กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--พับบลิค ฮิต
“อย่าให้ความอาย มาทำลายชีวิตของเรา” ประโยคนี้สามารถสื่อความหมายได้เป็นอย่างดี เมื่อได้ทราบข้อมูลยืนยันที่น่าตกใจไม่น้อยว่า แต่ละวันจะมีผู้หญิงไทย 7 คน เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย และที่น่าห่วงคือปัจจุบันมีผู้หญิงไทยเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นจำนวน 6,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 45 ปี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้ วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็น วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ สำหรับปีนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ได้จัดนิทรรศการ งานวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ ภายใต้แนวคิด “TOO YOUNG TO DIE” (Have no fear, take a Pap Smear) ขึ้นเมื่อวันก่อน ณ อีเดนโซน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้หญิงทุกคนตระหนักถึงภัยของมะเร็งปากมดลูก เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคให้ความรู้และรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการป้องกัน ซึ่งเป็นการลงทุนที่ให้ผลคุ้มค่าที่สุด รวมทั้งการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วย โดยมี นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการเปิดงานกิจกรรมวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ และมี นายแพทย์เรวัตร วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ คอยให้การต้อนรับ
“เป็นที่ทราบดีว่าโรคมะเร็งเป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้นๆ คนที่ป่วยเป็นโรคนี้ถือว่าโชคร้ายเพราะต้องทนทุกข์ทรมาณ ถ้าใครตรวจพบในระยะแรกๆ ก็ยังสามารถรักษาได้ แต่ถ้าป่วยในระยะที่ 3 ก็รักษายาก หากเราเรียนรู้และเข้าถึงโรคมะเร็งก็จะทำให้ปลอดภัยมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้หยิบยกโรคมะเร็งปากมดลูกมาเป็นประเด็นสำคัญจุดหนึ่งในงานนี้ ซึ่งเป็นโรคที่น่ากลัวสำหรับผู้หญิง อีกทั้งยังต้องมีการตรวจสอบอาการของโรคด้วย ทำให้ผู้หญิงเกิดความอาย จึงยากลำบากในการรักษา จึงต้องหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยเพื่อให้กลุ่มสตรีได้ระวังและป้องกัน ถ้ามัวแต่อายหรือกลัว ทุกคนก็มีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ การประชาสัมพันธ์ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นแค่จุดแรกเท่านั้น แต่ถ้าจะให้เกิดผลสำเร็จจะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และสำหรับการจัดงานวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาตินี้ ยังได้มีส่วนช่วยให้คนไทยได้รับรู้ถึงอันตรายของโรคมะเร็งที่พบบ่อยด้วย” นายวิชาญ กล่าว
สาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูกนั้น เกิดจากการติดเชื้อ HPV จากการมีเพศสัมพันธ์ถึง 90% และยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตั้งแต่อายุน้อย, ทานยาคุมติดต่อกันหลายปี, หญิงที่สูบบุหรี่ เพราะสารในบุหรี่สามารถกระตุ้นให้เซลล์ที่ปากมดลูกมีการแบ่งตัวผิดปกติ, หญิงที่ไม่เคยตรวจ แปป สเมียร์ ซึ่งเป็นการตรวจหาเซลล์ผิดปกติของปากมดลูกในระยะก่อนเป็นมะเร็ง ทำให้สามารถรักษาได้หายขาด หรือตรวจไม่สม่ำเสมอ (สม่ำเสมอหมายถึงตรวจอย่างน้อยทุก 2-5 ปี หากผลการตรวจครั้งสุดท้ายปกติ) และในทางสถิติพบว่าการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของเยื่อบุผิวปากมดลูก จะเริ่มพบที่อายุ 35 ปีขึ้นไป
ในส่วนของกิจกรรมภายในงาน วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ จะมีทั้งเนื้อหาสาระความรู้และบันเทิงให้ผู้มาร่วมงานได้ชมกันมากมาย เริ่มจากการพูดคุยเรื่อง “ทำไมต้อง Pap Smear” โดย พญ.สุขุมาลย์ สว่างวารี ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนารีเวช (Gynecologist) สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูก ทั้งเรื่องสาเหตุ อาการ การป้องกัน ตลอดจนข้อแนะนำดีๆ ในการดูแลตนเองให้กับสตรีทั้งหลาย
“ดูจากจำนวนผู้ป่วยโรคนี้ในปัจจุบันจะพบว่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ปีล่าสุดมีจำนวนผู้ป่วยถึง 6 พันกว่าราย และเสียชีวิตเกือบครึ่งหนึ่งของสตรีที่เป็นโรคทั้งหมด ส่วนแนวโน้มในอนาคตถ้าเรายังอิงกับวัฒนธรรมตะวันตก เช่น การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน หญิงวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์อายุน้อยยิ่งขึ้น จำนวนผู้ป่วยคงมีมากขึ้น แต่ปัจจุบันเรามีการนำเข้าวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก แต่ผู้ใช้บริการยังอยู่ในกลุ่มสตรีที่มีรายได้ค่อนข้างดีอยู่ เพราะมีราคาค่อนข้างแพง ถ้าเราสามารถกระจายวัคซีนไปยังสตรีทั่วไปได้ แนวโน้มสตรีไทยที่เป็นโรคนี้คงจะลดลง การที่คนไทยมีอัตราการเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากมีความอายที่จะไปตรวจภายใน ไม่ค่อยกล้าเช็คร่างกายประจำปี อย่างผู้หญิงของประเทศอื่นๆ ที่เขามีการตรวจทุกปี จะเจอตั้งแต่เซลล์เริ่มเปลี่ยนแปลง ยังไม่เป็นมะเร็ง เขาก็รักษาได้ป้องกันได้ แต่ของคนไทยนี่ บางคนตลอดชีวิตยังไม่เคยตรวจเลย พอไปตรวจก็เป็นระยะลุกลามแล้ว” คุณหมอสุขุมาลย์ กล่าวถึงปัญหาสำคัญของสตรีไทย
ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนารีเวช ยังแสดงความห่วงใยไปถึงสตรีในชนบทที่ห่างไกลว่า ยังไม่ได้รับการบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง จึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกยิ่งขึ้น
