รถมอเตอร์ไซด์ของขวัญอันตรายที่แม่ให้ลูก

ข่าวทั่วไป Thursday December 18, 2008 16:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.-- นักวิจัยชี้รถมอเตอร์ไซด์ของขวัญอันตรายที่แม่ให้ลูก ระบุเพื่อน พ่อแม่ครูคนแรกของระบบอันตราย แจงรถมอเตอร์ไซด์เป็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของเด็กชายขอบ จี้แก้ระบบขนส่งสาธารณะ-วัฒนธรรมตัวใครตัวมันคลี่คลายปัญหาเด็กนักบิด เผยจุดสุดท้ายไม่ประสบอุบัติเหตุก็เกี่ยวข้องอาชญากรรม แนะใช้การโค้ช แคร์ริ่ง และคอนโทรล ปรับพฤติกรรมเด็กเป็นผู้นำเยาวชน วันนี้ (18 ธ.ค.) ในการประชุม “มอเตอร์ไซด์บรรลัยจักร: 1 คันเราสูญเสีย (เด็ก) อะไร?” จัดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ 6E ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรถึงจะดี แต่ต้องมองเชิงวัฒนธรรมสังคมร่วมด้วยเพราะเป็นรากเหง้าของปัญหา จากการศึกษาวิจัยโดยนำตัวเองเข้าไปอยู่ร่วมกับเด็กวัยรุ่นที่เป็นผู้ให้ข้อมูล พบว่ารถมอเตอร์ไซด์สำหรับกลุ่มเด็กชายขอบเป็นเครื่องมือในการสร้างตัวตน ยิ่งตอนนี้สามารถดาวน์รถมอเตอร์ไซด์ได้ในราคาแค่บาทเดียว ก็จะเปลี่ยนเด็กชายขอบที่ไม่มีใครเหลียวแลกลายเป็นเด็กหนุ่มที่สาวๆ มากมายหมายปองได้หลังครอบครองรถมอเตอร์ไซด์ “เด็กชายขอบที่เป็นคนนอกสายตาของพ่อแม่ คนในชุมชน และครูอาจารย์ จะใช้รถมอเตอร์ไซด์เป็นเครื่องมือในการสร้างตัวตนของพวกเขา และขณะที่พวกเขาเป็นชายขอบของระบบการขนส่งสาธารณะ แต่กลับเป็นลูกค้าที่มีเกียรติของผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซด์ที่มีความเข้มแข็ง ดูได้จากโบชัวร์ต่างๆ ที่เจาะกลุ่มเด็กวัยรุ่น” ผศ.ดร.ปนัดดากล่าวต่อว่า ผู้ปกครองมีส่วนผลักให้ลูกเป็นคนชายขอบมากขึ้นได้ โดยเฉพาะผู้เป็นแม่ที่จะเป็นพลังสำคัญในการสร้างลูก ถ้าหากแม่ไม่สามารถทนการรบเร้าของลูกอายุน้อยๆ ให้ซื้อรถมอเตอร์ไซด์ได้ ก็จะประสบปัญหาว่าความรักของแม่ไม่มีพลังเท่ากับการพยายามสร้างตัวตนของพวกเขาผ่านการขี่รถมอเตอร์ไซด์เมื่อเติบโตขึ้น โดยเด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้เมื่อประสบอุบัติเหตุก็จะเหลือแต่แม่เป็นผู้อยู่ดูแล “ถ้าจะแก้ปัญหาเด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ ภาครัฐต้องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ เพราะโครงสร้างปัจจุบันเอื้อให้เกิดความรุนแรงไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต และสังคมไทยต้องแก้ค่านิยมมองสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเองเป็นเรื่องของคนอื่นให้กลับมาเป็นวัฒนธรรมช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากขึ้นเพื่อร่วมกันรื้อโครงสร้างความเป็นชายขอบ” ผศ.