิก 3 มิติมาเนรมิตภาพกองถ่ายทั้งหมด เพื่อดูว่าผู้กำกับภาพควรตั้งกล้องตรงไหนก่อนที่จะลงกองจริง หลังจากถ่ายทำที่เลนส์ 4 สัปดาห์ ทีมงานย้ายไปถ่ายทำที่บาร์เซโลน่าจนถ่ายทำเสร็จภายใน 10 สัปดาห์
บทสัมภาษณ์ เจ.เอ.บาโยน่า (JUAN ANTONIO BAYONA)ผู้กำกับเรื่องนี้
คำถาม - จำเป็นรึเปล่าคะว่าการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของคุณต้องเป็นภาพยนตร์สยองขวัญ
ผมว่าเป็นเพราะบทภาพยนตร์ในเรื่องนี้มากกว่าที่ทำให้ผมรู้สึกอยากกำกับ โปรเจคนี้ดึงดูดผมมากทีเดียว แต่ก็จริงที่ว่าภาพยนตร์สยองขวัญถือเป็นโรงเรียนที่ดี เพราะเราสามารถกำหนดช่วงเวลาได้อย่างที่เราต้องการ เพื่อนำมาใช้กับการเคลื่อนกล้องให้ได้เอฟเฟคที่เราต้องการ จุดนี้ทำให้เรารู้สึกอุ่นใจ แต่สิ่งที่จะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชีวิตขึ้นมานั้นอยู่นอกเหนือข้อจำกัดของภาพยนตร์แนวนี้ นั่นก็คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง การแสดงที่สมจริง ระดับของความเกี่ยวข้องที่คุณกำลังเล่าเรื่อง
คำถาม — ภาพยนตร์เรื่องแรกควรเป็นผลงานศิลป์ไหม
ผมว่าภาพยนตร์ควรเป็นผลงานของผู้สร้างหนังในขณะนั้นที่คุณทำงานมากกว่า ผมไม่รู้ว่าในฐานะผู้สร้างหนัง มันจะออกมาในรูปแบบใด ผมมองว่าการวางพล็อตไว้ก่อนจะดูมีแบบแผนเป็นเหตุเป็นผลมากไปหน่อย ผมเชื่อว่าการสร้างควรออกมาจากสัญชาตญาณ ความรู้สึกมากกว่า
คำถาม — คุณดัดแปลงบทเรื่องนี้กับ เซอร์จิโอ้ ซานเชซ ยังไงคะ
ส่วนนี้เป็นงานที่ยุ่งยากที่สุด บทร่างเรื่องนี้เขียนมาเกือบสิบปีแล้ว พอผมได้เข้ามา ผมอยากให้บทเป็นในแบบผมเอง พวกเราจึงรื้อสคริปต์ใหม่หมด คำถามแรกของผมก็คือ ทำไมลอร่าถึงกลับไปที่บ้านหลังนั้นอีกตอนที่เธอโตแล้ว นั่นคือปมปริศนาของเรื่องทั้งหมด The Orphanage กลายเป็นการเดินทางสู่อดีต ย้อนกลับไปในวัยเด็ก เรื่องทางจิตใจของคนที่ยึดติดอยู่กับอดีตเพราะเธอไม่กล้าเผชิญหน้ากับปัจจุบัน แล้วในที่สุดเธอก็หาทางหนีมันผ่านทางจินตนาการของเธอ
อีกอย่างนึง ที่ถือเป็นความท้าทายมากคือการคงความอึมครึมไว้ เราสามารถอ่านบทเรื่องนี้โดยดูตามหลักความเป็นจริงได้ ไม่ได้มองว่าเป็นหนังผี แต่เป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนนึงที่เสียสติ การคงความกำกวมนี้ไว้กลายเป็นข้อจำกัดใหญ่ของเรา จุดนี้เองทำให้การทำงานของเราตื่นเต้นท้าทายมาก
