กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์
เข้าสู่ช่วงกลางไตรมาส 2 ของปี 2549 ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ผู้ประกอบการรายใหญ่จะออกมาชี้ทิศทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่เหลือ “อนันต์ อัศวโภคิน” เจ้าพ่อวงการอสังหาฯไทย และ
บิ๊กบอส แลนด์แอนด์เฮ้าส์กล้าออกมาฟันธงว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี 2549 ยังคงไปได้ ไม่เลวร้ายอย่างที่กลัว ... แต่ไม่น่าไว้วางใจ
นายอนันต์ กล่าวในงานสัมมนา “แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์หลังวิกฤติการเมือง ในงานสถาปนิก 49 -ก้าวอย่างสมดุล ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังเติบโตได้อีกในทุกตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดประเภท บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม ตลาดอาคารสำนักงานในย่านศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีดี) รวมถึงตลาดค้าปลีก(รีเทล)
“ รีเทล ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก สถาปนิก น่าจะมีงานทำอีกเยอะ เพียงแต่ว่าจะต้องมีความเข้าใจในธุรกิจ โดยเฉพาะรีเทลชานเมืองช่องว่าตลาดยังมี”
นายอนันต์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มักประสบปัญหาในการหาผู้ออกแบบที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีก เพราะหาคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจริงๆลำบาก บางส่วนจึงต้องหาทางออกด้วยการไปว่าจ้างสถาปนิกต่างชาติมาแทน ซึ่งจุดนี้สมาคมสถาปนิกสยามฯสามารถช่วยได้ด้วยการชี้แนะแนวทางและพัฒนาสถาปนิกให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของตลาด
“ปัจจุบันอัตราค่าเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าสำหรับร้านค้าปลีกในเมืองนั้นมีอัตราค่าเช่าที่ค่อนข้างสูงและมีการปรับราคาค่าเช่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ทำให้ส่งผลดีต่อธุรกิจรีเทลชานเมืองที่จะมีผู้เช่าที่สู้ราคาค่าเช่าพื้นที่ในเมืองไม่ไหวแล้วหันไปเช่าพื้นที่ในชานเมืองแทน ซึ่งนอกจากจะทำให้อัตราการเช่าพื้นที่ธุรกิจรีเทลเพิ่มขึ้นแล้วยังส่งผลดีต่ออัตราค่าเช่าที่มีการปรับเพิ่มขึ้นด้วย คือจากราคาตารางเมตรละ 400 — 800 บาทเป็นตารางเมตรละ 1000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของร้านค้าด้วย”
ปัจจัยหลักที่เป็นตัวฉุดธุรกิจอสังหาฯ คือ การเมืองในขณะนี้ยังไม่พ้นภาวะวิกฤติ และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่เท่าที่คาดการณ์ไว้น่าจะเป็นหลังเดือนกรกฎาคม ซึ่งปัญหาการเมืองก็เป็นปัญหาที่ค้างคาไปเรื่อยๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคมี ความมั่นใจในการซื้อลดลง ซึ่งสภาพการตลาดที่ซบเซานี้ไม่ได้รับผลกระทบจากการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่มีผลกระทบจากด้านอื่นๆด้วย เช่น เรื่องดอกเบี้ยสูง เงินเฟ้อขึ้น เงินฝากก็ขึ้นตามด้วย
เมื่อเดือนธันวาคมปี2548า เป็นการเริ่มต้นของช่วงวิกฤติของเศรษฐกิจและส่งผลให้ ผู้บริโภคมีความมั่นใจซื้อลดลง 20 % สำหรับตลาดอสังหาริมทรัพย์ตอนนี้ยังดีอยู่ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงมาก แต่ในไตรมาศแรก ตลาดรวมทั้งหมดลดลง ทั้งยอดวัสดุ สินค้าที่เกี่ยวข้องต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการชะลอตัวมา
