สหรัฐฯ ออกระเบียบห้ามนำเข้าสินค้าทับทิมและหยกจากพม่า

ข่าวทั่วไป Thursday December 18, 2008 13:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--คต. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ออกระเบียบห้ามนำเข้าสินค้าทับทิมและหยกที่มีแหล่งกำเนิดในพม่าและนำไปเจียระไนในประเทศที่สาม รวมทั้งประเทศไทย เพื่อส่งไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ตามกฎหมาย Tom Lantos Block Burmese Jade Act โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2551 เป็นต้นมา ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกสินค้าทับทิมและหยกจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนการนำเข้า โดยมีใบรับรองของผู้ส่งออกและใบรับรองของผู้นำเข้าว่าสินค้าที่นำเข้าเป็นสินค้าที่ไม่มีแหล่งกำเนิดในประเทศพม่า และผู้นำเข้าจะต้องใช้พิกัดศุลกากร (HTS) ใหม่ที่หน่วยงานศุลกากรและการป้องกันชายแดน (Customs and Border Protection: CBP) ของสหรัฐฯ กำหนด อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายน 2551 หน่วยงาน Customs and Border Protection (CBP) ได้ออกแนวปฏิบัติใหม่ใช้แทนแนวปฏิบัติที่ออกครั้งแรก เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อการค้าในภาพรวม โดยได้ปรับข้อกำหนดในส่วนของผู้ส่งออกดังนี้ (1) การรับรองสินค้า ผู้ส่งออกไม่ต้องขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าจากรัฐบาลของแต่ละประเทศเพื่อแสดงว่าสินค้าไม่มีแหล่งที่มาจากพม่า แต่หากผู้ประกอบการจะรับรองตนเองหรือหากสมาคมผู้ประกอบการมีความพร้อมที่จะออกใบรับรองให้แก่ผู้ส่งออก ทางการสหรัฐฯพร้อมที่จะพิจารณา นอกจากนี้ผู้ส่งออกต้องรวบรวมเอกสารที่บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมการซื้อขาย การผลิต การขนส่งของสินค้าที่ไม่มีที่มาจากพม่า เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี นับจากวันที่สินค้าเข้าสหรัฐฯ และแสดงหลักฐานต่อหน่วยงาน CBP ได้ทันทีหากมีการร้องขอผู้ส่งออกและผู้นำเข้าต้องกำหนดบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบและมีชื่ออยู่ในใบ ส่งของ/เรียกเก็บเงินสำหรับสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้าสหรัฐฯ และสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าส่งออกได้เมื่อได้รับการสอบถามจากกรมศุลกากรสหรัฐฯ (2) การตรวจสอบการนำเข้า หน่วยงาน CBP จะใช้วิธีการสุ่มตรวจกรณีสงสัยว่าอาจมีการนำเข้าสินค้าอัญมณีจากพม่า รวมทั้งอาจขอเอกสารเพิ่มเติมจากผู้ส่งออกหรือเดินทางไปตรวจสอบในพื้นที่ประเทศผู้ส่งออกโดยตรง (3) หน่วยงาน CBP ได้กำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (HTS) เพิ่มเติมให้ละเอียดขึ้น เพื่อบังคับใช้กฎหมายนี้โดยเฉพาะกับสินค้าหยกและทับทิม (4) หากผู้ประกอบการมีเจตนาละเมิดกฎหมายฯ ทางการสหรัฐฯ อาจเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น โดยจะตรวจสอบกระบวนการซื้อขาย การผลิต และการขนส่ง ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางการเมืองในพม่าและกระแสการเรียกร้องของฝ่ายต่างๆ ในสหรัฐฯ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากสหรัฐฯ แล้ว สหภาพยุโรปได้เริ่มมีมาตรการคว่ำบาตรพม่ามาตั้งแต่ปี 2539 โดยห้ามการส่งสินค้าอาวุธ ห้ามการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค การเงินที่เกี่ยวข้องกับทหาร ห้ามถอนหรือเคลื่อนย้ายเงินของคณะรัฐบาลพม่าและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงการห้ามเดินทางเข้าสหภาพยุโรปของผู้นำทหารพม่าด้วย และจากการที่รัฐบาลพม่าใช้ความรุนแรงในการปราบปรามการประท้วงเมื่อเดือนกันยายน 2550 สหภาพยุโรปได้ออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม โดยเพิ่มการจำกัดการนำเข้า ส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับไม้ โลหะมีค่า อัญมณีและเครื่องประดับ อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวบังคับใช้เฉพาะสินค้าที่มีแหล่งกำเนิด (Origin) หรือมีการส่งออกจากพม่า ทำให้สินค้าอัญมณีของไทยไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากสินค้า อัญมณีของไทยที่ส่งไปสหภาพยุโรปได้ผ่านกระบวนการผลิตเพิ่มเติม ซึ่งถึงแม้จะมีวัตถุดิบที่นำเข้าจากพม่าแต่มีการเพิ่มมูลค่าจนถือว่าสินค้าอัญมณีดังกล่าวมีแหล่งกำเนิดจากประเทศไทยตามหลักการ แปรสภาพอย่างเพียงพอ (Substantial Transformation) ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักบริหารการค้าสินค้าทั่วไป กรมการค้าต่างประเทศ โทร. 0 2547 4804

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