คำถาม - ภาพยนตร์สั้นที่คุณเคยกำกับมาแสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลของอเมริกามาแบบเต็มๆ ขณะที่เรื่อง The Orphanage ออกมาในแนวยุโรป คุณตั้งใจอย่างนั้นหรือคะ
ไม่ว่าจะภาพยนตร์สั้นที่ผมเคยกำกับหรือเรื่อง The Orphanage ผมก็ตั้งใจให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างโลกของความเป็นจริงกับโลกของฮอลลีวู้ดอยู่แล้ว ผมชอบมองว่าตัวเองเป็นคนหยิบยกประเด็นความขัดแย้งนี้ ไม่ออกมาแนวฮอลลีวู้ดเกินไป แล้วก็ไม่ออกแนวหนังที่ผมเคยดูตอนเด็กๆ มากเกินไป ผมมองว่าสิ่งสำคัญคือผสมผสานทั้งสองสิ่งนี้ คาร์ลอส สามีของลอร่าหาว่าเธอจินตนาการสร้างเรื่องขึ้นมาเอง ผมไม่รู้ว่า The Orphanage ออกมาเป็นหนังสไตล์ยุโรปรึเปล่า แต่ที่ผมตั้งใจไว้ก็คือไม่อยากให้ออกมาในแนวเล่าเรื่อง ลอร่าเริ่มการเดินทางนี้ซึ่งคล้ายกับ บทบาทของริชาร์ด ดรายฟัสในเรื่อง “โคลส เอ็นเคาน์เตอร์” ผมชื่นชมโพลันสกี้ที่เกริ่นนำโดยใช้เรื่องราวในชีวิตประจำวัน พื้นที่ มุมกล้องและภาพในการเล่าเรื่อง
คำถาม — คุณได้ปรึกษาเรื่องแหล่งอ้างอิงของคุณกับผู้อำนวยการสร้าง กีเยอร์โม่ เดลโทโร่ บ้างรึเปล่า ว่าคุณจะถ่ายทอดเรื่องนี้และเสนอออกมาในแง่มุมที่เป็นส่วนตัวแบบนี้
ไม่ค่อยได้พูดถึงมากครับ เรารู้กันอยู่แต่เรานำเสนอให้พอดีไม่มากหรือน้อยเกินไป เราจะเน้นไปที่เรื่องราวว่าลอร่าสูญเสียทุกอย่างยังไงจนกระทั่งเธออยู่ในวังวนของสิ่งที่เธอคิดเอาเอง นี่คือสิ่งที่เชื่อมโยงเรื่อง The Orphanage เข้ากับ Pan’s Labyrinth กีเยอร์โม่กับผมเห็นตรงกันในจุดนี้
คำถาม — ส่วนตัวคุณคิดว่ายากไหมกับการทิ้งวัยเด็กไว้ข้างหลัง
ในภาพยนตร์สั้นของผมจะเห็นมุมมองความขัดแย้งระหว่างโลกของผู้ใหญ่กับชีวิตในวัยเด็กอยู่แล้ว ทรัฟเฟาต์กล่าวว่า วัยเด็กเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็หยิบยกมาพูดได้เหมือนผู้รู้ ซึ่งผู้กำกับรุ่นใหม่ในยุคเรามักจะอ้างว่าไม่มีอะไรจะพูด
คำถาม — ในฐานะผู้กำกับ เราเข้าใจใครได้มากกว่ากัน ลูกหรือแม่
ทั้งคู่ครับ แม่เป็นคนเริ่มเรื่องนี้แล้วสุดท้ายก็ทำให้เธอกลายเป็นเด็ก ในช่วงครึ่งชม.แรก ซิมอน จะเล่นกับเพื่อนในจินตนาการของเขา แต่ตอนหลัง ลอร่าจะเป็นคนติดต่อแทน เราจะเห็นเธอใส่ชุดนักเรียน ผมเพิ่มสีสันให้กับตัวละครของซิมอนโดยใส่รายละเอียดนิดๆ หน่อยๆ ในวัยเด็กผมลงไป ส่วน เบเลน ก็ช่วยผมให้ตัวละครเธอมีความลึกซึ้งขึ้น เธอมีประสบการณ์การเป็นแม่คน ซึ่งผมไม่มี ฉะนั้นเธอจึงรู้ว่าต้องใส่อะไรลงไปถึงจะค่อยๆ นำไปสู่โศกนาฎกรรมของตัวละครเธอ