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมดกำลังดีแต่เริ่มมีการชะลอตัวบ้าง เพราะเจอภาวะน้ำมันแพง ทำให้ซัพพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้า และขนส่ง ต้องขอราคาขึ้นอย่างน้อย 3-5%
ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นน่าจะใช้เวลาอีก 10 เดือนนับจากนี้ปัญหาทุกอย่างน่าจะยุติ หลังจากพ้นวิกฤติแล้ว คาดว่าจะสามารถเริ่มต้นใหม่ในได้ไตรมาส 2 -3 ส่วนโครงการ ใหญ่ๆ เช่น สัญญาการก่อสร้างสถานที่ราชการที่ได้มีการลงนามไปแล้ว มีการยกเลิกการก่อสร้างและไม่ทราบว่าจะเดินหน้าต่อไปได้เมื่อใด
“หาก คนยังมีความเชื่อมั่นในการจ้างงาน การซื้อบ้านเป็นหัวรถจักรที่คอยดึงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำเกินไป” นายอนันต์ กล่าวพร้อมกับให้ความเห็นด้วยว่าต้องคอยดูว่าหลังวิกฤติทางการเมืองแล้วรัฐบาลจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนมากแค่ไหน ภาวะจิตใจของผู้บริโภคพร้อมที่จะตัดสินใจซื้อหรือเปล่า
พร้อมกับกล่าวว่า กฎระเบียบของภาครัฐ เกี่ยวกับงานก่อสร้าง หรือสิ่งแวดล้อม ที่มีอยู่ในปัจจจุบัน อาจเป็นตัวฉุดให้การผลิตสินค้าในตลาดลดลง โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุด ในคอนโดมิเนียม ในเมืองออกสู่ตลาดลดลง ทั้งๆที่ในความเป็นจริงตลาดมีความต้องการค่อนข้างสูง
นอกจากนี้ ข้อจำกัดในการหาที่ดินสำหรับการพัฒนาที่มีอยู่จำกัด และราคาที่ดินย่านใจกลางธุรกิจ เช่น สุขุมวิท สาทร ที่มีราคาค่อนข้างสูง ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีสินค้าคอนโดออกมาน้อย
คอนโดซัพพลายไม่ทันดีมานด์เพราะก่อสร้าง 2 ปี ลูกค้าซื้อวันนี้ อีก 2 ปีหรือ 2 ปีครึ่งกว่าจะสร้างเสร็จส่งมอบให้ลูกค้า และผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าราคาคอนโดน่าจะอยู่ที่ 1.3-1.4 แสนบาท/ตรม. ด้วยเหตุนี้ก็เลยทำให้ราคาที่ดินถีบตัวสูงขึ้น...
อย่างไรก็ตาม แม้ตลาดที่อยู่อาศัยยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่มีความจำเป็นต้องซื้อ แต่ ผู้ประกอบการจะต้องระมัดระวังในการพัฒนาโครงการ กล่าวคือต้องพัฒนาสินค้าให้เหมาะหรือตรงกับความต้องการของตลาด และพยายามหาช่องว่างธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขัน
ตลาดบ้านเดี่ยวราคาเกิน10 ล้านไม่ดีเท่าที่ควร ต้องเป็นบ้านระดับต่ำกว่า 5 ล้านถึงจะมีคนซื้อมากขึ้น แต่ตลาดบนราคา 30 ล้านบาทขึ้นไปก็ยังมีกำลังซื้อบ้านราคาสูงอยู่แต่เป็นกลุ่มน้อย ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ทำธุรกิจส่งออกเป็นหลัก ส่วนตลาดทาวน์เฮาส์แนวโน้มยังดี แต่ยังไม่มีความมั่นใจมากนัก โดยเฉพาะสินค้าระดับราคาเฉลี่ย 3 ล้านบาทเนื่องจากมีผู้ประกอบการในตลาดหลายราย ปัญหาที่จะตามคือ เราไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีโครงการประเภทนี้ขึ้นมาที่ไหนบ้าง จึงอาจจะทำให้โครงการนี้มีมากกว่าที่ตลาดต้องการได้ นายอนันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยในปีนี้ยังมีอัตราการเติบโต โดยคาดว่าจะมีการเติบโตประมาณ 8%
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
เจดับบลิวที พับบลิค รีเลชั่นส์ ศริญญา แสนมีมา / พรทิภา อยู่แสง โทร. 0-2204-8218, 0-2204-8215 โทรสาร 0-2259-9246