การค้าโลกจะพึ่งพารายได้ที่สูงขึ้น จากเอเชียมากกว่าตะวันตก

ข่าวทั่วไป Wednesday December 17, 2008 15:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ดีเอชแอล เปิดเผยผลการศึกษาครั้งที่สามเรื่อง การกระตุ้นการค้าระดับโลก: การเติบโตของจีดีพี และราคาน้ำมันมีผลต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างไร ดีเอชแอล ผู้นำธุรกิจขนส่งด่วนและลอจิสติกส์ระดับโลก เปิดเผยถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับแนวโน้มทางด้านเศรษฐกิจในตลาดการค้าโลก ในหัวข้อ การกระตุ้นการค้าระดับโลก — การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และราคาน้ำมัน ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างไร ซึ่งดีเอชแอลมอบหมายให้หน่วยข่าวกรองเศรษฐศาสตร์ (Economist Intelligence Unit — EIU) เป็นผู้จัดทำ การศึกษาครั้งนี้เป็นการติดตามความเคลื่อนไหวทางการค้าของ 39 ประเทศ ใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ เอเชีย สหภาพยุโรป (EU) และข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) โดยรายงานฉบับนี้ครอบคลุมสาระสำคัญสองประการ คือ ผลกระทบต่อการค้าในเอเชียและตะวันตกจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และผลกระทบของราคาน้ำมันที่มีต่อมูลค่าการค้าระหว่างประเทศเหล่านี้ รายงานนี้ทำการศึกษาประเทศที่เป็นสมาชิก NAFTA สามประเทศ (สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก) ประเทศในสหภาพยุโรปจำนวน 25 ประเทศ และ 6 ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่มอาเซียน[1] รวมทั้งประเทศในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย จีน และฮ่องกง โดยได้ศึกษาการค้าแบบทวิภาคีระหว่างแต่ละประเทศกับประเทศที่อยู่ภายนอกภูมิภาคหรือนอกเขตการค้า ซึ่งคิดเป็นความสัมพันธ์ทางการค้าแบบทวิภาคีจำนวนทั้งสิ้น 383 คู่ “ในฐานะกลไกขับเคลื่อนทางการค้า การสนับสนุนให้มีการศึกษาแนวโน้มเศรษฐกิจระดับมหภาคอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการช่วยให้ลูกค้าและตัวเราเอง สามารถกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจ และใช้ประโยชน์จากแนวโน้มในอนาคตได้อย่างชาญฉลาดที่สุด ผลการศึกษาเปิดเผยถึงการเติบโตที่เป็นไปอย่างช้าๆ ในเอเชีย และความต้องการให้ระบบเศรษฐกิจกลับมามีความสมดุลอีกครั้ง ความ ท้าทายที่การค้าในเอเชียเผชิญอยู่ทุกวันนี้ คือ การปรับเปลี่ยนให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น และการบริหารจัดการในสภาวะที่น้ำมันมีราคาเพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงและผลกระทบในเชิงลบให้แก่การค้าระหว่างประเทศในเอเชีย นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบอีกว่าตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป การค้าระหว่างประเทศจะขึ้นอยู่กับรายได้จากเอเชีย มากกว่ารายได้จากประเทศทางฝั่งตะวันตก” มร. แฟรงค์ แอพเพิล ประธานคณะกรรมการฝ่ายบริหาร ดอยช์ โพสต์ เวิลด์ เน็ต ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของดีเอชแอลกล่าว ผลการศึกษาหลักจากการคาดการณ์ภายในอีกห้าปีข้างหน้า มีดังนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และการค้า ระหว่างเอเชียและประเทศแถบตะวันตก จะมีความแข็งแกร่งกว่าความสัมพันธ์ในอเมริกาเหนือและยุโรป ผลจากการศึกษาของหน่วยข่าวกรองเศรษฐศาสตร์ พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และการค้าระหว่างเอเชียและชาติตะวันตก แข็งแกร่งกว่าความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกาเหนือและยุโรป โดยการเพิ่มขึ้นของรายได้รวมระหว่างหนึ่งประเทศในเอเชียและหนึ่งประเทศในฝั่งตะวันตกเพียงร้อยละ 1 จะทำให้การค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.36 การค้าระหว่างอาเซียนและตะวันตกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.35 ต่อรายได้รวมที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองชาติตะวันตก ที่รายได้รวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ส่งผลให้การค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.14 ราคาน้ำมันและการค้า —เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ผลการศึกษาที่สำคัญอีกข้อหนึ่งชี้ให้เห็นว่า จากความสัมพันธ์ด้านการค้าแบบทวิภาคีทั้ง 383 คู่ ที่ได้ทำการศึกษา หากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 1 จะส่งผลให้การค้าลดลงร้อยละ 0.24 ด้วยสมมุติฐานที่ว่าแรงขับดันตัวอื่น เช่น ระดับรายได้ในประเทศทั้งสองยังคงที่ ขณะเดียวกัน หากราคาน้ำมันยังสูงอยู่ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากการค้าจะลดลงมากที่สุด ผลกระทบด้านราคาน้ำมันจะมีผลอย่างมากเมื่อประเทศในกลุ่มอาเซียนทำการค้ากับประเทศใน EU หรือ NAFTA โดยราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จะลดมูลค่าการค้าลงร้อยละ 0.3 หากสมมุติให้ระดับรายได้คงที่ แต่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเหมือนในปี 2551 มูลค่าของการค้าระหว่างอาเซียนและประเทศทางตะวันตกจะลดลงร้อยละ 30 ภายในห้าปีข้างหน้า เอเชียมีสัดส่วนการค้าสินค้ามูลค่าต่ำที่เพิ่มสูงขึ้น ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าผลกระทบหลักของราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมีผลต่อการค้าในเอเชียเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาเซียน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากประเภทของสินค้าที่ทำการค้า โดยการค้าระหว่างประเทศตะวันตกด้วยกันจะมีสัดส่วนการค้าของสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องบิน และอุปกรณ์สื่อสาร ในขณะที่สินค้าที่มีมูลค่าต่ำ เช่น ถ่านหิน มะพร้าว น้ำมันปาล์ม รวมถึงเสื้อผ้าและรองเท้า มีสัดส่วนที่น้อย ซึ่งแตกต่างจากประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการค้าของสินค้ามูลค่าต่ำที่สูงมากกว่า และเนื่องจากต้นทุนการขนส่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบจากราคาต้นทุนของสินค้ามูลค่าต่ำ เมื่อเทียบกับต้นทุนการขนส่งสำหรับสินค้ามูลค่าสูง ด้วยเหตุนี้เอง ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจึงส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางการค้าในเอเชียมากกว่า มร. จัสติน วูด ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองเศรษฐกิจ และผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียเติบโตได้จากการค้าขายที่รุ่งเรืองกับประเทศแถบตะวันตก แต่ด้วยเศรษฐกิจในอเมริกาเหนือและยุโรปที่มีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2552 ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการค้าของเอเชียคงค่อนข้างรุนแรง รายงานการศึกษานี้เน้นย้ำถึงผลกระทบของการค้าทั่วโลกที่กำลังชะลอตัว ต่อการค้าของเอเชีย และชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต้องปรับระบบเศรษฐกิจให้กลับมาอยู่ในสภาพสมดุล” มร. วูด กล่าวเสริมอีกว่า “รายงานฉบับนี้ ยังได้เผยให้เห็นถึงความท้าทายในอนาคตที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียจะต้องผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตให้มีการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบหรือสินค้าให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ไม่แน่นอนในปีนี้ รวมถึงราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีก หากพ้นจากสภาพเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำอยู่ในขณะนี้” ที่ผ่านมา ดีเอชแอลยังเข้าไปมีส่วนช่วยให้การทำธุรกิจระหว่างองค์กรธุรกิจด้วยกัน (B2B) และระหว่างองค์กรธุรกิจกับหน่วยงานของรัฐ (B2G) ราบรื่นขึ้น เช่น การเข้าไปช่วยลดความซับซ้อน ความเสี่ยง และต้นทุนของการค้าระหว่างประเทศ ทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยอาศัยการมีส่วนร่วมในการประชุมระดับสูงต่างๆ อาทิ การประชุมสุดยอด APEC และการประชุม ASEAN Business Summit รวมถึงการเป็นผู้สนับสนุนการศึกษาตลาด ที่พิจารณาถึงทิศทาง ปัญหา และความท้าทาย ทั้งด้านการค้า และลอจิสติกส์ การศึกษาครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สามที่หน่วยข่าวกรองเศรษฐศาสตร์ได้รับมอบหมายจากดีเอชแอลให้ศึกษาตลาดเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และขอบข่ายที่ครอบคลุมภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากเอเชียแปซิฟิก เพื่อให้เข้าใจถึงปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น ในปี 2550 ดีเอชแอลได้นำเสนอบทวิเคราะห์ของหน่วยข่าวกรองเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับแบบแผนที่เปลี่ยนแปลงไปของการค้าระหว่างเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ในรายงานเรื่อง ปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้น มุมมองใหม่สำหรับการส่งออกในอาเซียนและภูมิภาคเอเชีย (Trading up: A New Export Landscape for ASEAN and Asia) และปีก่อนหน้านี้ เป็นรายงานที่กล่าวถึง การส่งออกของอาเซียน วันนี้ พรุ่งนี้ และความท้าทายของสินค้าที่มีมูลค่าสูง (ASEAN exports: today, tomorrow and the high-value challenge) ซึ่งศึกษาจากประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในการปรับแผนส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูง ข้อมูลเพิ่มเติมดีเอชแอล ดีเอชแอล ผู้นำระดับโลก ทางด้านอุตสาหกรรมการขนส่งด่วนและลอจิสติกส์ ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญพิเศษในการมอบนวัตกรรมและโซลูชั่นซึ่งได้รับการออกแบบโดยเฉพาะเพื่อสนองตอบความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าจากผู้ให้บริการเพียงรายเดียว ดีเอชแอลเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริการขนส่งด่วน การขนส่งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก ตลอดจนโซลูชั่นด้านลอจิสติสก์ต่างๆ และบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญอย่างมากในระดับท้องถิ่น และเครือข่ายในการให้บริการที่มีอยู่ทั่วโลก ปัจจุบัน ดีเอชแอลมีเครือข่ายเชื่อมโยงครอบคลุมมากกว่า 220 ประเทศและอาณาเขตต่างๆ ทั่วโลก ด้วยบุคลากรกว่า 300,000 คนทั่วโลก ที่พร้อมมอบบริการที่รวดเร็ว วางใจได้ และเกินความคาดหวังของลูกค้า ดีเอชแอล เป็นหนึ่งในตราสินค้าของดอยช์ โพสท์ เวิลด์ เน็ต ซึ่งสามารถทำรายได้ 63 พันล้านเหรียญยูโร ในปี ค.ศ. 2007 ดีเอชแอล ประเทศไทย ให้บริการขนส่งและลอจิสติกส์อย่างครบวงจรด้วยศักยภาพของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ดีเอชแอล โกลเบิลฟอร์เวิร์ดดิ้ง และดีเอชแอล เอ๊กเซลซัพพลายเชน ที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกอย่างเต็มที่จากการติดต่อผู้ให้บริการเพียงรายเดียว (one-stop-shop) ซึ่งรองรับการขนส่งทุกรูปแบบ ตั้งแต่เอกสารไปจนถึงตู้คอนเทนเนอร์ โดยมีพนักงานกว่า 6,300 คนให้บริการอย่างมืออาชีพ ผ่านเครือข่ายและจุดบริการมากกว่า 70 แห่ง ที่ให้บริการครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมที่เว็บไซต์ http://www.dhl.co.th [1] อาเซียน คือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรือ (ASEAN) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ปิยลัคน์ ชื่นชมพูนุท หรือ สิรณี อาจนาเสียว โทรศัพท์ 0-2345-5602 หรือ 0-2345-5608 โทรสาร 0-2285-5531 อีเมล์ piyalak.pitayapibulphong@dhl.com siranee.atnaseo@dhl.com ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย อรวรรณ ชื่นวิรัชสกุล หรือ วิสาข์ เชี่ยวสมุทร โทรศัพท์ 0-2627-3501 ต่อ 212 หรือ 107 โทรสาร 0-2627-3510 อีเมล์ ochuenwiratsakul@th.hillandknowlton.com vrodcumdee@th.hillandknowlton.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