คำถาม — คุณคิดฉากเข้าทรงสื่อกับ เจอรัลดีน แชปลิน ยังไง
ฉากนี้ท้าทายมาก เราต้องถ่ายทำออกมาแต่ต้องคงความเป็นปริศนาอยู่ ฉากเข้าทรงเป็นฉากสำคัญที่สุดในเรื่อง จะต้องเป็นฉากที่น่าตื่นตาตื่นใจโดยไม่ต้องพึ่งเทคนิคพิเศษเข้าช่วยเลยแม้แต่นิดเดียว ในที่สุดก็เกิดคำถามในแง่มุมมองและเทคนิคการใช้เสียงที่ต้องระวังมากๆ
คำถาม — ซิมอน เป็นลูกบุญธรรม ประเด็นนี้มีผลกับแก่นเรื่องในแง่ความรู้สึกผิด การสูญเสียและความเป็นแม่ในหนังมากน้อยแค่ไหนคะ
ประเด็นเรื่องความเป็นแม่และความรับผิดชอบจะเด่นชัดขึ้นมาเมื่อรู้ว่า ซิมอน เป็นเด็กที่รับอุปการะมา และยังทำให้เรามองชีวิตคู่ของ ลอร่า และ คาร์ลอส และความต้องการที่จะปกป้องเด็กที่อ่อนแอของพวกเขาได้ทะลุปรุโปร่งขึ้น และยังแสดงให้เห็นถึงความคลึงกันระหว่างลอร่ากับเวนดี้ในเรื่องปีเตอร์แพนได้ชัดเจนขึ้น เวนดี้คิดว่าตัวเองเป็นแม่ของแก๊งลอสต์ บอยและตลอดชีวิตเธอก็จะคอยอ่านนิทานก่อนนอนให้พวกนั้นฟัง
คำถาม — จะเห็นคนพิกลพิการ และความเจ็บป่วยตลอดทั้งเรื่อง ช่วยบอกได้ไหมคะว่าทำไม
หนังสยองขวัญเป็นเรื่องอะไรๆ ที่ผิดๆ อยู่แล้ว หนังแนวนี้จะต้องนำเราไปยังที่ที่เรากลัว เผยให้เราเห็นสิ่งที่เราหวาดกลัว ไม่ชอบ ความพิการและความเจ็บป่วยทำให้เราใจเสีย เราต้องทำให้ผู้ชมขาดความอุ่นใจ มั่นคง นั่นละคือความสยองที่แท้จริง โลกไหนกันแน่ที่น่ากลัวกว่ากัน โลกความเป็นจริงหรือโลกที่ ลอร่า จินตนาการขึ้น ในทางตรงกันข้ามความเจ็บป่วยกระตุ้นให้เรารู้สึกถึงความตาย การเกิดแก่เจ็บตาย สิ่งนี้คือสิ่งที่ ลอร่า ต้องเรียนรู้ที่จะเผชิญให้ได้
คำถาม — ทำไมถึงสร้างเมรุเผาศพคะ ต้องการสอดแทรกแง่มุมการเมืองรึเปล่าคะ
ผมไม่ได้คิด ที่เห็นในหนังไม่ใช่เมรุเผาศพ เป็นแค่โรงเก็บถ่าน เตาที่ไม่มีประตูไม้
คำถาม — คุณจะพูดถึงความสำเร็จในตลาดหนังนานาชาติของหนังสยองขวัญจากสเปนและเอเชียขณะที่หนังสยองขวัญจากอเมริกาที่เน้นแต่แนวแหวะๆ เลือดสาด ทรมาน และเน้นเทคนิคพิเศษแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ยังไงคะ
