กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--ตลาดหลักทรัพย์ฯ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการศึกษา (SET Note) โดยสายงานวิจัยและข้อมูลสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่าการไประดมทุนของบริษัท จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ถึงแม้จะเป็นผลดีต่อการเพิ่มชื่อเสียงของบริษัท และลดต้นทุนการระดมทุน แต่ตลาดทุนของบริษัทนั้น ๆ จะได้รับผลกระทบในเชิงลบ
ผลเชิงลบดังกล่าวได้แก่การเสียโอกาสในการเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด สูญเสียรายได้ค่านายหน้า รวมทั้ง เงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่จะส่งผลต่อสภาพคล่องและความน่าสนใจของตลาดทุน รวมทั้ง จะมีผลสืบเนื่องให้ตลาดทุนขาดความน่าสนใจลง มีผลให้มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลง และส่งผลต่อสภาพคล่องของตลาดทุนโดยรวมเป็นรอบที่สอง
การไประดมทุนในตลาดทุนต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่มี 3 รูปแบบ ได้แก่ การไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศ (Foreign Listing) การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 2 ประเทศ (Dual Listing) และการออกใบแทนหลักทรัพย์ หรือ DR (Depositary Receipt)
ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยมีการนำหลักทรัพย์ไปซื้อขายในตลาดทุนต่างประเทศมากกว่า 90 บริษัทในตลาดทุนหลักของโลกทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่บริษัทจดทะเบียนไทยนิยมการไประดมทุนผ่าน DR โดยในประเทศเยอรมัน มีบริษัทไทยไม่ต่ำกว่า 80 บริษัทที่ออก DR มีมูลค่าการซื้อขายประมาณร้อยละ 15 ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดในกระดานต่างประเทศของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในการศึกษาครั้งนี้ ได้มีการประเมินผลกระทบที่เป็นมูลค่าเชิงปริมาณ กรณีบมจ.ไทยเบฟเวอเรจ เข้า จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ โดยผลกระทบทางตรง คือจะทำให้เสียมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดขั้นต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท โดยอ้างอิงจากมูลค่า IPO (การเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก) สภาพคล่องจะหายไปกว่า 260,000 ล้านบาท และทำให้ธุรกิจหลักทรัพย์โดยรวมสูญเสียรายได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ของไทยเบฟฯ อีกกว่า 650 ล้านบาท
นอกจากนี้ จะทำให้ตลาดทุนไทยเสียโอกาสในการเพิ่มน้ำหนักในดัชนีระหว่างประเทศ เช่น MSCI เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีการระดมทุนที่มีขนาดใหญ่และมีผลต่อการคำนวณดัชนี MSCI Far East ex-Japan ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างประเทศที่ควรนำมาลงทุนในประเทศประมาณ 30,000 ล้านบาท
ส่วนผลกระทบทางอ้อม คือการทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของหลักทรัพย์อื่น ๆ ในตลาดทุนไทยลดลงกว่า 9 ล้านบาท และการที่สภาพคล่องของหลักทรัพย์อื่น ๆ ลดลง ก็จะส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายโดยรวมของตลาดทุนไทยลดลงอีกกว่า 22,000 ล้านบาท
ถึงแม้ว่าประเทศไทยยังมีปริมาณการไประดมทุนในตลาดต่างประเทศไม่สูงนัก แต่เนื่องจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนโลกซึ่งมีความเชื่อมโยงกันในรูปแบบต่างๆ ที่ส่งผลให้บริษัทในไทยหันไป สนใจการไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างประเทศมากขึ้น จึงมีผลให้ตลาดทุนไทยเสียโอกาสจากการมีสภาพคล่องจากการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศได้
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797