ดร.ปนัดดากล่าวต่อว่าแม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการผลักลูกให้กลายเป็นนักบิดที่ไม่ใช่แค่ขับรถแข่ง แต่หมายถึงชอบขับรถฝ่าไฟแดงและขี่รถย้อนศร จากการซื้อรถมอเตอร์ไซด์ให้เป็นของขวัญด้วย ถึงแม้ว่าการจ่ายเงินค่าผ่อนรถจะน้อยกว่าค่าโดยสารขนส่งสาธารณะเวลาลูกไปโรงเรียน แต่ในระยะยาวรถมอเตอร์ไซด์ที่ลูกหัดขี่โดยเพื่อน หรือกระทั่งพ่อแม่เป็นผู้สอนเองตั้งแต่ยังเรียนชั้น ป.5 ขาเริ่มหยั่งถึงพื้น และให้ลูกขับไปโรงเรียนใกล้บ้านหรือซื้อของในตลาดเมื่อเข้าเรียน ป. 6 และกระทั่งตัดสินใจซื้อรถมอเตอร์ไซด์ให้เมื่อลูกเข้าเรียน ม.1 ในโรงเรียนมัธยมไกลบ้าน “ระยะทางไกล แม่เลยซื้อรถมอเตอร์ไซด์ให้ เพราะรู้สึกว่าคุ้มกว่าต้องจ่ายเงินระบบขนส่งสาธารณะ มอเตอร์ไซด์จึงมีโบว์ผูกเป็นของขวัญตามร้านค้าต่างๆ รอแม่มาซื้อให้ลูก แต่เมื่อลูกได้ครอบครองมอเตอร์ไซด์แล้วแทนที่จะกลับบ้านไว สามทุ่มก็ยังไม่กลับ เที่ยงคืนก็ยังไม่มา ชีวิตเด็กเปลี่ยนไป ภัยร้ายเริ่มเข้ามา เพราะพอมีรถแล้วห้ามไม่อยู่ พวกเขาจะเริ่มหันมาแต่งรถ ปาดเบาะ ถอดไฟหน้าออก และจากเคยเป็นเด็กหลังห้องแล้วเข้ามายุ่งเกี่ยวกับรถมอเตอร์ไซด์ ก็จะใช้รถมอเตอร์ไซด์กลายเป็นอำนาจพาไปตีสนุ๊ก ไปเข้าซุ้ม เข้าแก๊งค์ จนเกิดปัญหาตามมามากมายจากการรวมกลุ่มกันหลายรุ่น กลายเป็นตัวขี่ โตขึ้นไปก็เป็นบอส” ผศ.ดร.ปนัดดากล่าวต่อว่าท้ายสุดปลายทางชีวิตของเด็กวัยรุ่นเหล่านี้เกือบทั้งหมดจะประสบอุบัติเหตุ รวมถึงเข้าไปพัวพันกับการก่ออาชญากรรม พกอาวุธ มีด ปืนเถื่อน เริ่มยิงสายไฟ ขโมยถังดับเพลิง ยกพวกตีกัน ตามวิถีของซุ้ม เมื่อโตขึ้นมาเด็กวัยรุ่นเหล่านี้ถึงจะจบ ม.3 แต่ก็ยังอ่านหนังสือไม่ออก วิธีคิดอ่อนแอ และไม่มีงานทำ ถึงคิดกลับใจ ก็จะถูกกดขี่แรงงานตามมา รวมทั้งระหว่างนั้นยังสร้างครอบครัวอ่อนแออันเนื่องมาจากมีเพศสัมพันธ์แบบฉายฉวย เสี่ยงเป็นโรคเอดส์ โตมากขึ้นก็ก่อภัยอันตรายอาชญากรรมต่างๆ สร้างชื่อ “รถมอเตอร์ไซด์ของขวัญที่แม่ให้ตอน ม.1 นั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่ของขวัญ แต่คือภัยร้ายที่นำอันตรายมาสู่ชีวิตพวกเขาและสังคมทั้งหมด ภาครัฐจึงต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหาทางสังคมที่ซับซ้อนนี้อย่างต่อเนื่องถึงแม้ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลก็ตาม และรัฐยังต้องจัดระบบขนส่งสาธารณะที่คุ้มค่าเพื่อลูกหลานในชุมชนจะได้ปลอดภัยด้วย” ผศ.ดร.