ในวงการฮอลลีวู้ด การออกแบบโปรดักชั่นมีความสำคัญพอๆ กับดาราดัง ผู้บริหารนำเทคนิคพิเศษมาใช้ในทางที่ผิดๆ ใช้เสียงและดนตรีมาสะกดคนดู มันเป็นกลยุทธที่จะช่วยลดข้อด้อยของบทภาพยนตร์ที่ไม่ค่อยดี แต่นี่ไม่ใช่ความผิดของคนดู ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดอย่างเรื่อง The Sixth Sense, The Blair Witch Project หรือ The Others เป็นบทพิสูจน์ถึงศักยภาพของการโฆษณาภาพยนตร์ของพวกเขาโดยไม่ต้องพึ่งเทคนิคภาพมากเกินความจำเป็น
ละครทีวีก็เช่นกันไม่สนใจแนวเงียบๆ สงวนคำพูดหรือความคิดเมื่อมาถึงฉากที่ต้องแสดงความรุนแรง ทุกวันมีแต่ถ่ายทอดสดการขับรถไล่ล่า การผ่าตัดศัลยกรรม ก็เป็นธรรมดาที่หนังจะเกาะกระแสมาในแนวนี้
คำถาม — คุณรู้สึกว่าตัวเองเป็นหนึ่งในผู้กำกับนิวเวฟของสเปนรึเปล่า
ตอนนี้ที่สเปน เราเริ่มมีเครื่องมือที่จะไปแข่งกับหนังนานาชาติ ผมไม่ได้พูดถึงแค่เฉพาะเรื่องเทคนิคเท่านั้น ผมเรียนภาพยนตร์มา เทคนิคบางอย่างสำหรับผู้สร้างหนังที่แก่กว่าผมในสเปน มันเป็นไปไม่ได้เลย ตอนนั้นยังไม่มีการเรียนทำภาพยนตร์ The Orphanage ไม่ได้เป็นแค่ผลงานกำกับเรื่องแรกของผม แต่ยังเป็นครั้งแรกของผู้เขียนบท เป็นผู้กำกับภาพ จนท.ตัดต่อ ผู้ประพันธ์เพลง...ผมไม่รู้ว่าพวกเราเป็นนิวเวฟไหม ผมรู้แต่ว่าเราคงไม่มีวันนี้ถ้าไม่มีคนที่บุกเบิกทางมาก่อนเรา
เบเลน รูด้า (BELEN RUEDA)
เจ.เอ.บาโยน่า เลือก เบเลน รูด้า มารับบท ลอร่า ตั้งแต่แรก เขาให้เหตุผลว่า “ผมต้องการนักแสดงหญิงที่มีความสามารถรอบตัว เบเลน สามารถแสดงความอ่อนแอแต่แฝงความแข็งแกร่งจากภายในได้ในขณะเดียวกัน ทำให้เธอดูมีพลังมาก เธอทำให้ผมนึกถึงดารานำหญิงในหนังของ เจมส์ คาเมรอน แล้วเธอยังเป็นยอดคุณแม่ ซึ่งช่วยเรามากในการสร้างตัวละครนี้ขึ้นด้วยกัน
การรับบท ลอร่า เป็นความท้าทายของเบเลน รูด้า ไม่เพียงแต่เป็นครั้งแรกที่เธอรับบทนำ แต่ยังเป็นครั้งแรกที่เธอแสดงหนังแนวนี้ด้วย เบเลน จำความรู้สึกที่บทเรื่องนี้ดึงดูดเธอครั้งแรกได้ เธอกล่าวว่า ตอนนั้นไม่มีใครอยู่บ้าน ฉันอ่านบทอยู่คนเดียวแล้วกลัวมาก แต่ก็อ่านแล้ววางไม่ลง เนื้อเรื่องดึงดูดมาก และมีอะไรให้เราคาดไม่ถึงตลอด ทุก 3-4 ฉากจะทำให้คุณสะดุ้งได้ตลอด มีเรื่องให้เราเกิดปริศนาแล้วทำให้เราคิดทบทวนถึงเรื่องทั้งหมดอีกครั้งจนกว่าจะเฉลย ความรู้สึกแรกหลังจากที่อ่านบทเรื่องนี้จบ ฉันรู้สึกว่าต้องแสดงเรื่องนี้ให้ได้