“คนไข้ที่มีอาการแล้วมาหาหมอ ส่วนใหญ่จะมีช่วงอายุ 35-40 และอีกกลุ่มคือช่วงอายุ 50-60 ส่วนคนที่มาตรวจประจำปีมักจะเป็นวัยทำงานแล้ว สำหรับการรักษาก็ต้องประเมินตามอาการของโรค ส่วนคนที่อาการลุกลามแล้วหลักๆ ก็จะรักษาด้วยการฉายแสง โอกาสหายก็อยู่ที่ระยะของโรคเช่นกัน บางคนที่มาตรวจเพิ่งเป็นระยะที่ 1 ก็มีโอกาสหาย 90% สำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติและควรรีบมาหาหมอโดยด่วน สังเกตได้จากอาการเหล่านี้คือ มีเลือดออกในช่องคลอด ไม่ว่าระหว่างมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเลือดกระปริบกระปรอยระหว่างมีรอบเดือน แต่บางทีถ้ารอจนมีอาการมันก็สายไปแล้ว ส่วนสาวโสดหรือผู้ที่ยังไม่มีครอบครัวก็มีโอกาสเป็นโรคนี้เหมือนกัน อย่างเมืองนอกเขาก็รณรงค์ให้คนตรวจภายในตั้งแต่อายุ 21 ปี อยากฝากถึงผู้หญิงไทยทุกคนว่า การดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากมะเร็งปากมดลูกนั้น นอกจากลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างที่กล่าวไปแล้ว การฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ก็ได้ผลจริงๆ และที่สำคัญคือ ไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกหรือ แปบ สเมียร์ ไม่ต้องอายเพราะเราสามารถเลือกตรวจกับหมอผู้หญิงได้ ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จแล้วค่ะ” คุณหมอสุขุมาลย์ กล่าว
ได้ความรู้ด้านวิชาการไปแล้ว ก็มาผ่อนคลายกับการเสวนาในหัวข้อ “The happiness of being women” โดยสาวๆ หลากวัยในวงการบันเทิงบ้าง ได้แก่ เปิ้ล-หัทยา วงษ์กระจ่าง, เอื้อง-สาลินี ปันยารชุน, เหมียว-อัจฉริยา สินรัชตานันท์, เตย-วินรัตน์ สกาวรัตนานนท์, นุ่น-ดารัณ ฐิตะกวิน (รุ้งทอง ร่วมทอง) และ ปอ-ปุณยวีร์ สุขกุลวรเศรษฐ์
เปิ้ล-หัทยา กล่าวว่า มีความสุขที่ได้เกิดเป็นผู้หญิง เพราะมีหลายบุคลิก ทั้งนุ่มนวล แข็งแกร่ง และที่ภูมิใจมากที่สุดคือ การได้เป็นคุณแม่ลูก 2 แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ก็สามารถดูแลโลกได้
“อีกเรื่องหนึ่งที่อยากบอกทุกคนคือ ขอให้ดูแลใส่ใจสุขภาพ โดยเฉพาะผู้หญิงเพราะร่างกายของเราจะสลับซับซ้อนมากกว่าผู้ชาย ต้องพยายามดูแลตัวเองอย่ารอให้ใครมาบอก อย่างเปิ้ลกับสามีก็เช็คร่างกายก่อนแต่งงาน เพราะรู้ว่าจะต้องระวังโรคอะไรบ้างก่อนที่จะมีลูก และได้ตรวจมะเร็งปากมดลูกหลังจากคลอดลูกด้วย เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะรู้ว่าสุขภาพเราเป็นยังไง บางทีแม้ภายนอกเราจะดูแข็งแรงดีแต่ข้างในจะเป็นอะไรหรือเปล่าก็ไม่รู้ ส่วนคนที่ยังไม่แต่งงานก็มีโอกาสเป็นได้เหมือนกัน บางทีการไปตรวจถึงจะไม่เจอโรคนี้แต่เราอาจเจอโรคอื่นก็ได้” ดีเจชื่อดัง บอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ
เอื้อง-สาลินี กล่าวอย่างภูมิใจในความเป็นหญิงว่า สามารถทำประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นได้ และได้สอนลูกอยู่เสมอว่าการมีรักเดียวเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ นอกจากนี้ยังสอนให้เป็นคนดี ไม่ผิดศีลธรรม
“เราช่วยกันให้ความรู้คนรุ่นใหม่ได้ว่า ต้องเป็นสุภาพบุรุษ มีรักเดียวใจเดียว จะทำให้โลกมีความสุขขึ้นอีกเยอะ ใครมีลูกสาวก็ต้องสอนให้เป็นคนดี พิจารณาเรื่องความรักให้ดีจะได้ไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องการดูแลสุขภาพของผู้หญิงนั้น โดยเฉพาะการป้องกันเรื่องมะเร็งปากมดลูก เป็นเรื่องสำคัญ ตอนที่เราไปตรวจก็อายเหมือนกัน แต่ก็เลือกตรวจกับอาจารย์หมอผู้หญิง ซึ่งเขาก็จะแนะนำขั้นตอนต่างๆ ว่าจะทำอะไรยังไงบ้าง ทำให้เราไม่เขินมาก อยากให้ผู้หญิงทุกคนไปตรวจค่ะเพื่อความปลอดภัยของเราเอง” สาลินี กล่าว