ปนัดดากล่าวและว่า พ่อแม่ต้องสร้างลูกที่เป็นเยาวชนให้เป็นผู้นำความปลอดภัย อย่าตีตราพวกเขา ต้องทำให้พวกเขาเป็นผู้นำความปลอดภัยผ่านกระบวนการที่ประกอบด้วย 1.โค้ช (Coach) ให้เด็กวัยรุ่น พ่อแม่ และสื่อเป็นผู้สอน 2. แคร์ริ่ง (Caring) ดูแลเอาใจใส่ในการใช้รถของลูก อย่าให้ลูกใช้รถมอเตอร์ไซด์ไปตามสื่อโฆษณาที่เน้นความเร็วแรง การโฆษณา 3. คอนโทรลลิ่ง (Controlling) แบบแคร์ ไม่ใช่ปราบปราม “เด็กหลังห้องมีจำนวนน้อย แต่พลังการทำลายรุนแรง ดังนั้นต้องรื้อและปรับวิธีคิดในเด็ก ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็ต้องเปลี่ยนมุมมองต่อเด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ด้วย ต้องมองว่าพวกเขาถูกกระทำจากระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้อ และร้านแต่งรถที่กฎหมายทำอะไรไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าเด็กวัยรุ่นที่เป็นตัวขี่จะถูกจับเรื่องแต่งรถ ขณะที่ร้านแต่งรถไม่โดน ผู้กระทำผิดที่อยู่เบื้องหลังหายไป สังคมต้องกลับมาสร้างสำนึกทางการตลาดโดยดึงภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเป็นแนวร่วม” ด้านนายวีรพงษ์ แสนณรงค์ อายุ 24 ปี อดีตเด็กแว้นจาก จ.สกลนคร กล่าวว่า จากเคยขับรถมอเตอร์ไซด์ที่ใช้ความเร็วสูงประมาณ 130-140 กม./ชม. ก็กลับมาปรับแต่งให้เหลือความเร็วเพียงแค่ 60 กม./ชม. หลังจากอายุมากขึ้นและเข้าอบรมในโครงการด้านคุณธรรมกับ พ.ต.อ.อานนท์ นามประเสริฐ ผกก.สภอ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น “เมื่อก่อนชอบโชว์สาว ท้าเดิมพันไปเรื่อย ได้เงินมาก็เอาไปโมดิฟาย แต่งไปเรื่อยๆ เคยประสบอุบัติเหตุเหมือนกัน นั่นทำให้จบแค่ ม.3 เรียนไม่จบ ม.6 เพราะเอาแต่ขี่รถ” ส่วนนายวรรณชัย คุณสิทธิ์ อดีตเด็กแว้นวัย 19 ปี กล่าวว่า เมื่อก่อนเคยขับรถมอเตอร์ไซด์ความเร็วสูง 150 กม./ชม. แบบยังไม่ได้โมดิฟายปรับแต่งเครื่อง แต่เมื่ออายุมากขึ้นก็เริ่มรู้สึกเป็นห่วงพ่อแม่ และคิดว่าถ้าตัวเองมีครอบครัวจะมัวมาขับรถเร็วๆ แรงๆ แบบนี้ได้อย่างไร “หลังจากไปฝึกอบรมกับ พ.ต.อ.อานนท์ (นามประเสริฐ) แม้จะเป็นแบบถูกบังคับทีแรก แต่แล้วชีวิตก็เปลี่ยนไป สามารถกลับมาทำให้พ่อแม่ภูมิใจได้ เพราะเมื่อก่อนผมกินและดื่มมาก ดื่มเบียร์และเหล้าขาวตั้งแต่อายุ 12 แต่ตอนนี้เลิกแล้ว รู้สึกแข็งแรงขึ้น แม้จะห่างเหินเพื่อนฝูง แต่ก็ได้ใกล้ชิดเรียนรู้จากผู้ใหญ่และคนแก่มากขึ้น” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ เนาวรัตน์(เล็ก) ชุมยวง www.thainhf.org 02 511-5855 ต่อ 116

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