เบเลน รูด้า ทุ่มเทให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้มาก ทั้งทางด้านร่างกายและอารมณ์ บาโยน่า พอใจกับผลงานของรูด้ามาก เขากล่าวว่า เธอน้ำหนักลดลงไปถึง 8 กิโลระหว่างถ่ายทำ แต่เธอก็ไม่ห่วงสวยแม้แต่น้อย และไม่ใช่เพียงแต่ผู้กำกับที่รู้สึกเช่นนี้ ทีมงานก็รู้สึกเช่นกัน บาโยน่ากล่าวว่า ทีมงานทุกคนปรบมือให้เธอพร้อมกันตอนจบเทคสุดท้าย เป็นอะไรที่น่าประทับใจมาก เบเลนมีหลายอย่างที่คล้ายกับตัวละคร ลอร่า เธอกล้าหาญมากที่รับบทเรื่องนี้ และผมก็ขอบคุณเธอมาก
ประวัติผลงานล่าสุดของ เบเลน รูด้า
2007- Savage Grace — กำกับโดย ทอม คัลลิน ใกล้ออกฉายเร็วๆ นี้
2007 — The Orphanage (El Orfanato) — กำกับโดย เจ.เอ. บาโยน่า
2004 — The Sea Inside (Mar Adentro) — กำกับโดย อเลฮานโดร อเมนนาบาร์
เจอรัลดีน แชปลิน(GARADINE CHAPLIN)
ลูกสาวของชาร์ลส์ แชปลิน เดวิด ลีนพบเจอรัลดีน แชปลินตอนเธอเต้นรำอยู่ในปารีส ซึ่งนำเธอไปสู่บทบาทในเรื่อง Doctor Zhivago ตั้งแต่นั้นมานักแสดงที่มากฝีมือผู้นี้ก็ได้ร่วมงานกับผู้สร้างหนังคนดังๆ อย่าง โรเบิร์ต อัลท์มาน คาร์ลอส ซอร่า ฟรังโก้ เซฟฟิเรลลี่ ริชาร์ด แอทเทนเบรอะห์
ประวัติผลงานล่าสุดของ เจอรัลดีน แชปลิน
2007 — The Orphanage (El Orfanato) — กำกับโดย เจ.เอ.บาโยน่า
2004 — The Sea Inside (Mar Adentro) — กำกับโดย อเลฮานโดร อเมนนาบาร์
2007 — The Tottenwackers — กำกับโดย อิบอน คอร์เมนซาน่า
2007 — Miguel & William — กำกับโดย อิเนส ปารีส
2007 — Theresa, The Body of Christ — กำกับโดย เรย์ ลอริก้า
2005 — Melissa P. — กำกับโดย ลูก้า กัวดานินโย่
2005 — Heidi — กำกับโดย พอล มาร์คัส
2004 — The Bridge of San Luis Rey — กำกับโดย แมรี่ แมคกุคเกี้ยน
2002 — Talk to Her — กำกับโดย เปโดร อัลโมโดวาร์
2002 — The City of No Limits — กำกับโดย อันโตนิโอ เฮอร์แมนเดซ
ได้รับรางวัลโกย่าในสาขาดาราสมทบหญิงยอดเยี่ยม
2001 — Just Run — กำกับโดย ซอร่า เมดราโน่
1995 — Home for the Holidays — กำกับโดย โจดี้ ฟอสเตอร์
1996 — Jane Eyre — กำกับโดย ฟรังโก้ เซฟฟิเรลลี่
1994 — Words Upon the Window Pane — กำกับโดย แมรี่ แมคกุคเกี้ยน
1993 — The Age of Innocence — กำกับโดย มาร์ติน สกอร์เซซี่
1992 — Chaplin —กำกับโดย ริชาร์ด แอทเท่นเบรอะห์
ได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม
โรดาร์กรุ๊ป
นำทีมโดยฮัวคิน เปโดรและมาร์ ทาร์กาโรน่า โรดาร์กรุ๊ปทำงานหลายด้านเกี่ยวกับวงการสื่อภาพและเสียง
โรดาร์และโรดาร์ แอดเวอร์ไทซิ่ง กวาดรางวัลมาแล้วกว่า 140 รางวัลในสาขานี้ หนึ่งในรางวัลดังกล่าวก็คือรางวัลกรังด์ปรีซ์จากเมืองคานส์ที่มอบให้กับโปรดิวเซอร์ชาวสเปน