นุ่น-ดารัณ ซึ่งขณะนี้สวมบทบาทเป็นทั้งพ่อและแม่ของลูกทั้ง 2 คน เปิดใจว่า การเป็นผู้หญิงมีส่วนอย่างมากในการหล่อหลอมมนุษย์บนโลก และสอนลูกให้เป็นคนดี ผู้ชายต้องให้เกียรติผู้หญิง เพราะยุคนี้แม้จะมีความเจริญทางวัตถุมากขึ้นแต่จิตใจคนกลับตกต่ำลง แต่สิ่งสำคัญคือ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย ต่างจำเป็นต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุด
“นุ่นมาตรวจมะเร็งปากมดลูกหลังจากที่คลอดลูกแล้ว 1 เดือน ซึ่งคุณหมอก็รู้ว่าเรากลัว เขาก็จะชวนคุยให้เราเพลินๆ แต่พอตรวจเสร็จแล้วก็สบายใจ เพราะเราเป็นผู้หญิงนี่คือความรับผิดชอบของตัวเอง ถ้าเราดูแลตัวเองได้ดี ก็จะสามารถดูแลลูกให้ดีได้เหมือนกัน” ดาราสาวอารมณ์ดี กล่าว
ปอ-ปุณยวีร์ สุขกุลวรเศรษฐ์ กล่าวถึงข้อดีของการเกิดเป็นผู้หญิงว่า ทำให้โลกสวยงาม มีความเก่ง ผู้หญิงบางคนมีหน้าที่การงานใหญ่โตและทำได้ดีกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ
“ในฐานะสื่อมวลชนที่ทำรายการเกี่ยวกับผู้หญิง คงจะช่วยได้ในแง่ของการสื่อสารให้ผู้ชมได้รับรู้ในสิ่งที่แต่ละคนได้กล่าวไป ทั้งการเลี้ยงดูคนในครอบครัว ให้ประชาชนช่วยกันดูแลโลก สำหรับการดูแลตัวเองเกี่ยวกับเรื่องมะเร็งปากมดลูกนั้น ปอก็เคยลังเลตอนไปตรวจครั้งแรกเหมือนกัน แต่ไปกันหลายคน ตื่นเต้นมากแต่หมอตรวจเร็วมาก พอเรารู้ว่าไม่เป็นอะไรก็โล่งใจมาก มีความสุข พอปีต่อไปเพื่อนมาชวนไปตรวจก็ไปอีก เดี๋ยวนี้โรงพยาบาลเอกชนมีหมอผู้หญิงในเราเลือกตรวจได้เยอะ อยากให้ไปตรวจกัน เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่โรคนี้อย่างเดียว แต่ยังมีโรคอื่นที่ผู้หญิงมีโอกาสเป็นอีกเยอะค่ะ” พิธีกรสาว กล่าว
เตย-วินรัตน์ สกาวรัตนานนท์ กล่าวว่า ผู้หญิงยุคนี้ต้องขอบคุณผู้ชายด้วยที่เปิดโอกาสให้ได้แสดงออกถึงความสามารถ และยอมรับในความเป็นผู้หญิงมากขึ้น
“เตยมีลูกชายชื่อน้องลาเต้ อายุ 2 ขวบ ก็สอนเขาสวดมนต์ และสอนให้เขาดูแลแม่ และยาย จนเขารู้ตัวแล้วว่าจะต้องดูแลผู้หญิง เราต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวก่อนค่ะ ถึงจะดูแลสังคมได้ ส่วนเรื่องการดูแลตัวเอง เตยเคยไปตรวจมะเร็งปากมดลูกเมื่อ 2 ปีก่อน เขินค่ะแต่กลบเกลื่อนด้วยการชวนคุณหมอคุย ถามถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น คุยให้เป็นเรื่องตลกไป มันช่วยได้จริงๆ อยากบอกทุกคนว่าถ้าคิดจะอายหมอตอนตรวจ จนยอมเสียชีวิต ก็พยายามมองให้เป็นอีกด้านก็จะทำให้ความกลัวผ่านไปได้” เตย กล่าว
ปิดท้ายด้วยสาวอายุน้อยที่สุดในกลุ่ม เหมียว-อัจฉริยา สินรัชตานันท์ กล่าวว่าโดนบังคับตรวจภายในตั้งแต่ตอนอายุ 22 ปี สมัยไปเรียนที่อังกฤษ และได้มาตรวจมะเร็งปากมดลูกตอนที่อายุ 27 เพราะคุณแม่บอกให้ไปตรวจ
