กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารนครหลวงไทยหรือ SCIB ดังนี้ อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term foreign currency Issuer Default Rating (IDR)) ที่ ‘BB’ อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-term foreign currency) ที่ ‘B’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Rating) ที่ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารที่ ‘D’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘4’ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำที่ ‘B+’ และแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตของ SCIB สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจของธนาคารที่ค่อนข้างอ่อนแอ รวมถึงสถานะทางการเงินไม่แข็งแกร่งนัก แม้ที่ผ่านมาจะได้มีการปรับตัวดีขึ้นแล้วก็ตาม ในปี 2550 ธนาคารมีผลการดำเนินงานขาดทุน 2 พันล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมาก เนื่องจากการปฏิบัติตามเกณฑ์การจัดชั้นสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคาร สำหรับงวดเก้าเดือนแรกปี 2551 ผลการดำเนินงานของธนาคารปรับตัวดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิ 3.5 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตามแนวโน้มอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2552 นั้นได้ปรับตัวลดลงอย่างมาก ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารในปีหน้า
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ SCIB ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 20.3 พันล้านบาท (คิดเป็น 7.6% ของสินเชื่อทั้งหมด) จาก 18.4 พันล้านบาท (7.3% ของสินเชื่อทั้งหมด) ณ สิ้นปี 2550 ธนาคารมีระดับสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ 76.4% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับธนาคารอื่น SCIB มีแผนที่จะลดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารให้ต่ำกว่า 5% ของสินเชื่อรวม ภายในสิ้นปี 2552 โดยจะใช้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นหลัก อย่างไรก็ตามคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอาจจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่รุนแรงในปี 2552 SCIB มีการลงทุนในหลักทรัพย์ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยมีเงินลงทุนทั้งหมด 97.3 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 23% ของสินทรัพย์รวม ทั้งนี้การลงทุนของธนาคารส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล (65%) และตราสารหนี้ในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ของภาครัฐ (15%)
เงินกองทุนของธนาคารจัดอยู่ในระดับที่พอเพียง โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 ธนาคารมีเงินกองทุนขั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวม ที่ 11.5% และ 12.7% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามคาดว่าการปฏิบัติตามเกณฑ์ Basel II ในสิ้นปีนี้ จะส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนของธนาคารประมาณ 150bp นอกจากนั้นแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจอาจจะส่งผลกระทบให้เงินกองทุนของธนาคารลดลงอีก
แนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารอยู่ในระดับ ‘มีเสถียรภาพ’ เนื่องจากอันดับเครดิตของธนาคารนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำแล้ว ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของความแข็งแกร่งในด้านเครือข่ายธุรกิจของธนาคาร การควบคุมความเสี่ยงและคณะผู้บริหาร ความชัดเจนในส่วนของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในระยะยาว และการให้ความสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลัก สามารถที่จะช่วยเพิ่มอันดับเครดิตได้ในระยะปานกลาง
กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทยได้เข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ใน SCIB หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 และในปี 2545 SCIB ได้ควบรวมกับธนาคารมหานคร โดยปัจจุบันกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทยถือหุ้น 48% ใน SCIB แต่มีแนวโน้มที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงในอนาคต ดังนั้นโอกาสที่ SCIB จะได้รับการสนับสนุนจากทางการจึงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ธนาคารมีพนักงานประมาณ 7,000 คน และมีจำนวนสาขากว่า 400 สาขาทั่วประเทศ ปัจจุบัน ธนาคารนครหลวงไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านสินเชื่อและเงินฝากอยู่ประมาณ 6% ธนาคารยังมีบริษัทในเครือซึ่งดำเนินธุรกิจประกัน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการกองทุน และธุรกิจเช่าซื้อ
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ
พชร ศรายุทธ, กรุงเทพฯ +662 655 4761
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน