กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของตนเองมากขึ้น ซึ่งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) ก็เป็นหนึ่งในมาตรการที่มีการใช้เป็นจำนวนมาก โดยองค์การการค้าโลก (WTO) ได้รายงานสถานะการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดและการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 (มกราคม — มิถุนายน 2551) ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2550 อันเป็นผลมาจากการถดถอยของเศรษฐกิจในหลายประเทศ
จากรายงานของ WTO พบว่ามีการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าใหม่ (New Initiation) รวมทั้งสิ้น 85 กรณี เพิ่มขึ้นจาก 61 กรณีในช่วงเดียวกันของปี 2550 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 28) โดยประเทศที่เปิดไต่สวนมากที่สุดได้แก่ ตุรกี 13 กรณี รองลงมาคือ สหรัฐฯ 12 กรณี อินเดีย 11 กรณี อาร์เจนตินาและสหภาพยุโรปประเทศละ 10 กรณี สินค้าที่มีการเปิดไต่สวนมากที่สุด ได้แก่เหล็ก 21 กรณี สิ่งทอ 20 กรณี และเคมีภัณฑ์ 10 กรณี และประเทศที่ถูกเปิดไต่สวนมากที่สุด คือ จีน 37 กรณี รองลงมาคือ ไทย 7 กรณี สหภาพยุโรป อินโดนิเซีย เกาหลี มาเลเซีย และจีนไทเป
สำหรับการประกาศใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 มีทั้งสิ้น 54 กรณี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ในช่วงเดียวกันของปี 2550 โดยประเทศที่ประกาศใช้มาตรการ AD มากที่สุดได้แก่ อินเดีย 16 กรณี รองลงมาได้แก่ สหภาพยุโรป อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา จีน และยูเครน
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2551 และปี 2552 ซึ่งมีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ และหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดปกป้องอุตสาหกรรมภายในของตนเอง กรมการค้าต่างประเทศ จึงคาดการณ์ว่าจะมีการเปิดไต่สวนและการใช้มาตรการ AD เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตและส่งออกสินค้าไปต่างประเทศควรให้ความสนใจและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกใช้มาตรการจากประเทศต่างๆ
ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติดังกล่าวสามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ www.wto.org ส่วนรายงาน Semi-annual Reports ของประเทศสมาชิกนั้น สามารถค้นหาได้จากเอกสาร WTO ที่ G/ADP/N/158/*