“ครั้งแรกก็กลัวเหมือนกัน เพราะเราเป็นคนขี้กลัวอยู่แล้ว แต่พอไปตรวจจริงๆ ก็ไม่ร้ายแรงอย่างที่คิด ทุกคนก็ควรไปตรวจค่ะเพื่อความสบายใจ เหมียวเคยฝันไว้ตั้งแต่เด็กว่า ถ้ามีโอกาส มีเวลามากพอ และพอเลี้ยงตัวเองได้แล้ว ก็อยากจะไปช่วยทำงานในองค์กรเพื่อการกุศลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนหรือมีน้อยกว่าเรา เพราะเมืองไทยยังไม่ค่อยมีในส่วนนี้มากเหมือนเมืองนอก ถ้ามีโอกาสก็จะทำตรงนี้ให้มากขึ้นค่ะ” สาวสวยกล่าว
จากนั้นทั้ง 6 สาวร่วมด้วยสาวเสียงสวย ลูกหว้า-พิจิกา จิตตะปุตตะ วงดูบาดู ได้พร้อมใจกันร่วมร้องเพลงรณรงค์ ซึ่งแต่งเนื้อร้องโดย สุรักษ์ สุขเสวี แต่งทำนองและควบคุมการผลิตโดย โก้-มิสเตอร์ แซ็กแมน และได้หนุ่มแร๊พอย่าง กอล์ฟ สิงห์เหนือเสือใต้มาแร๊พมันส์ๆในเพลงอีกด้วย ซึ่งเป็นการปิดงานอย่างสมบูรณ์แบบ
สำหรับผู้ที่ควรตรวจ แปปสเมียร์ ซึ่งเป็นการตรวจหาเซลล์ผิดปกติของปากมดลูกในระยะก่อนเป็นมะเร็ง ทำให้สามารถรักษาได้หายขาดนั้น มีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน ได้แก่ สตรีในกลุ่มอายุ 35, 40, 45, 50, 55, 60 หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว 1-3 ปี (ถึงแม้อายุจะน้อยกว่า 35 ปี), ผู้ที่มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือมีตกขาวผิดปกติ, หญิงที่ตัดมดลูก หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือหญิงที่ไม่มีเพศสัมพันธ์ และกลุ่มเลสเบี้ยน (หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน)
กรณีที่มีเซลล์ผิดปกติ และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลาเซลล์เหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้นการใช้เวลาเพียง 5 นาทีในการตรวจแปปสเมียร์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกอาจช่วยชีวิตคุณได้ ซึ่งสามารถไปตรวจแปปเสมียร์ได้ที่โรงพยาบาลทั้งของรัฐบาลและเอกชน ตามศูนย์บริการสาธารณสุข หรือสถานีอนามัย หากพบความผิดปกติของเซลล์บริเวณปากมดลูก แพทย์จะแจ้งให้ทราบแนะนำการค้นหาความผิดปกติ และการรักษาที่เหมาะสม ทั้งนี้การพบความผิดปกติไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นมะเร็งแล้ว เซลล์ที่ผิดปกติอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ จึงขอให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมและรักษาต่อไป
มาเรียนรู้และทำความรู้จักกับภัยมะเร็งปากมดลูก เพื่อหาวิธีการป้องกัน และลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ โดยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูกได้ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โทร02-354-7025 www.papupload.net , www.papsmearthailand.net www.nci.go.th
รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
เพียงเพ็ญ พรายแสง (081 8608225)
ชาลิสา จิรตั้งมั่นเจริญ (084 165 2828)
อังคณา อรรจนานันท์ (081 868 9919)
บริษัท พับบลิค ฮิต จำกัด
โทร. 02 2525699
แฟกซ์. 02 2525698
ผู้ส่ง : Public Hit
เบอร์โทรศัพท์ : 02 2525699