ทีม iRAP_PRO จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือคว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัย Thailand Rescue Robot Championship 2008

ข่าวทั่วไป Monday December 15, 2008 09:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ธ.ค.--เครือซิเมนต์ไทย ทีม iRAP_PRO จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือคว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัย Thailand Rescue Robot Championship 2008 ครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเครือซิเมนต์ไทย (SCG) เตรียมส่งไปป้องกันแชมป์โลกที่ออสเตรีย ปีหน้า เครือซิเมนต์ไทย (SCG) ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และมหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศผลการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย Thailand Rescue Robot Championship 2008 ผู้ชนะเลิศได้แก่ทีม iRAP_PRO (ไอราป โปร) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คว้าถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา 200,000 บาท และเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปป้องกันแชมป์โลกสมัยที่ 4 ที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย นางมัทนา เหลืองนาคทองดี ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เครือซิเมนต์ไทย (SCG) เปิดเผยว่า ผลการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รอบชิงชนะเลิศ หลังจากมีการขับเคี่ยวมาตั้งแต่วันที่ 11 — 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยมีทีมเยาวชนไทยเข้าร่วมแข่งขัน 8 ทีม และทีมต่างประเทศจากญี่ปุ่น 1 ทีม และอิหร่าน 2 ทีม ซึ่งเดินทางมาร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรก ผลปรากฎว่าเยาวชนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือในชื่อทีม iRAP_PRO ทำคะแนนรวมมาเป็นอันดับ 1 คว้าถ้วยรางวัลพระราชทานฯ ไปครอง พร้อมทุนการศึกษาอีก 200,000 บาท และยังจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก (Robocup) 2009 ที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย สมาชิกในทีม ประกอบด้วย นายคฑาวุฒิ อุชชิน (หัวหน้าทีม) นายอาทิตย์ ตระกูลธงชัย นายณัฐกร แซ่เอี้ยว และนายสุรเชษฐ์ อินเทียม สำหรับรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ เยาวชนจากประเทศญี่ปุ่น ชื่อทีม NuTech-R (นูเทค อาร์) นอกจากนี้ ยังคว้ารางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม (Best Mobility) ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษที่มอบให้หุ่นยนต์ที่มีสมรรถนะสูงในการเคลื่อนที่บนพื้นผิวขรุขระ รางวัลหุ่นยนต์อัตโนมัติยอดเยี่ยม (Best Autonomous) ได้แก่เยาวชนจากประเทศไทย ชื่อทีม BART LAB Rescue (บาร์ทแล็ป เรสคิว) ได้รับทุนการศึกษา 50,000 บาท และเยาวชนจากประเทศอิหร่าน ชื่อทีม MRL (เอ็มอาร์แอล) ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย กล่าวว่า หุ่นยนต์ของไทยปีนี้มีมาตรฐานสูงขึ้น โดยเฉพาะหุ่นยนต์ประเภทอัตโนมัติ ที่เยาวชนไทยสามารถประดิษฐ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับคะแนนการแข่งขันของทีมไทยส่วนใหญ่ทำคะแนนเกาะกลุ่มกัน นอกจากนี้แล้ว สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ เยาวชนไทยยังได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องหุ่นยนต์กู้ภัยจากต่างประเทศด้วย ขณะเดียวกันทีมต่างชาติที่เข้ามาแข่งขันก็ต่างทึ่งในความสามารถของเยาวชนไทย และเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่สามารถจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกได้ Thailand Rescue Robot Championship โครงการประกวดหุ่นยนต์กู้ภัย เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมที่เครือซิเมนต์ไทย (SCG) ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ ตั้งแต่ปี 2004 และส่งเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลกมาตลอด ที่ผ่านมาทีมเยาวชนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงศักยภาพให้ต่างชาติได้เห็นโดยคว้าแชมป์โลกถึง 3 สมัยติดต่อกัน ทั้งนี้ SCG มีเป้าหมายที่จะสนับสนุน ส่งเสริมให้เยาวชนไทย พัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสร้างโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกซึ่งความสามารถด้านนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