โรดาร์และ โรดาร์ ซีนีม่าและเทเลวิชั่น อำนวยการสร้างเรื่อง Vivancos 3 ภาพยนตร์ที่มีผู้ชมมากที่สุดเรื่องนึงในปี 2002 และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีผลงานเรื่อง “Entre Vivir Y Sonar” (Between Life and Dreams)
และเพิ่งเปิดตัวหนังเรื่อง “El Habitante Incierto” (The Unsure Inhabitant) ของ“It’s Alive! New Talents Lab” ร่วมกับกีเลี่ยม โมแรลส์ ภาพยนตร์ที่ได้รับการยกย่องจากเทศกาลซิทเกส์ และโมนิก้า โลเปซ ยังได้รับรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม และยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโกย่าสาขาผู้กำกับดาวรุ่งยอดเยี่ยม
TELECINCO CINEMA
เทเลซินโก้ สนับสนุนวงการภาพยนตร์สเปนผ่านทีมงานโปรดักชั่น TELECINCO CINEMA มาตลอดปีที่แล้ว
จากผลของการทุ่มเทนี้ TELECINCO CINEMA ได้ร่วมอำนวยการสร้างภาพยนตร์ดังๆ หลายเรื่องเมื่อเร็วๆ นี้ของวงการหนังสเปน ตั้งแต่ El Otro Lado de la Cama และ Dias de Futbol ไปจนถึง Los dos Lados de la Cama
ความทุ่มเทให้กับการสร้างภาพยนตร์ในประเทศนี้ยังรวมไปถึงการจัดหาสิทธิ์ในการแพร่ภาพให้กับภาพยนตร์เรื่องล่าสุด เช่น Darkness ของ Jaume Balaguero หรือ La Gran Aventura Mortadelo y Filemon ของ Javier Fesser
ผลงานเรื่องล่าสุดของเทเลซินโก้ ซีเนม่าคือ Kovak Box ของแดเนียล มอนซอน Dias de cine ของเดวิด เซอร์ราโน่ โดยเฉพาะ Alatriste ของอะกัสติน ดิแอซ ยาเนส และ Pan’s Labyrinth ของกีเยอร์โม่ เดลโทโร่
โปรเจคทั้งหลายที่กำลังถ่ายทำอยู่นี้ ผลงานที่น่าสนใจก็ได้แก่ Ladrones ของ Jaime Marques, Salir pitando ของ Alvaro Fernandez Armero และ The Oxford Murders ของ Alex de la Iglesia
ผลงานของโรดาร์กรุ๊ป
1993 Muere Mi Vida (“My Life Dies”) กำกับโดย มาร์ ทาร์กาโรน่า
2002 Vivancos 3 กำกับโดย อัลเบิร์ต ซาเกอร์
2004 Entre Vivir Y Sonar (“Between Life and Dreams”) กำกับโดย อัลฟองโซ่ อัลบาเซเต้กับเดวิด เมนเกส
2004 El Habitante Incierto (“The Unsure Inhabitant”) กำกับโดย กีเลี่ยม มอราลส์
2007 El Orfanato (“The Orphanage”) กำกับโดย เจ.เอ.บาโยน่า
2007 No Me Pidas Que Te Bese, Porque Te Besare (“Don’t Ask Me to Kiss You Because I Will”) กำกับโดย อัลเบิร์ต เอสปิโนซ่า